xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภูฏาน (17)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี

ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร

ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง หมวดที่ว่าด้วยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นและหมวดว่าด้วยการป้องกันประเทศ (Defence) และหมวดที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) ต่อไปจะกล่าวถึง  หมวดที่ยี่สิบสอง  อันเป็น  หมวดที่ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น (Local Government)  มีทั้งสิ้น 22 มาตรา ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1 ให้มีการกระจายและแบ่งอำนาจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (power and authority) แก่องค์กรการปกครองท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนในการพัฒนาและการจัดการความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของตนเอง
 
 มาตรา 2 ให้มีองค์กรการปกครองท้องถิ่นในแต่ละเขต (Dzongkhags) ในภูฏาน ซึ่งมีทั้งสิ้น 22 เขต แต่ละเขตประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ย่อยลงไปอีก 3 ส่วน ได้แก่ Dzongkhag Tshogdu, Gewong Tshogde และ Thromde Tshogde (น่าจะเทียบได้กับของไทยคือ องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด อำเภอและตำบล)

 มาตรา 3  องค์กรการปกครองท้องถิ่นจะต้องนำผลประโยชน์ของท้องถิ่นมาพิจารณาในบริบทของการปกครองของชาติโดยจัดให้มีพื้นที่การประชุมสาธารณะในการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น

 มาตรา 4  องค์กรการปกครองท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ที่จะ

a) จัดให้มีการปกครองที่รับผิดชอบ (accountable) และเป็นประชาธิปไตยสำหรับชุมชนต่างๆ ของท้องถิ่น

b) จัดให้มีการบริการต่างๆแก่ชุมชนในแบบยั่งยืน

c) กระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชุนและการจัดตั้งองค์กรชุมชนนเรื่องต่างๆของการดูแลปกครองของท้องถิ่น และ

d) ทำหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา

 มาตรา 5  องค์กรการปกครองท้องถิ่นหนึ่งๆจะต้องพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ตามกรอบความสามารถทางการบริหารและงบประมาณ มาตรา 6 องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด (Dzongkhag Tshogdu) ประกอบด้วย

a) หัวหน้า (the Gup) และผู้ช่วย ที่เป็นตัวแทน โดยทั้งสองเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากระดับอำเภอ (Gewog) แต่ละอำเภอ

b) หนึ่งคน ที่เป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งจากเทศบาลระดับจังหวัด (Dzongkhag Thromde/ Thromde คือ municipality ) และ

c) หนึ่งคน ที่เป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งจากเทศบาลระดับย่อยๆของจังหวัด (Dzongkhag Yenlag Thromdes)

มาตรา 7  อำเภอ (Gewok) แบ่งออกเป็นหน่วยย่อยต่างๆ (Chiwogs) เพื่อจัดเป็นหน่วยสำหรับการเลือกตั้งของคณะกรรมการ (Tshogpas) สำหรับระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอ (Gewog Tshogde) หัวหน้า (the Gup) และผู้ช่วย (Mangmi) ที่ได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนจะเป็นสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอ หัวหน้า (the Gup) จะเป็นประธาน/นายกองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอ

 มาตรา 8 องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบล (Thromde Tshogde) มีหัวหน้าหรือนายก (Thrompon) ที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเทศบาลระดับจังหวัด นายกคณะกรรมการตำบลมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา

 มาตรา 9 เทศบาลระดับจังหวัด (Dzongkhag Thromde) แบ่งออกเป็นเขตเลือกตั้งต่างๆสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบล (Thromde Tshogde)

 มาตรา 10  องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอ (Gewog Tshogde) หรือ คณะกรรมการตำบล (Thromde Tshogde) มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งไม่เกิน 10 และไม่ต่ำกว่าเจ็ดคน

มาตรา 11 องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด (Dzongkhag Tshogdu) จะเลือกประธานจากสมาชิกของตน (ดูมาตรา 6)

มาตรา 12 ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด (Dzongkhag Tshogdu) ประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี ส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอและองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบล (Thromde Tshogde) ประชุมกันอย่างน้อยสามครั้งต่อปี
 
มาตรา 13  ในการประชุมองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องมีองค์ประชุมไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

 มาตรา 14 เมื่อมีตำแหน่งของสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นว่างลง ที่ไม่ใช่เหตุผลของการครบวาระ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างไปภายในสามสิบวันนับจากวันที่ตำแหน่งว่างลง

 มาตรา 15  ก่อนเข้ารับผิดชอบในหน้าที่ สมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องปฏิญาณในการเข้ารับตำแหน่ง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

 มาตรา 16 การเลือกตั้งสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเลือกตั้ง
 
มาตรา 17  ผู้สมัครหรือสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใด

 มาตรา 18 องค์กรปกครองท้องถิ่น

a) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาสมรรภาพความสามารถในการจัดการ ทางเทคนิคและการบริหารและโครงสร้างที่ตอบสนอง โปร่งใสและรับผิดชอบ;

b) มีสิทธิ์ที่จะจัดเก็บ เรียกเก็บภาษีอากร ค่าผ่านทาง และค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมตามกระบวนการและภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา

c) มีสิทธิ์ที่จะได้รับงบประมาณการเงินที่เหมาะสมจากรัฐบาลในรูปของการช่วยเหลือเงินปี;

d) ได้รับจัดสรรสัดส่วนของงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันในการเป็นหน่วยการปกครองที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้
e) ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลในการส่งเสริมการวางแผนพัฒนาโดยอิงกับพื้นที่ในแบบองค์รวมและบูรณาการ

f) มีสิทธิ์ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ดินและกู้ยืมตามบัญชีรายได้ของตนตามขอบเขตที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา

 มาตรา 19  ได้รับการสนับสนุนจากกลไกของระบบราชการ

 มาตรา 20  จังหวัดมีผู้บริหารจังหวัด (Dzongdag: District Administrator) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ได้รับการสนับสนุนโดยข้าราชการ ผู้บริหารจังหวัดจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองและทำตามหน้าที่รับผิดชอบของตนในฐานะประธานผู้บริหาร (chief executive) โดยมีผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง มาตรา 21  องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด (Dzongkhag Tshogdu), องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับอำเภอ (Gewog Tshogde) และองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบล (Thromde Tshogde) มีวาระห้าปี นับจากวันที่มีการประชุมครั้งแรก ยกเว้นมีการยุบก่อนหน้านั้น

 มาตรา 22 ให้การใช้อำนาจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจังหวัด (Dzongdag) และองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น