xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หมอเกศ” และคณะ สว.ทรงเซราะกราว!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รายงานตัวครบทั้ง 200 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ นัดหมายประชุมครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ค.67 ที่เป็นคิวสำคัญ วาระเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานฯ 2 คน

เมื่อได้ประธาน และ 2 รองประธานแล้ว ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ก็จะส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อส่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สว.ชุดใหม่” ก็จะสามารถเริ่มประชุม และทำหน้าที่ได้เต็มรูปแบบ คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นช่วงสิ้นเดือน ก.ค.67 นี้ ซึ่งขั้นตอนการเข้าสู่ตำแหน่งของ สว.ชุดนี้ ก็เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มา-ที่ไป รวมถึงคุณสมบัติของ “ท่านผู้ทรงเกียรติ” แต่ละคน ที่ทำเอาสังคมถึงกับร้อง “อิหยังวะ” กันเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นอาชีพลูกจ้างรถสิบล้อ-รถแบคโฮ, รับจ้างวิ่งน้ำ, ช่างเสริมสวย, ขายหมู, ขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ,
ขายคอมพิวเตอร์ ที่มาในผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร, นักฟุตบอลอาวุโส ที่กรอกประวัติเพียงบรรทัดเดียว, ค้าขายจบการศึกษาระดับ ป.7 หรือที่ได้รับสนใจเป็นพิเศษคือ อาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน และพยาบาล เป็นวิทยาเป็นพิธีกรงานแต่ง ที่เข้ามาในกลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น
แต่ไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะกระหึ่มเพียงใด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตัดสินใจรับรองรายชื่อ 200 สว. และ 99 รายชื่อสำรอง จะตกหล่นไปก็เพียง 1 รายที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ คอดียะฮ์ ทรงงาม จาก จ.อ่างทอง ผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน
เหตุที่ถูกตีตกไปเพราะถูกตรวจพบว่า ยังเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง อยู่ จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว และเลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ อดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาเป็น สว.แทน
อย่างไรก็ดี รายที่ถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก และนับวันยิ่งเจอขุดคุ้ย จนกลายเป็น “ดรามา” ในวงกว้าง หนีไม่พ้น เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” สว.เจ้าของโปรไฟล์สุดหรู จากกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ถูกจับตามองตั้งแต่ผลการเลือก สว.ออกมา เพราะเธอได้คะแนนมาเป็นที่ 1 ของประเทศ
โดย “เกศกมล” กรอกประวัติในเอกสารแนะนำตัวแบบเต็มยศว่าเป็น “ศาสตราจารย์ ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย” เป็นนักธุรกิจหญิงและซีอีโอ หลายกิจการ รวมทั้งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและสุขภาพจิตชุมชน พร้อมประสบการณ์ทำงานอีกยาวเหยียด
ทว่า เธอก็ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาเอก จาก “California University FCE” หรือมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของไทย โดยมีการเปิดเผยว่า California University FCE เป็นเพียงสถาบันประเมินวุฒิและออกวุฒิบัตรเทียบเท่า เท่านั้น ที่แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา ก็ไม่เคยรับรองว่า เป็นมหาวิทยาลัย
รวมไปถึงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ที่มีคำถามว่า “เกศกมล” ไปได้มาจากที่ใด เพราะในประเทศไทยเป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
จนมีรายการ “จับโป๊ะ” เธอออกมาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมแอบอ้างสถาบันการศึกษาต่างๆในประเทศไทย ที่หลสยสถาบันก็ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง, สภาพที่ตั้ง California University FCE ที่ไม่ต่างจากห้องแถว ไร้ความน่าเชื่อถือ พร้อมกับมีการเปิดเผยถึงค่าธรรมเนียมในการขอปริญญาเอกจากที่นี่ จนถูกตั้งคำถามว่า อาจซื้อปริญญาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวหรือไม่
ทั้งนี้ “เกศกมล“ เองก็ออกมาเปิดหน้าชี้แจง โดยยืนยันว่าวุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริงไม่มีการซื้อปริญญา มหาวิทยาลัยที่จบก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว แต่เหมือนเป็นการลากน้ำมันใส่ “ดรามา” ทำให้ถูกขุดคุ้ยหนักขึ้น กระทั่งมีการนำนำเลขรหัสในใบปริญญาเอกของ ”เกศกมล“ ไปตรวจสอบกับระบบตรวจสอบสถานที่ศึกษาของสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าขึ้นสถานะของโรงเรียนอนุบาล
กระทั่งมีรายงานว่า สำนักงาน กกต.ได้รับคำร้อง และตั้งเรื่องสอบปัญหาวุฒิการศึกษาของ “เกศกมล” แล้ว ตามข้อกล่าวหาว่า ข้อมูลประวัติการศึกษาในใบเอกสารแนะนำตัวสมาชิกวุฒิสภา (สว.3) เข้าข่ายเป็นการกระทำหลอกลวง จูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณเพื่อให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ตนตามมาตรา 77(4) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หรือไม่
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สังคมสงสัยเป็นยิ่งนักก็คือ เธอเป็นใครมาจากไหน มี “ซูเปอร์คอนเนกชัน” กับเครือข่ายทางการเมืองหรือไม่ เพราะมองทางไหนก็ไม่เห็นเลยว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เธอมีคะแนนสูงสุด ด้วยจะว่าไป ก่อนหน้านี้ เธอก็มิได้มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแต่ประการใด

ยิ่งเมื่อตรวจสอบรายชื่อ สว.ที่ผ่านการรับรองจาก กกต.ก็เห็นได้ว่า สว.ส่วนใหญ่ถูกจับเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะทาง “ค่ายเซราะกราว” ที่ว่ากันว่ามีถึง 120-130 คน จากที่มาของ สว. 20 กลุ่ม มีตัวแทนจากจังหวัด “บุรีรัมย์, สุรินทร์, อุทัยธานี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, พิจิตร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, สตูล, บึงกาฬ” ที่ล้วนแล้วแต่เป็นฐานเสียงของ “พรรคสีน้ำเงิน” ภายใต้การดูแลของ “ครูใหญ่เน” แกนนำคนสำคัญ

ชัดเจนที่สุดคงเป็น “เมืองหลวงเซาะกราว” จ.บุรีรัมย์ ที่มี สว.มากที่สุดถึง 14 คนจาก 11 สาขาอาชีพ ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไป เช่น พระนครศรีอยุธยา-สุรินทร์ จังหวัดละ 7 คน, สงขลา-สตูล-อ่างทอง-ศรีสะเกษ-อำนาจเจริญ-อุทัยธานี จังหวัดละ 6 คน เป็นต้น

ไม่เท่านั้น ว่ากันว่า หลังสำนักงาน กกต.รับรอง สว. ยังสามารถรวบรวมมาเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ได้ใกล้เคียง 150 เสียงแล้ว

และว่ากันว่า “แพทย์หญิงคนดัง” ก็สามารถสืบเสาะเลาะเลี้ยวไปเชื่อมโยงกับ “สายสีน้ำเงิน” ด้วยเช่นกัน จากทั้งกลุ่มที่เธอสมัคร คะแนนที่เธอได้รับที่ “โบ๊บ๊ะ” อย่างผิดสังเกต ด้วยจาก 79 คะแนนที่เธอได้รับสูงสุดของประเทศ ก็คงเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้รับแรงหนุนจาก “สายสีน้ำเงิน” ที่ถือแต้มไว้มากกว่า 100 เสียงในวันเลือก สว.ระดับประเทศ

ทั้งนี้ มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่น่าจะยืนยันได้ว่า คนที่เธอเลี้ยวไปเชื่อมโยงนั้น ไม่ใครอื่น หากแต่คือ “น้องชายของพี่ใหญ่แห่งค่ายเซาะกราว” นั้นเอง

สุดท้าย สำหรับการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานฯ 2 คน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค.67 นี้ ก็คงไม่เกินเลยหากจะบอกว่า กดปุ่มมาจาก “บ้านใหญ่บุรีรัมย์”

แม้ว่า จะมี สว.กลุ่มอื่น ประกาศขอท้าชน “สว.สายสีน้ำเงิน” ในการชิง 3 เก้าอี้บนบัลลังค์สภาสูง ก็ตาม แต่คะเนคงสู้ “สว.เซราะกราว” ที่กุมความได้เปรียบไว้ทุกประตูลำบาก

น่าสนใจอีกว่า ในขณะที่ สว.ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มพันธุ์ใหม่-อิสระ” ที่ว่ากันว่ามีอยู่ 30 คน ซึ่งนำโดย นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มสื่อสารมวลชน ออกหน้าแสดงตัว และอาจได้เสียงจาก “สว.สีส้ม” ในเครือข่ายพรรคก้าวไกล ที่มีราว 10 เสียงมาสนับสนุน

แต่ “สว.เซราะกราว” กลับสงบอยู่ในที่ตั้ง ไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ผิดวิสัยช่วงเวลาก่อนการเลือกตำแหน่งสำคัญพอสมควร
ก็คงเป็นลีลา “จอมยุทธ์เน” ที่มองว่า ไม่ตำเป็นต้องออกตัวให้เป็นเป้าสายตาแต่อย่างใด เพราะจะกดปุ่มให้ใครนั่ง 3 เก้าอี้บนบัลลังก์สภาสูงก็คงไม่พลาด

คำว่า วุฒิสภา หรือสภาสูง ในภาษาอังกฤษคือ SENATE ที่อ่านว่า “เซ-เนท” เมื่อหากลองผวนคำแบบไทยๆ ก็ได้เป็น “เสร็จ-เน” ที่โป๊ะเชะกับสภาพ ”สว.เซราะกราว” ชุดนี้พอดิบพอดี.


กำลังโหลดความคิดเห็น