ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สรุปตัวเลข “ซื้อ-ขาย-ผลิต-ส่งออก” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศออกมาทีไร เชื่อว่า ผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องคงต้องถอนหายใจไปตามๆ กัน ยิ่งบรรดา “ลูกจ้าง” ด้วยแล้ว ยิ่งใจตุ๊มๆ ต่อมๆ” ด้วยไม่รู้ว่า จะถูก “เลิกจ้าง” เมื่อไหร่
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้เปิดเผยยอดผลิตรถยนต์ไทยเดือนมิถุนายน 2567 ว่า มีจำนวน 116,289 คัน ลดลง 20.11% จากปีก่อน และลดลง 7.82% จากเดือนพฤษภาคม โดยปัจจัยหลักมาจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลงมากถึง 43.08% จะใช้คำว่า “ดำดิ่ง” ลงไปเรื่อยๆ ก็คงไม่เกินจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
ที่สำคัญคือ เมื่อพิเคราะห์เฉพาะตัวเลขการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ยิ่งสะท้อนภาพความจริงที่ชัดเจนว่า “ดำดิ่ง” อย่างที่ว่าไว้อย่างไร
กล่าวคือเดือนมิถุนายน 2567 ผลิตได้ 34,522 คัน เท่ากับ 29.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 43.08% จากเดือนมิถุนายน 2566 และเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 ผลิตได้ 245,047 คัน เท่ากับ 32.19% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 37.30% จากเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566
สำหรับ “รถยนต์นั่ง” ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 19,406 คัน ลดลง 28.74% และตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 ผลิตได้ทั้งสิ้น 131,715 คัน เท่ากับ 46.51% ของยอดผลิตรถยนต์นั่ง ซึ่งลดลง 24.30 % ขณะที่ “รถกระบะขนาด 1 ตัน” ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 14,277 คัน ลดลง 52.25% และตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 ผลิตได้ทั้งสิ้น 102,063 คัน เท่ากับ 21.87% ของยอดผลิตรถกระบะ ลดลง 40.04 %
นอกจากนั้น เมื่อดูตัวเลข “ครึ่งปีแรก” ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย “ศุภกร รัตนวราหะ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.2567) ที่ผ่านมาพบว่ายอดขายสะสมที่ 308,027 คัน ลดลง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 119,326 คัน ลดลง 19.4% รถรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 188,701 คัน ลดลง 26.9% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขายสะสม 108,437 คัน ลดลง 40.7%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าตลาดรถยนต์ xEV มียอดขายที่ 108,720 คัน คิดเป็นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อรถรถยนต์ไฮบริด (HEV )โต 68.7% มียอดขาย 67,346 คัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อยู่ที่ 36,593 คัน โต 9.4 %
ศุภกรยังได้คาดการณ์ตลาดรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ว่ามีแนวโน้มทรงตัว หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ต้องจับตามองก็คือ การที่ “คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)” ที่มี “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบไฮบริด (HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในและระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาว ผ่านการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ
1.การลดการปล่อยคาร์บอน 2.การลงทุน 3.การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และ 4.การติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก”
มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิ ดังนี้
1.ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 6% การปล่อย CO2 101-120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 9% ซึ่งปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 8% สำหรับรถที่ปล่อยคาร์บอน เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 g/km หากถ้าปล่อย 101-120 g/km จะเก็บอยู่ที่ 16%
2.ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567-2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
3.ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electrical Circuit Breaker, DC/DC Converter, High Voltage Harness, Battery Cooling System, Regenerative Braking System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน
กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง
กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น
4.ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System : ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดอีวีได้มอบหมายให้บีโอไอ ร่วมกับกระทรวงการคลัง นำมาตรการนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศต่อไป
“รถยนต์ HEV เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มรถยนต์ HEV จึงได้ออกมาตรการนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 ราย สร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องในช่วง 4 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรระดับโลกด้วย”นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการบอร์ดอีวีกล่าว
ด้าน “นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ามาตรการนี้อาจจะทำให้สูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิต 5,000 – 10,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ HEV ของภูมิภาค และมีโอกาสเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการนี้จะทำให้มีการผลิตรถ HEV ในไทยมากขึ้นด้วย
และแน่นอนว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ บรรดา “ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น” ที่กำลังปลุกปั้นรถยนต์กลุ่มไฮบริด หรือ HEV ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับ “EV” ที่ดาหน้ากันเข้ามายังประเทศไทยและพร้อมใจกันใช้ “สงครามราคา” เป็น “ใบเบิกทาง” จนสร้างความปั่นป่วนเป็นอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น “โตโยต้า” ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกมียอดขายที่116,278 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง37.7% แบ่งเป็น รถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up + รถกระบะดัดแปลง PPV) มียอดขายรวมอยู่ที่49,689 คัน มีส่วนแบ่ง 45.8% ส่วนรถยนต์นั่งอยู่ที่ 33,264 คัน มีส่วนแบ่ง 27.9% ขณะที่รถยนต์ไฮบริดมียอดขายถึง 30,714 คัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 28.3% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มตลาด xEV ทั้งหมด
ที่สำคัญคือ โตโยต้าเองก็ยังสามารถยึดครองตลาดนี้ไว้ได้อย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีค่ายรถที่ขอส่งเสริมการลงทุนในไทยที่มีแผนจะลงทุนรถไฮบริด 7 ค่ายเป็นญี่ปุ่น 4 ค่าย ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ และจีน 3 ค่ายได้แก่ เกรทวอลล์มอเตอร์ MG และเชอรี่
ดังนั้น มาตรการดังกล่าวของบอร์ดอีวีน่าจะทำให้ “ค่ายญี่ปุ่น” ที่กำลังปลุกปั้นรถยนต์ไฮบริดเพื่อชนกับอีวีจากจีนสามารถต่อกรได้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้า(BEV) ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในกระเป๋า ซึ่งในชั่วโมงนี้ “รถยนต์ไฮบริด” คือทางเลือกที่ดีที่สุด และคนไทยก็ยังมีมีความศรัทธาต่อ “แบรนด์ญี่ปุ่น” ค่อนข้างสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว