xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บาร์โฮสต์” แดนสวรรค์คนเหงา โอ้..ลัลล้า ซื้อดริ้งค์ เปย์ฉ่ำๆๆๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ส่องธุรกิจบาร์โฮสต์ (Bar Host) สถานให้บริการมอบความสุขเปรียบดังแดนสวรรค์ของคนเหงา โดยมี “โฮสต์หนุ่ม” ผู้ชายรูปร่างหน้าตาดีคอยเอนเตอร์เทน และคอยเซอร์วิสแบบแนบชิด เพียงแต่ต้องจ่ายเงิน “ซื้อดริ้งค์” เปย์ให้ฉ่ำเพื่อแลกกับค่ำคืนอันสุดแสนหฤหรรษ์  

การเที่ยวบาร์โฮสต์นั้น นับเป็นความรื่นเริงของคนเฉพาะกลุ่มซึ่งมีความพึงพอใจที่ใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุข รักสนุก ต้องการผ่อนคลาย หรือเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และต้องบอกว่าการปรากฎตัวของนักแสดงหนุ่มดีกรีพระเอกในฐานะ  “หนุ่มบาร์โฮสต์”  อย่าง  “ซี - ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์” ได้สร้างสีสันให้ธุรกิจบาร์โฮสต์เมืองไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมทธุรกิจบาร์โฮสของเพื่อนสาวในวงการบันเทิง อย่าง   “ศกุนตลา เทียนไพโรจน์”   หรือ “ดีเจต้นหอม”  ผู้ผันตัวจากลูกค้าสู่  “ผู้ถือหุ้น ธุรกิจบาร์โฮส 5 แห่งในประเทศไทย” 

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จุดกระแสสนใจในสังคมต่ออาชีพบาร์โฮสต์ได้ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกมองแง่ลบในลักษณะแฝงการขายบริการทางเพศเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการของ “บาร์โฮสต์” จะเป็นพนักงานชายหน้าตาดี ทำหน้าที่เอาอกเอาใจ สร้างความสุข สนุก เพลิดเพลิน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย มาทำหน้าที่นั่งดื่มนั่งดริ้งค์ หรือเล่นเกมซุกซน เป็นการเซอร์วิสใกล้ชิดแบบถึงเนื้อถึงตัวเท่านั้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มมีเงิน สามารถซื้อความสุขให้ตัวเองโดยไม่ต้องกังวลใดๆ เรียกว่า พร้อมเปย์หากถูกใจ ดังนั้น “โฮสต์” จึงเป็นอาชีพทำเงินสำหรับหนุ่มรูปร่างหน้าตาดี หากลูกค้าถูกใจมักจะเปย์ไม่อั้น ที่ผ่านมาก็มีข่าวในวงการบาร์โฮสต์ไทยเป็นไวรัลในโซเซียลฯ ตั้งแต่ บาร์โฮสต์ตัวท็อป ได้รถหรู ทำเงินล้านภายในคืนเดียว, อดีตเกมเมอร์ผันตัวเข้าวงการบาร์โฮสต์ ดื่มแค่ 10 วิ รับเงินสด 2 แสน ไอโฟน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบาร์โฮสต์จัดอยู่ในประเภทธุรกิจกลางคืนที่มีการเติบโตในทิศทางบวกนับตั้งแต่ประเทศไทยพ้นวิกฤตโควิด – 19 ทั้งนี้ ข้อมูลจาก MONEY LAB ระบุว่าเศรษฐกิจกลางคืนของไทยมีมูลค่าราว 192,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย พอจะอนุมานได้ว่าผลประกอบการของธุรกิจย่อมมีเงินหมุนเวียนจำนวนมากทำกำไรอยู่ในช่วงกอบโกย

บทความเรื่อง “เจาะลึกธุรกิจ HOST CLUB : เมื่อผู้หญิงเป็นฝ่ายควักกระเป๋า” เล่าย้อนเส้นทางสถานบันเทิง “บาร์โฮสต์” หรือ "โฮสต์คลับ" ระบุว่าเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกราวๆ ปี 1966 กระทั่ง 30 ปีต่อมาปรากฏว่ามี “โฮสต์คลับ” อยู่ในเขตโตเกียวถึง 200 แห่งแล้ว เป็นสถานที่ที่สาวๆ ไปต้องการหาความสำราญกับชายหนุ่มยามค่ำคืน โดยจ่ายเงินประมาณ 30,000 - 40,000 เยน

โดยนักวิชาการชาวญี่ปุ่น วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาฝังรากของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเพศหญิงมักจะพบว่าเพศชายช้างเท้าหน้าส่วนใหญ่มักจะมีท่าทีที่เย็นชา, ไม่แสดงความรักตอบ และไม่รับฟังปัญหาใดๆ ของพวกเธอ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “หนุ่มโฮสต์” ผู้มีทั้งหน้าตาหล่อเหลา, อ่อนโยน เป็นผู้ฟังที่ดี แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องแลกมาด้วยเงินก็ตาม

คุณสมบัติของหนุ่มบาร์โฮสต์ มักจะดื่มเหล้าเก่ง และพูดจาเกี้ยวพาราสีลูกค้า ทำให้พวกเธอรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง สามารถพูดคุยได้ทั้งเรื่องเบาๆ และเรื่องราวในชีวิตของฝ่ายหญิง นอกจากนี้ หนุ่มโฮส์มักจะมีความสามารถในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะร้องเพลง, เล่นมายากล พูดคุยสนุก ในโฮสต์คลับบางแห่งก็อาจจะมีการเปิดแสดงโชว์เล็กๆ ทั้งการเต้น หรือ เล่นตลก ของพวกเขาด้วย

ส่วนใหญ่หนุ่มโฮสต์พวกนี้จะมีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึง 20 ปีกลางๆ แต่ละคนใช้นามแฝงที่ตั้งตามตัวการ์ตูน, ตัวละครจากหนัง หรือไม่ก็บุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงบุคลิกส่วนตัวของหนุ่มๆ แต่ละรายไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่พวกหางานปกติทำไม่ได้ ก็หวังรายได้ก้อนโตกับงานที่เรียกว่าไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร

โดยตามปกติหนุ่มโฮสต์ส่วนใหญ่จะแต่งกายด้วยสูทสุดเนี้ยบสีเข้มกับเสื้อเชิร์ตตัวใน ใส่เครื่องประดับแวววาว, ผิวสีเข้มอย่างที่ผู้หญิงญี่ปุ่นนิยมกัน ขณะเดียวกันก็มีโฮสต์คลับที่เน้นกลุ่มหนุ่มๆ ที่ใส่เสื้อผ้าลำลองแบบธรรมชาติ แต่งตัวลำลองด้วยเสื้อผ้าของตัวเอง

ค่าจ้างบาร์โฮสค่อนข้างต่ำ โดยรายได้ส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปแบบของ “ค่าดริ้งค์” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของโฮสแต่ละคนมาก ซึ่งโฮสเป็นงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ใครทำยอดไม่ได้ตามเป้าก็หมายถึงโอกาสตกงานอยู่ตรงหน้า ขณะที่บางคนอาจจะทำรายได้หลักแสนเยนภายในเวลาไม่ถึงข้ามคืนก็มีจำนวนไม่น้อย

สำหรับลูกค้าของโฮสต์คลับ ประกอบไปด้วยผู้หญิงทุกประเภท, อาชีพ และอายุ อย่างไรก็ตาม ขาประจำจริงๆ ก็หนีไม่พ้นเหล่าโฮสเตส หรือสาวๆ ที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเอาอกเอาใจหนุ่มๆ ซึ่งมักจะเลิกงานกันในช่วงเวลาประมาณตี 1 - ตี 2 ซึ่งหลายคนเลือกที่จะผ่อนคลายความเครียดกับจากงานด้วยการใช้บริการของโฮสต์คลับที่จะทำให้คราวนี้พวกเธอได้เป็นฝ่ายถูกเอาเอกเอาใจบ้างนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของกฏหมายด้านสถานบริการของญี่ปุ่น เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าบริการทางเพศ ทำให้โฮสต์คลับหลายแห่งจากที่เคยปิดบริการกันในเวลาประมาณตี 4 ก็ต้องมาปิดเอาในช่วงเที่ยงคืนจนถึงตี 2 แทน สถานบริการหลายๆ แห่งจึงคิดกลเม็ดในการหารายได้ขึ้นมา รวมถึงการยัดเยียดเครื่องดื่มราคาแพงให้กับแขกอย่างเช่นแชมเปญราคาขวดละร่วม 3 ล้านเยน แน่นอนว่าหากลูกค้าแสดงท่าทีอิดออด หนุ่มๆ แสนดีก็จะแปรสภาพเป็นปีศาจร้ายทำทุกวิธีเพื่อบีบคั้นเอาเงินออกจากกระเป๋าของพวกเธอ

สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางเพศ ต้องบอกว่าตามปกติแล้วหนุ่มโฮสต์จะทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ลูกค้าตกหลุมรัก โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันให้ได้ ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งเวลา, ความพยายาม และลูกไม้ลูกล่อลูกชนอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากเป็นเงินก้อนโตจริงๆ พวกเขาก็พร้อมสำหรับความสัมพันธ์ที่เรียกว่าลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้นเช่นเดียวกัน

ปัจุจุบันธุรกิจโฮสต์คลับในญี่ปุ่นพัฒนาไปมาก ว่ากันว่าผู้ชายทุกคนทุกประเภทสามารถทำงานสายนี้กันได้ทั้งนั้น ตามแต่ประเภทของคลับที่ตอบสนองรสนิยมของสาวๆ ในแบบที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งโฮสต์คลับประเภททางเลือก ที่มีพนักงานเป็นสาวหล่อเป็นฝ่ายบริการ เพื่อสนองแก่ลูกค้าที่ชื่นชอบความงามของสาวๆ ด้วยกันมากกว่า ขณะเดียวกันก็ยังมีบริการประเภททางไกล ที่หนุ่มๆ พร้อมเดินทางไปรับใช้ลูกค้าถึงสถานที่ด้วย

อาชีพโฮสต์ในญี่ปุ่นเป็นงานที่มีเกียรติ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโฮสต์คลับเป็นที่ยอมรับในสังคมญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นสิ่งสกปรกโสมมอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว ก็เห็นจะเป็นหลักฐานการนำเสนอในสื่อต่างๆ ที่สามารถพูดถึงสถานบริการประเภทนี้ได้ด้วยนำเสียงปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์ หรือกระทั่งการ์ตูนสำหรับเด็ก ทั้งนี้ โฮสต์คลับในญี่ปุ่นได้พัฒนาไปสู่ทิศทางที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นของคู่สังคมญี่ปุ่นไปแล้ว

 อากิโกะ ทาเคยามะ  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ  “Staged Seduction : Selling Dreams in a Tokyo Host Club”  ให้ภาพเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อาชีพโฮสต์ชายญี่ปุ่นเริ่มถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก หลังญี่ปุ่นเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ช่วงปี 1990 โดยเหล่าชายชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมปลายและฐานะทางบ้านไม่ดีนัก ได้เริ่มหันเหจากความคิดที่จะก้าวเท้าเข้าสู่การเป็น มนุษย์เงินเดือนซึ่งมีรายได้น้อยจากภาวะเศรษฐกิจในเวลานั้น ไปสู่อาชีพใหม่ที่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ มิหนำซ้ำยังสามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การเป็น Big Name ในโลกธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในบั้นปลายด้วย

ขณะที่ ผู้หญิงญี่ปุ่นที่มาเที่ยวบริการโฮสต์ชายนั้น ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่อง การมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) เนื่องจากยังคงรู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ต่างอะไรจากพลเมืองชั้นสอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในที่ทำงานจากประเด็นรายได้ที่ได้รับน้อยกว่าเพศชาย แม้ว่าจะทำงานในตำแหน่งเดียวกัน หรือปัญหาครอบครัว ไม่ได้รับความเคารพจากสามีตามบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ซึ่งหญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่มาเที่ยวบริการโฮสต์ชายนั้น ใช้จ่าย 200 - 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน (3,537 - 7,075 บาท) จนถึงระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (353,750 บาท) หรือมากกว่าเลยทีเดียว

สำหรับรายได้ปัจจุบันของโฮสต์ค่าเฉลี่ยมากกว่ามนุษย์เงินในประเทศญี่ปุ่น อ้างอิงจากเว็บไซต์ Salaryexplorer ค่าเฉลี่ยรายได้ของเมนุษย์เงินเดือนในประเทศญี่ปุ่น ปี 2023 อยู่ที่ 516,000 เยน (126,094 บาท) ต่อเดือน หรือ 6,200,000 เยน (1,515,083) ต่อปี

ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ของโฮสต์เฉพาะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปี 2023 จากรายงานของ Economic Research Institute (ERI) สถาบันวิจัยที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลเงินเดือน ค่าครองชีพสำหรับภาคอุตสาหกรรมชื่อดัง อยู่ที่ 8,285,195 เยน (2,016,080 บาท) ต่อปี หรือ 3,983 เยน (969 บาท) ต่อชั่วโมง ส่วนค่าเฉลี่ยรายได้ของโฮสต์ทั่วประเทศญี่ปุ่นปี 2023 เว็บไซต์ Salaryexplorer.com ระบุว่า อยู่ที่เดือนละ 192,000 เยน (46,720 บาท) หรือเฉลี่ยต่อปีที่ 2,300,000 เยน (559,671 บาท)

สุดท้ายแล้วความสุขซื้อได้ด้วยเงิน ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงแสวงหาความสุขผ่านการเที่ยวบาร์โฮสต์.


กำลังโหลดความคิดเห็น