xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เชือด “สมโภชน์-EA” สะเทือนแบงก์เจ้าหนี้-หุ้นกู้ โยงใยสายสัมพันธ์ “เครือข่ายบิ๊กบราเธอร์ส” คลี่ปมคำถามชวนระทึก “ก.ล.ต.ดองคดี” จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า หุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จะพังพินาศราวกับปราสาททรายถูกคลื่นซัด กระทั่งราคาต่ำกว่า IPO 5.5 บาท เมื่อปี 2556 หรือ 11 ปีที่แล้ว หลัง ก.ล.ต.กล่าวโทษ “สมโภชน์ อาหุนัย” มหาเศรษฐีแสนล้าน อันดับ 9 ของเมืองไทยและพวก ว่ากระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ มีคำถามมากมายว่า ทำไม ก.ล.ต.ถึงเพิ่งดำเนินการทั้งๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 จนมีการโยงใยไปถึงความสัมพันธ์กับเครือข่ายบิ๊กบราเธอร์สที่มีอิทธิพลทางการเมืองกันเลยทีเดียว 

นับเป็นอีกข่าวใหญ่แห่งปี หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้เวลาติดตามตรวจสอบการทุจริตของผู้บริหาร EA มายาวนานเกือบสิบปี กระทั่งวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ สมโภชน์ อาหุนัย และ อมร ทรัพย์ทวีกุล  กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 คือ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และ บริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด รวมทั้ง  พรเลิศ เตชะรัตโนภาส  กรณีร่วมกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย

ตามหลักฐานของ ก.ล.ต. ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐาน ในช่วงปี 2556-2558 ว่า บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันกระทำการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์จำนวน 3,465.64 ล้านบาท

การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิด ตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 312 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้งสาม ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพยฯ ต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ปปง.

โทษที่จะได้รับกรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5 – 10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน

การกล่าวโทษทางอาญาของ ก.ล.ต. ส่งผลให้ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ EA และ อมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ EA ต้องพ้นจากตำแหน่งใน EA ทันที ปิดฉากชีวิต สมโภชน์ ที่รุ่งโรจน์ประมาณ 30 ปี ในตลาดหุ้น

คดีทุจริต EA นับเป็นคดีใหญ่ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นมหาเศรษฐีแสนล้านติดอันดับท็อปเท็นของไทย โดยนิตยสาร ฟอร์บส์ จัดอันดับ สมโภชน์ เป็น มหาเศรษฐีอันดับ 6 ของไทย ในปี 2565 มีทรัพย์สิน 3,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 137,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 สมโภชน์ ร่วงสู่อันดับ 9 มีทรัพย์สินรวม 104,000 ล้านบาท

การกล่าวโทษ สมโภชน์และพวก เป็นข่าวร้ายที่สร้างความตื่นตระหนกให้นักลงทุน และส่งผลกระทบซ้ำเติมให้หุ้น EA ทรุดหนักลงอีกครั้ง โดยหุ้นกลุ่ม EA และบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX และ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ราคาหุ้นปรับตัวลงระดับ 80%-90% จากข่าวลือและข่าวร้ายกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ EA และ NEX ยังถูกบังคับขายหุ้นหรือ FORCE SELL รวมทั้งกรณี สมโภชน์ ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ให้ชี้แจงเกี่ยวกับปมการซื้อขายหุ้น EA 14.69 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 12.60 บาท รับเงินไปกว่า 185 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 แม้จะมีการชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า เป็นการซื้อขายเพื่อปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในกลุ่มเดียวกัน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสงสัย เพราะไม่มีเทรดรีพอร์ต

หลังจาก ก.ล.ต. ลงดาบแรกเชือดก๊วนสมโภชน์ ก็มีตามต่อด้วยดาบสอง โดยคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ที่กำหนดว่าต้องไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษในเรื่องการกำกับดูแลกิจการฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567

 ทริส ปรับลดเครดิต-ลุ้นระทึกผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้หรือไม่? 

ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการแจ้งข้อมูลจาก TRIS Rating ว่าบริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative)

วุฒิเลิศ เจียรนิลกุลชัย กรรมการ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ยอมรับว่า การปรับลดเครดิต EA ของ TRIS Rating อาจส่งผลกระทบต่อวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ใหม่ที่จะออกตามแผนงาน

กรรมการ EA ชี้แจงข้อมูลผลกระทบฐานะทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากภาระหนี้สิน โดยเฉพาะเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระภายในปี 2567 และแนวทางการชำระหนี้ดังกล่าว ตามคำสั่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จนถึงสิ้นเดือน มิถุนายน 2567 บริษัทมีหนี้สินเงินต้นที่จะครบกำหนดชําระภายในปีนี้คงเหลือ จำนวน 16,488 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินและตั๋วแลกเงินระยะสั้น 8,144 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน 2,852 ล้านบาท (ยอดรวมดอกเบี้ยเท่ากับ 3,200 ล้านบาท)

ส่วนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชําระ จำนวน 5,500 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น คือ EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ครบไถ่ถอนวันที่ 15 สิงหาคม 2567 และ EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท ครบไถ่ถอนวันที่ 29 กันยายน 2567 จากหุ้นกู้ทั้งหมดรวม 16 รุ่น มูลหนี้รวม 31,166 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ทั้งหมดที่บริษัทมีนั้นเป็นหุ้นกู้ไม่มีประกัน และมีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross Default) กับสถาบันการเงิน หรือหุ้นกู้อื่น

ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินหลายแห่ง จากเดิมบริษัทมีความตั้งใจจะโรลโอเวอร์ตามที่เคยปฏิบัติมา และมีแผนที่จะชําระเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ด้วยกระแสเงินสดจาก 3 แหล่ง คือ

หนึ่ง การดําเนินงาน โดยไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการ จำนวน 1,900 ล้านบาท และบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมทุกเดือน ประมาณ 1,000 ล้านบาท
สอง วงเงินกู้จากสถาบันการเงินวงเงิน ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสถาบันการเงิน

และ สาม หุ้นกู้ที่จะออกเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งจำนวนและวันเสนอขายอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับประกันการจัดจําหน่าย โดยบริษัทคาดว่าจะเป็นหุ้นกู้อายุ 1 ปี และ 3 ปี

 ประเด็นที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ เมื่อ EA อยู่ในระหว่างการออกหุ้นกู้ และการเพิ่มทุนในบริษัทย่อย เจ้าหนี้ EA จะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2567 วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท และแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้จะกระทบตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนหรือไม่  



ผลกระทบที่เป็นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากกรณีกล่าวโทษผู้บริหารและกรรมการ EA ทุจริต ไม่เพียงแต่ราคาหุ้นกลุ่ม EA ทรุดหนัก การถูกถอดจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน ทริส ปรับลดเครดิต และการชำระหนี้หุ้นกู้เท่านั้น ข่าวร้ายนี้ยังลุกลามไปยังหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อให้ EA อีกด้วย

วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย แกว่งตัวผันผวนจากความกังวลผลกระทบที่เกิดจากกรณีผู้บริหาร EA และพวกถูกกล่าวโทษกรณีทุจริต และหุ้น EA ถูกถอดหุ้นออกจาก Thai ESG ส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นทั้งกลุ่ม EA และลุกลามไปยังกลุ่มธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ เป็นความกังวลที่เป็น Domino Effect ในจังหวะที่แบงก์กำลังจะทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2567

 ยังมีประเด็นที่สังคมชาวหุ้นสงสัยกันอย่างยิ่งอีกเรื่อง คือ ก.ล.ต.ใช้เวลาสอบสสวนคดีนี้ยาวนานมาก ถ้าพิจารณาจากหนังสือคำให้การของ  “นางบลังก้า ชูหลาน หวาง”  ซึ่งเป็นอดีตภรรยานายสมโภชน์ และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ EA ได้ยื่นร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2559 ก่อนที่จะกล่าวโทษสมโภชน์และพวก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ตลอดเวลาเกือบสิบปี ก.ล.ต.เงียบสนิท ปล่อยให้นักลงทุนหลงระเริงกับกลุ่ม EA จนพบกับความย่อยยับในเวลานี้  

แปลไทยเป็นไทยก็คือ สังคมสงสัยว่า ดองคดีหรือไม่ และทำไมถึงเพิ่งมาร้องทุกข์กล่าวโทษในช่วงเวลานี้

เพราะสืบสาวราวเรื่องแล้ว ก็พบเงื่อนปมความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจการเมืองกับ “เครือข่ายบิ๊กบราเธอร์ส” ที่มีอิทธิพลในแวดวงการเมือง โดย “น้องชายของพี่ใหญ่” เคยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัทก่อนที่จะลาออกมาเพื่อรับเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ดังที่ “รังสิมันต์ โรม” แห่งพรรคก้าวไกล เคยล้วงแคะแกะเกาเอาไว้

ทั้งนี้ EA เข้าจดทะเบียน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนครั้งแรกในราคาหุ้นละ 5.50 บาท จากพาร์เพียง 10 สตางค์ EA เป็นหุ้นเก็งกำไรยอดนิยม โดยราคาหุ้นถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 105.50 บาท ก่อนที่จะปักหัวลง เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ปิดที่ 13.10 บาท

ผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่ม EA มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 66,789 ราย แยกเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย EA จำนวน 42,659 ราย ผู้ถือหุ้นรายย่อย NEX จำนวน 12,280 ราย และ BYD มีผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 11,850 ราย ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาเล่นหุ้น EA และพ่วง NEX และ BYD เข้าไปด้วย เพราะถือเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน มีข่าวดีถูกปล่อยกระตุ้นราคาเป็นระยะ และราคาหุ้นเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว

การแห่เข้าเก็งกำไรกลุ่ม EA เป็นไปด้วยความคึกคัก และ ก.ล.ต.ก็ปิดเงียบ ซึ่งถ้า ก.ล.ต.เตือนภัยนักลงทุนเมื่อ 9 ปีก่อนว่าอยู่ระหว่างสอบสวนทุจริตผู้บริหาร EA ความเสียหายคงไม่มากมายเช่นนี้

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ ก.ล.ต.เชือดก๊วนสมโภชน์และพวก ทาง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ได้แถลงเปิดตัวบอร์ดบริหารชุดใหม่ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยยืนยันบริษัทมีปัจจัยพื้นที่แข็งแกร่ง ธุรกิจมั่นคงมีอนาคต

 สำหรับบอร์ดบริหารชุดใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่ “เดอะแบก” แทนชุดของ สมโภชน์ นับเป็นทีม “ตัวตึง” ในวงการ โดยบอร์ดนัดพิเศษ มีมติแต่งตั้ง “สมใจนึก เองตระกูล” ประธานกรรมการ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน “สมโภชน์” พร้อมหน้าด้วยบิ๊กเนมในแวดวงธุรกิจ อย่างเช่น ชัชวาลย์ เจียรวนนท์, วสุ กลมเกลี้ยง, ฉัตรพล ศรีประทุม และ สุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นต้น  
ทีมบริหารชุดใหม่ นำโดย สมใจนึก จะเรียกความเชื่อมั่นจากวิกฤตศรัทธาของบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป

พรเลิศ เตชะรัตโนภาส
 ผ่าอาณาจักรแสนล้าน EA 

EA จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในชื่อเดิมคือ บริษัท ซันเทค ปาล์มออยล์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท และก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล ที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้น ปี 2551 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ปี 2553 เริ่มดำเนินธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว และปีต่อมาขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

EA นำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2556 พร้อมเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี 2558 และปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้ EA เข้ามาซื้อขายบนกระดานใหญ่ หรือ SET ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า บริษัท EA และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล ผลิต และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กรีนดีเซล กลีเซอรีนบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ ผลิต และจำหน่ายสารเปลี่ยนสถานะ 2. กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม 3. กลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน

4. กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจให้เช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และ 5. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจวิจัยและพัฒนา ธุรกิจให้บริการงานออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งแบบครบวงจร และบริหารจัดการโครงการธุรกิจกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะ ธุรกิจอื่นๆ

บริษัท EA มีสินทรัพย์รวม ปี2563 จำนวน 78,483 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 85,476 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 103,364 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 114,229 ล้านบาท และไตรมาส 1/2567 จำนวน113,464 ล้านบาท

ผลประกอบการ รายได้รวม ปี 2563 จำนวน 17,199 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 20,558 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 27,546 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 31,597 ล้านบาท และไตรมาส 1/2567 จำนวน 5,881 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ ปี 2563 จำนวน 5,204 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 6,100 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 7,604 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 7,606 ล้านบาท และไตรมาส 1/2567 จำนวน 888 ล้านบาท

เหตุที่ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หมดเวลารับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ผลกระทบจากการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง และการปรับลดค่าเอฟทีของภาครัฐ ขณะที่ยอดขายรถไฟฟ้าต่ำกว่าเป้าหมายส่งมอบได้เพียง 350 คัน จากเป้าทั้งปีที่ 3,700 คัน การแข่งขันในตลาด EV รุนแรง รวมทั้งการถูกบังคับขายหุ้น หรือ Forced Sell ของผู้บริหารบริษัท NEX ที่ EA เป็นถือหุ้นใหญ่อยู่ 33%

หลังราคาหุ้น EA ดำดิ่ง ทำให้มูลค่าบริษัท EA เวลานี้เหลือเพียงแค่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่เมื่อสิ้นปี 2565 EA เคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 361,810 ล้านบาท เรียกว่ามูลค่าบริษัทลดลงเกือบ 85% ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยใน EA รวมถึง NEX และ BYD รวมแล้วกว่า 7 หมื่นราย ต่างได้รับความเสียหายย่อยยับ

 กรณีทุจริตของผู้บริหาร EA เป็นโจทย์ใหญ่ที่ ก.ล.ต.ต้องเร่งหามาตรการดับไฟตั้งแต่ต้นลม ออกคำเตือนก่อนวายวอด แทนที่จะปล่อยให้ “เม่าน้อย” เล่นไฟเริงร่า จนแก้ไขความเสียหายไม่ทันการณ์ ด้วยเสียงที่กำลังกระหึ่มอยู่เวลานี้ในหมู่นักลงทุนก็คือ ก.ล.ต. ดองคดี EA นานถึง 9 ปีหรือไม่ กระทั่งส่งผลทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเกือบ 43,000 รายเสียหายนับแสนล้านบาท ยังไม่รวมผู้ที่ซื้อหุ้นกู้และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่ EA หลายหมื่นล้านบาทที่กำลัง ‘เสี่ยง’ กับสถานะของบริษัทที่กำลังย่ำแย่อย่างรวดเร็วในเวลานี้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น