ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
นางในของจักรพรรดิจีนมีน้อยคนที่จะมีชื่อเสียง บางองค์ก็มีชื่อเสียงนี้ในทางดี บางองค์ก็มีชื่อเสียงในทางร้าย แต่กล่าวเฉพาะในยุคราชวงศ์หมิงและชิงอันเป็นยุคที่ต่างก็มีชีวิตอยู่ในวังต้องห้ามแล้ว นางในที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น ซูสีไทเฮา ซึ่งงานเขียนชุดนี้ได้เคยกล่าวถึงพระนางไปบ้างแล้ว โดยที่กล่าวไปนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับวังที่พระนางเข้าไปมีบทบาท ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือการใช้ชีวิตก็ตาม
คราวนี้จะกล่าวถึงอีกในบางแง่มุมที่เป็นช่วงบั้นปลายชีวิตของพระนางในฐานะนางในผู้ทรงอิทธิพล
กล่าวกันว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตของซูสีไทเฮานั้น ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดพระนางจึงได้แสดงออกซึ่งความโลภโมโทสันจนเห็นได้ชัด คือจะด้วยวัยที่สูงขึ้นหรือด้วยเหลิงในอำนาจที่อยากได้ใคร่มีอะไรก็ต้องได้
เริ่มจากเรื่องอาหารการกินที่ช่วงบั้นปลายชีวิตของพระนางนั้น ทางราชสำนักจักต้องจัดงบประมาณให้เฉพาะพระนางเพียงผู้เดียวถึง 200,000 เหรียญเงินต่อเดือน แต่แทนที่จะใช้เงินก้อนนี้ไปกับอาหารการกินก็กลับนำไปใช้สร้างห้องเก็บสมบัติส่วนตัว ห้องเก็บสมบัตินี้มีอยู่เก้าห้อง และตั้งอยู่ใกล้ตำหนักของพระนาง เพื่อให้สะดวกต่อการมาพินิจพิศดูสมบัติของตน
เล่ากันว่า ซูสีไทเฮาทรงมาเยือนห้องเก็บสมบัติของตนแทบจะวันละครั้ง เพื่อมาพินิจพิศดูสิ่งอันมีค่าจำพวกเครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องเพชรนิลจินดา และสิ่งมีค่าอื่นๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าสมบัติเหล่านี้มีอยู่มากน้อยเพียงใด แต่การที่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ถึงเก้าห้องก็ย่อมไม่นับว่าน้อย ทั้งยังกล่าวได้ว่ามหาศาลด้วยซ้ำไป
แต่แล้วในระหว่าง ค.ศ.1899 ถึง 1901 ได้เกิดกบฏนักมวย (อี้เหอถวน, Boxer Rebellion) ขึ้นทางภาคเหนือของจีน กบฏกลุ่มนี้หมายมุ่งที่จะขับไล่ชาวต่างชาติออกไปจากจีน และได้เข่นฆ่าชาวตะวันตกในจีนไปมากมาย ครั้นตะวันตกตั้งตัวได้ก็รวมตัวกันได้แปดชาติเพื่อตอบโต้กบฏ แปดชาตินี้คือ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี และญี่ปุ่น (เป็นชาติเดียวที่ไม่ได้เป็นตะวันตก) เมื่อรวมกันได้แล้วกองกำลังแปดชาติก็ทำการสู้รบกับกบฏ กองกำลังนี้อาศัยอาวุธที่ทันสมัยกว่าทำการไล่ต้อนและเข่นฆ่ากบฏ โดยไม่เว้นแม้แต่พลเรือนผู้บริสุทธิ์
ตราบจนกองกำลังแปดชาติได้บุกเข้ามาถึงปักกิ่งใน ค.ศ.1900 และได้ยึดวังต้องห้ามเอาไว้ด้วย ตอนที่ยึดวังต้องห้ามนี้เอง กองกำลังแปดชาติได้ทำการปล้นสะดมวังนี้ไปด้วย และคลังสมบัติของซูสีไทเฮาก็ถูกปล้นไปด้วย
ครั้นเหตุการณ์สงบลง จักรพรรดิและวงศานุวงศ์ที่หนีตายไปต่างเมืองก็กลับมายังวังต้องห้าม ครั้นมาถึงซูสีไทเฮาก็ทรงพบว่าคลังสมบัติของตนถูกปล้นไป ก็ทรงไม่พอใจอย่างมาก แต่แทนที่พระนางจะปล่อยวางก็กลับทรงให้หาทางมาเติมเต็มคลังสมบัติอีกครั้ง
จากเหตุนี้ พระนางได้อาศัยโอกาสที่พระชนมายุเข้าสู่ 65 ชันษา ด้วยการมีคำสั่งในนามรัฐบาลกลางให้ทำการตรวจสอบทรัพย์สินของมณฑลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หลังจากที่คำสั่งนี้ไปถึงมณฑลเหล่านั้นแล้วก็เป็นอันรู้กันดีว่า เบื้องหลังการตรวจสอบนี้คืออะไร
แท้จริงแล้วก็คือ การถามหา “ของขวัญ” เพื่อถวายแก่ซูสีไทเฮาเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระนางนั้นเอง
ดังนั้น อุปราชมณฑลเจียงซู อันฮุย และเจียงซีได้ถวายเครื่องทองหลากรูปแบบ 60 ชั่ง สร้อยลูกปัดหายาก 108 เส้น เฉพาะอันฮุยแล้วยังได้ถวายเงินอีก 100,000 เหรียญ เจียงซีถวายอีก 1,000 เหรียญทองอังกฤษ (British golden guineas) และหัวหน้ากรมศุลกากรเซี่ยงไฮ้ถวายรองเท้าหนึ่งคู่ อันเป็นรองเท้าที่ฝังเพชร ทับทิม มรกต และเพชรนิลจินดาอื่นๆ ประกอบกัน
แต่ของขวัญที่แพงที่สุดคือ ของขวัญที่ถวายโดยหยวนซื่อไข่ (ค.ศ.1859-1916) ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในขณะนั้น และดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลจื๋อลี่ (ปัจจุบันคือพื้นที่ปักกิ่ง เทียนจิน บางส่วนของมณฑลเหอเป่ย เหลียวหนิง และมองโกเลียในรวมกัน) โดยขุนศึกผู้นี้ถวายทอง 3,000 เหรียญ
หากไม่นับเงินและทองแล้ว ของขวัญที่ซูสีไทเฮาทรงได้รับทุกปีก็คือ ผ้าไหมและผ้าต่วนคุณภาพสูง 96 พับ ผ้าฝ้ายสำหรับทอเป็นเสื้อคลุม 50 พับ และเสื้อขนสัตว์หลากชนิด 124 ตัว โดยการถวายของสำนักพระราชวัง และด้วยเหตุที่ของขวัญจำพวกเงิน ทอง และเครื่องเคลือบดินเผามีเพิ่มมาทุกปี ซูสีไทเฮาจึงทรงให้เปลี่ยนเครื่องใช้คือ เชิงเทียน กาน้ำชา ถ้วยน้ำชา และช้อนที่ทำด้วยทอง 36 ชิ้น และที่ทำด้วยเงิน 135 ชิ้น และเครื่องเคลือบดินเผาอีก 1,020 ชิ้นทุกปี
ส่วนอาหารที่เคยกล่าวไปแล้วว่ามีนับร้อยรายการต่อวันนั้น ซูสีไทเฮาก็ยังให้จัดดอกไม้ที่ทำด้วยทองวางประดับบนโต๊ะเสวยก่อนที่พระนางจะเสด็จมาถึงอีกด้วย และเมื่อมาถึงแล้วขันทีนับสิบคนต่างก็ทยอยยกอาหารมาเป็นลำดับ อาหารทุกรายการจะถูกยกเข้ามาใกล้พระนางเพื่อทรงพินิจ แต่พระนางจะเลือกเพียงไม่กี่รายการมาเสวย ที่เหลือนอกนั้นจะถูกวางไว้บนโต๊ะเสวยเพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะของพระนาง
จะมีก็แต่ในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้นที่ห้องเสวยของซูสีไทเฮาจะมีบุคคลอื่นมาร่วมด้วย
บุคคลเหล่านี้ก็คือ ขันทีที่รับใช้ซูสีไทเฮาซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ สี่นักรบผู้พิทักษ์ (four guardian warriors) อีกกลุ่มหนึ่งคือ ห้าร้อยอรหันต์ (500 arhats) กลุ่มแรกเป็นขันทีอาวุโสที่เกษียณแล้วสี่คน แต่ได้ชื่อว่าเป็นขันทีที่ถวายงานได้เป็นที่ถูกพระทัย ส่วนกลุ่มที่สองเป็นขันที 500 คนที่แต่งกายเต็มยศเข้ามาถวายเครื่องต้นโดยเฉพาะ กลุ่มนี้มีทั้งที่สูงวัยและอ่อนวัย แต่ทุกคนจะเดินเข้ามาด้วยอาการสงบแต่ก็คล่องแคล้วโดยฝ่ามือข้างหนึ่งยกถาดอาหารมาถวาย
เมื่อซูสีไทเฮาประทับที่โต๊ะเสวยแล้ว สี่นักรบผู้พิทักษ์ก็จะเข้ามาถวายบังคมเป็นการต้อนรับ จากนั้นห้าร้อยอรหันต์ก็จะเปล่งคำประกาศว่า “เราประสงค์ให้หัวหน้าของเราผู้เป็นพุทธาวุโสเป็นผู้ถวายพระพรแด่พระนางซูสีไทเฮาด้วยคำว่า ขอให้พุทธาวุโสซูสีทรงพระเจริญ” จากนั้นบรรยากาศในห้องก็เต็มไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวาพร้อมกับเสียงประทัดที่ดังมาจากนอกห้อง
อนึ่ง หัวหน้าที่ขันทีกล่าวถึงนั้นคือ หลี่เหลียนอิง หัวหน้าขันทีที่ทรงอิทธิพลในวังต้องห้าม และเป็นคนโปรดของซูสีไทเฮา ส่วนคำว่า พุทธาวุโส ก็คือคำเรียกที่ซูสีไทเฮาและหลี่เหลียนอิงยกตนเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ หรือผู้บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า
ส่วนเครื่องต้นที่นำมาถวายนั้นจะแบ่งเป็นสามชุด ชุดแรกเป็นเครื่องต้นที่มีชื่อเป็นมงคล ชุดที่สองเป็นเครื่องต้นเลิศรสที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ดีที่สุดที่ส่งมาจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศจีน ชุดสุดท้ายเป็นเครื่องต้นตามปกติที่ปรุงโดยวิเสทประจำห้องเครื่องต้น เพียงแต่เครื่องต้นที่ปรุงในช่วงเทศกาลนี้จะพิเศษกว่าที่ปรุงในยามปกติเท่านั้น
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของซูสีไทเฮาจากที่กล่าวมาโดยตลอดนั้น แม้ในชั้นหลังจะมีงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่คอยปกป้องพระนางว่ามิได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ก็ยากจะหักล้างความเชื่อของชาวจีนไปได้ เพราะผู้ที่ให้ข้อมูลเชิงลบของพระนางก็คือ อดีตขันที นางใน และข้าราชบริพารหญิงที่เคยอยู่ในวัง บุคคลเหล่านี้ต่างก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีทางประวัติศาสตร์ที่ในทางวิชาการเรียกว่า ประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) แต่ก็พึงกลั่นกรองข้อมูลเหล่านี้โดยเทียบกับหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วยความรอบคอบ