คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี
ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร
ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงกติกาในการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในหมวดที่ยี่สิบสามและหมวดยี่สิบสี่ที่ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในตอนนี้จะได้กล่าวถึง หมวดที่ว่าด้วยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ซึ่งอยู่ในหมวดที่ยี่สิบเจ็ด มีทั้งสิ้น 6 มาตรา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 ให้มีคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น มีประธานและกรรมการสองคน คณะกรรมการนี้ถือเป็นองค์กรอิสระและใช้มาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในราชอาณาจักร
มาตรา 2 ประธานและกรรมการคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดีตามรายชื่อที่เสนอร่วมกันโดย นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกาแห่งภูฏาน ประธานรัฐสภา ประธานสภาแห่งชาติ และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
มาตรา 3 ประธานกรรมการและกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีหรือจนกว่าจะมีอายุครบหกสิบห้าปี แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจะถึงก่อน
มาตรา 4 คณะกรรมการจะต้องส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติงานต่อสมเด็จพระราชาธิบดีและนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา
มาตรา 5 การฟ้องร้องบุคคล พรรค หรือองค์กรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี
มาตรา 6 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติต่อต้านการคอร์รัปชั่น
ต่อไปคือ หมวดที่ยี่สิบแปดว่าด้วยการป้องกันประเทศ (Defence)มีทั้งสิ้น 6 มาตรา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นจอมทัพ (the Supreme Commander) แห่งกองทัพและทหารกองหนุน
มาตรา 2 กองกำลังรักษาพระองค์ต้องรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของสมเด็จพระราชาธิบดี ในขณะที่กองทัพภูฏานจะทำหน้าที่เป็นกองทัพประจำการ และกองกำลังทั้งสองจะเป็นแกนกลางในการป้องกันของภูฏานต่อภัยคุกคามด้านความปลอดภัย
มาตรา 3กองกำลังตำรวจภูฏานที่ได้รับการฝึกอบรมภายใต้กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบหลักในการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยและการป้องกันอาชญากรรม และถือเป็นส่วนสำคัญของกองกำลังความมั่นคงของประเทศด้วย
มาตรา 4 รัฐสภาตรากฎหมายกำหนดให้มีการเกณฑ์พลเมืองเป็นทหารกองหนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ
มาตรา 5 รัฐต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษากำลังทหารเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของชาติ
มาตรา 6 ภูฏานจะไม่ใช้กำลังทหารต่อรัฐต่างประเทศ ยกเว้นเพื่อป้องกันตนเองหรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความปลอดภัย บูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตย
ต่อไปคือ หมวดที่สามสิบสามว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) มีทั้งสิ้น 9 มาตรา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามหนังสือกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่อธิปไตย ความมั่นคงและบูรณภาพดินแดนหรือส่วนใดก็ตามของภูฏานถูกคุกคามจากการรุกรานจากภายนอกหรือกบฏติดอาวุธ
มาตรา 2 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะหรือภัยพิบัติ (public emergency or calamity) ตามหนังสือกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งคุกคามหรือมีผลกระทบต่อชาติโดยรวมหรือบางส่วน ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลอาจดำเนินมาตรการเคร่งครัดตามความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์
มาตรา 3การประกาศภาวะฉุกเฉินตามมาตรา 1 หรือ 2 ของหมวดนี้ ให้ใช้บังคับต่อไปได้ไม่เกินยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันประกาศ เว้นแต่รัฐสภาจะลงมติไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุมร่วมกันที่จะขยายออกไปอีกภายในระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา 4สมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) อาจเลื่อนมติไม่อนุมัติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นได้ หรือไม่อนุมัติให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระราชาธิบดี ถ้าสภาไม่อยู่ในสมัยประชุม และถ้าสภาอยู่ในสมัยประชุม ให้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา
มาตรา 5 การประชุมร่วมจะต้องจัดให้มีขึ้นโดยเร็วที่สุดภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาได้รับคำร้อง หรือสมเด็จพระราชาธิบดีทรงได้รับคำร้องหรือ แล้วแต่กรณี หากไม่ปฏิบัติตามนั้นให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง
มาตรา 6 ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลมีอำนาจสั่งการแก่ราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้ตามสมควร
มาตรา 7 ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การบังคับใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 2, 3, 5, 12 ของหมวดเจ็ด (หมวดนี้ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน/ผู้เขียน) อาจถูกระงับไว้ชั่วคราวได้
มาตรา 8 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศภาวะฉุกเฉินทางการเงินตามหนังสือกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี หากพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า มีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคุกคามเสถียรภาพทางการเงินหรือความน่าเชื่อถือของภูฏาน ให้ส่งคำประกาศดังกล่าวไปยังสภาแต่ละสภาภายในยี่สิบเอ็ดวันหลังจากมีการประกาศดังกล่าว ยกเว้นว่ารัฐสภา ในที่ประชุมร่วมจะมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดให้ขยายเวลาออกไปอีกภายในระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา 9 ในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมิได้
ในกรณีของไทย ได้มีการตราพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไว้ต่างหากจากรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 5 ในพระราชกำหนดฯ กล่าวไว้ดังนี้
“มาตรา ๕ เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นและนายกรัฐมนตรี เห็นสมควรใช้กำาลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือ ในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในกรณีที่ไม่อาจ ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีภายในสามวัน หากมิได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด หรือคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง….”
พระราชกำหนดที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี