xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชอปปิง “งานวิจัย – วุฒิปริญญา” ไทยนิยม...เรียนยิ่งสูงยิ่งดี!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กำลังตกเป็นเป้าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับ  “น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย” หรือ “หมอเกศ”  สว.กลุ่ม19 (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ผู้ได้คะแนนเลือก สว. ระดับประเทศสูงสุด 79 คะแนน เพราะด้วยโปรไฟล์โดดเด่นดีกรีจบนอก พ่วงตำแหน่งวิชาการยาวเหยียดนำหน้าชื่อ  “ศ.ดร.พญ.เกศกมล”  จนถูก  “จับโป๊ะ”  จบมหาวิทยาลัยห้องแถว

นำสู่คำร้องให้ กกต. ตรวจสอบประวัติการศึกษา ที่ระบุเป็น  “ศาสตราจารย์”  จบปริญญาเอกจาก  California University  ในใบเอกสารแนะนำตัวสมาชิกวุฒิสภา (สว.3) ทั้งนี้ เข้าข่ายเป็นการกระทำหลอกลวง จูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณเพื่อให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ตนตามมาตรา77(4) พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561หรือไม่ เป็นสำนวนเพื่อดำเนินการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด 2566 โดยเลขาธิการฯ กกต. มีคำสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อวันที่ 1 ก.ค 2567

ในแวดวงวิชาการด้านการศึกษา กรณีซื้อขาย “งานวิจัย” และ “วุฒิปริญญา” เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน มีข้อมูลเปิดเผยว่ากระบวนการซื้อใบปริญญา เริ่มมาจากในประเทศยุโรปราวๆ 20 ปีก่อน โดยเฉพาะใบปริญญาของมหาลัยในสหรัฐฯ ที่สามารถการันตีเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำได้ นำมาสู่ช่องโหว่ของการซื้อขายวุฒิในสถาบันต่างๆ

สำหรับการซื้อขายวุฒิปริญญาในต่างประเทศ มีเสนอขายแบบแพ็กเกจให้เลือก เช่น จ่าย 3,000 เหรียญสหรัฐฯ” รับใบปริญญา ทรานสคริปต์ รายละเอียดวิชาเรียน, จ่าย 3,500 เหรียญสหรัฐฯ รับใบปริญญาตรี ทรานสคริปต์ และชุดครุยกลับบ้าน เป็นต้น ขณะที่การซื้อขายวุฒิปริญญาในประเทศไทย มีการลอบขายกันอย่างโจ๋งครึ้ม ตั้งแต่วุฒิระบบมัธยมฯ ปวช. ปวส. ป.ตรี ป.โท และป.เอก โดบพบว่าเครือข่ายทำวุฒิการศึกษาปลอมขายออนไลน์ มีการศึกษาใบวุฒิแต่ละสถาบันอย่างละเอียดแยกยากว่าเป็นของจริงหรือปลอม แต่หากมีการตรวจสอบจะไม่พบชื่อบุคคลนั้นๆ อยู่ในระบบ

โดยก่อนหน้านี้ เกิดกระแสข่าวการ “ซื้อขายปริญญา” จากมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองไทย จากกรณีประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวหาประธานมูลนิธิแห่งหนึ่ง หลอกเรียกเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อไปซื้อปริญญาจากมหาวิทยาลัยเอกชน

ทั้งนี้  น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าวเคยถูกควบคุมโดย กระทรวง อว. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ถึง 4 มิถุนายน 2567 เนื่องจากปัญหาการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด และเพิ่งจะมีการยกเลิกการควบคุมเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาที่อยู่ในการควบคุม มั่นใจได้ว่าไม่มีการออกวุฒิปริญญาบัตรที่ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะกระทรวง อว. ควบคุมอย่างเข้มงวด นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีที่เป็นข่าวว่าเสียเงินซื้อ แต่ไม่ได้ปริญญาตามที่ตกลง

ขั้นตอนถัดไป กระทรวง อว. จะทำการสอบข้อเท็จจริงย้อนหลังไปก่อนการควบคุม ว่าได้มีการดำเนินการซื้อขายวุฒิปริญญาบัตรตามที่เป็นข่าวหรือไม่ หากพบว่าผิดจริง จะใช้มาตรการเด็ดขาดตามกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้อำนาจกระทรวง อว. เข้าไปควบคุม ดำเนินคดี จนถึงการยกเลิกใบอนุญาตในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้ โดยในอดีตมีการยกเลิกใบอนุญาตสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาแล้ว

และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก กระทรวง อว.จะใช้มาตรการอย่างเข้มข้นจากประกาศกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ.2566” โดยในหมวด 3 ได้ระบุให้มหาวิทยาลัยจัดส่งข้อมูลของผู้เรียน เช่น รายชื่อนักศึกษา เลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาหรือผู้ได้รับปริญญาบัตรมาให้กระทรวง อว. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่มีชื่อสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาบัตรมาอย่างถูกต้องหรือไม่

ขณะเดียวกันมีการตรวจสอบการ  “ซื้อขายงานวิจัย” มีข้อมูลเผยสั่งซื้อง่ายๆ เหมือนสินค้าออนไลน์ทั่วไป หยิบลงตระกร้าแล้วจ่ายเงิน เกิดกระแสข่าวตั้งปี 2566 นักวิชาการไทยจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ส่งผลให้ทาง อว. มีหนังสือสั่งการถึงอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการตรวจผลงานวิจัยของอาจารย์ นักวิจัยในสังกัดของตน หากพบมีพฤติการณ์ที่ผิดปกติ หรือเข้าข่ายมีการซื้อขายให้ดำเนินการลงโทษโดยทันที และรายงานให้ อว. รับทราบ

โดยมีการตรวจพบเว็บไซต์ตลาดกลางในการซื้อขายงานวิจัย ชื่อว่า Science Publisher Company ซึ่งระบุนิยาม Publication Support Services for Academic, Scientific Manuscripts and Papers เป็นบริษัทที่ให้บริการสนับสนุนตีพิมพ์ทางวิชาการ ต้นฉบับทางวิทยาศาสตร์ และเอกสาร นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแห่งที่กระทำลักษณะเดียวกัน

ความคืบหน้าล่าสุด  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล  รองปลัดกระทรวง อว.เปิดเผยว่านับตั้งแต่มีข่าวการซื้อขายงานวิจัยเมื่อต้นปี 2566 ตรวจสอบข้อมูลพบว่า นักวิจัย 109 ราย จาก 33 สถาบัน เข้าข่ายผลงานวิจัยผิดปกติ จึงส่งข้อมูลให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบเกือบครบถ้วนแล้ว และมี 14 รายที่พบความผิดปกติจริง และบางรายได้มีการตั้งกรรมการลงโทษทางวินัย เป็นผลให้ ปัจจุบัน มีการไล่ออกแล้ว 6 ราย ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย ม.เชียงใหม่ 2 ราย และล่าสุด ม.ขอนแก่น 3 ราย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในวงการวิชาการ การซื้อผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ของตนเอง เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในแวดวงวิชาการ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มีมาตการตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด ปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ยังมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากมีความผิดปกติก็จะแจ้งมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการต่อไป” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านี้  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างน่าสนใจ ระบุความว่า

“ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้นๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลางๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผีๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย”

 คงต้องติดตามกันว่ามาตรการอย่างเข้มข้นที่ทาง กระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมากำกับดูแล จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์อื้อฉาวในแวดวงวิชาการได้เพียงใด 


กำลังโหลดความคิดเห็น