ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญ ปรากฎการณ์สมองไหล (Brain drain แรงงานทักษะสูงระดับมันสมองของประเทศ อพยพย้ายไปทำงานประเทศอื่นๆ ที่ได้รับโอกาสที่ดีกว่าประเทศต้นทาง ทั้งเรื่องของการงาน รายได้ และสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงๆ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน สมองไหลไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลกระทบเชิงลบของภาวะสมองไหล รายงานสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจการแรงงานระหว่างประเทศ ไตรมาสที่ 3/2566 เอาไว้ว่า
ประการแรก การขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศของกลุ่มแรงงานทักษะสูง คือ ประเทศต้นทางเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่เป็นทุนมนุษย์สำคัญ โดยเฉพาะในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ที่ถือว่าเป็นกุญแจของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า อีกทั้ง แรงงานทักษะต่ำมีสัดส่วนในกำลังแรงงานมากขึ้น ผลิตภาพลดลง ประกอบกับผลพวงจากกระแสโลกาภิวัฒน์ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและปัญหาสังคมผู้สูงอายุก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มดังกล่าวทวีความรุนแรงงานมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง การสูญเสียรายได้จากภาษี ปัญหาภาวะสมองไหลนอกจากจะทำให้ประเทศต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานระดับมันสมองที่เป็นทุนมนุษย์สำคัญแล้ว ในขณะเดียวกันแรงงานดังกล่าวก็ยังเป็นกลุ่ม ที่แบกรับภาระหลักในการเสียภาษีแก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีทางอ้อมจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร อีกทั้ง ยังกระทบค่าใช้จ่ายต่อ GDP ในด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้น เป็นผลจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศมากขึ้น แต่ประชาชนวัยหนุ่มสาวกลับน้อยลง รายได้ภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเติบโตไม่ทันรายจ่าย ทำให้รัฐบาลในบางประเทศจึงตัดสินใจเพิ่มภาษี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ในตลาดแรงงานให้เลวร้ายลง
ล่าสุด รัฐบาลออก มาตรการดึงแรงงานไทยระดับหัวกะทิกลับมาทำงานในประเทศ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้เดินทางกลับไทย โดยอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวขาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 แบ่งเป็น
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งเมื่อผู้มีเงินได้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยเป็นการจ่ายเงินเดือนระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าร่วมมาตรการ กรณีผู้มีเงินได้ (ลูกจ้าง) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี เอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ หรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นต้น
โดยต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้น
ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรกำหนด
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบไปด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 4.อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์ 6.อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 10.อุตสาหกรรมดิจิทัล 11.อุตสาหกรรมการแพทย์ 12.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 13.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Gircular Economy) โดยตรง และมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น 14.ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (Interational Business Center-IBC)
และ 15.อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยชาวต่างชาติซึ่งขอรับการรับรองคุณสมบัติฯ ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรม Biotechnology, Nanotechnology, Digital Technology, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในการประกอบธุรกิจ, การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แรงงานศักยภาพสูงมีในการแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน การดึงดูดแรงงานระดับหัวกะทิกลับไทยนับเป็นโจทย์ท้าท้ายของรัฐ