xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สางปมเช่ารถขนขยะไฟฟ้า กทม. ส่อทุจริต ? “ชัชชาติ” ยัน “เดินหน้า กล้าเปลี่ยน” ปูดซ้ำ “ทุ่นลอยน้ำ” โคตรแพง !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกโรงส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ตรวจสอบว่าส่อทุจริตหรือไม่ อย่างไร ในจังหวะนี้ มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะน้อยครั้งนักที่จะเห็น ป.ป.ช.ทำงาน “เชิงรุก” จากปกติที่สังคมสังเกตเห็นแต่การ “แช่แข็ง” หรือ “ดองเค็ม” คดีความต่างๆ ด้วยข้ออ้างสารพัด เสียเป็นส่วนใหญ่  

ตามหนังสือลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ “บิ๊กกุ้ย”  เสนอแนะให้ ครม. เข้ามาตรวจสอบนั้น ระบุถึง 4 โครงการ ที่อาจมีความไม่โปร่งใส ประกอบด้วย โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน, โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตันจำนวน 464 คัน, โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย แบบยกภาชนะรองรับมูลฝอยขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 102 คัน และ 4. โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอยขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 124 คัน รวมทั้งสิ้น 842 คัน มูลค่า 3,993 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวข้างต้น ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อทดแทนโครงการเดิมที่เป็นรถเก็บมูลฝอยเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งจะครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2567 โดยจะเปลี่ยนมาเป็นการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบพลังงานไฟฟ้า ระยะเวลาการเช่าต่อเนื่อง 5 ปี
 
ประเด็นที่ว่าอาจมีปัญหาความไม่โปร่งใสนั้น ประธาน ป.ป.ช. ชี้ว่า อยู่ตรงที่การดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบวิธีการงบประมาณของ กทม. และการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด อาจทำให้กทม.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการบริหารโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงานเช่ารถขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า ที่อาจทำให้ได้รถที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริง อาจกีดกันผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดให้ตกไป คุณภาพการบริหารจัดการเรื่องจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า การทดลองปฏิบัติงานของรถฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการจัดบริการกำจัดมูลฝอยฯ อันอาจนำไปสู่การทุจริต 

รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าของ กทม.ที่ ป.ป.ช.ถึงกับทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีให้ตรวจสอบความโปร่งใส


 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะต่อ กทม. และ ครม. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือเสียหายต่อรัฐและประชาชน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

 หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงจากการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยจากพลังงานดีเซล มาเป็นพลังงานไฟฟ้า อาจจะกระทบต่อวัตถุประสงค์และวงเงินงบประมาณโครงการ และอยู่นอกเหนืออำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ รวมทั้ง กทม. อาจมีภาระงบฯ แฝง ที่ต้องจัดสรรเพิ่ม เช่น การเตรียมพื้นที่สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าและการบริหารจัดการ การบำรุงรักษารถ ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่องบฯ เพิ่มขึ้นในอนาคต กทม.ต้องวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการดังกล่าว

 สอง  การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ/ขอบเขตของงานเช่ารถฯ ทั้ง 4 โครงการ อาจเสี่ยงเป็นการกีดกันการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ควรเป็นการกำหนดคุณลักษณะเพื่อให้ได้รถเช่าฯ ที่ปฏิบัติงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ เช่น กำหนดขนาดและความจุของแบตเตอรี่ในรถแต่ละประเภท เพียงพอต่อการทำงานจริง ระยะทางการวิ่ง การยก บดอัดขยะ และต้องทดสอบสมรรถนะโดยหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ โดยเน้นประสิทธิภาพการใช้งาน สมรรถนะของรถ และฟังก์ชันของรถเป็นสำคัญ ต้องไม่ทำให้ประสิทธิภาพของรถเก็บขนมูลฝอยลดลงกว่าเดิม

และ  สาม  กทม.ควรจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ มีแผนบริหารความเสี่ยงของโครงการและประเมินผล เช่น การบริหารจัดการเรื่องจำนวนสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ระยะเวลาการชาร์จไฟฟ้าของรถแต่ละคัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการให้บริการสาธารณะของรถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าที่จะต้องครอบคลุมกับจำนวนรถที่เช่า และเส้นทางที่วิ่ง

นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของรถในสภาพที่เกิดปัญหาหรือมีข้อจำกัด เช่น เกิดน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม. ความปลอดภัยและความรับผิดของเจ้าหน้าที่กรณีเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนการบำรุงรักษาและประสิทธิภาพในการใช้งานของรถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าแต่ละคัน/ขนาด ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ หาก กทม.ไม่กำหนดแผนบริหารจัดการที่ชัดเจนแล้ว อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูง

หลังจาก ป.ป.ช. ร่อนหนังสือไปยังเลขาธิการ ครม. พร้อมออกข่าวเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทาง  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งพานพบมรสุมข่าวคราวการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ของ กทม. ว่าแพงกว่าราคาตลาดลิบลิ่ว ก็ออกมาตอบคำถามสังคมว่า กทม.ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.มาโดยตลอดในการตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินโครงการ เพื่อความโปร่งใส เข้าใจว่ามีหนังสือทักท้วงมาถึงปลัดกรุงเทพมหานครด้วย

พร้อมอธิบายว่า โครงการรถขยะพลังงานไฟฟ้า มีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบายของรัฐบาล และกระแสทั้งโลกก็ผลักดันเรื่องนี้ ปกติรถขยะของ กทม.ใช้พลังดีเซล มีการปล่อยมลพิษต่าง ๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย แม้แต่ในสภากทม.ยังออกข้อบัญญัติเรื่องรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า สิ่งที่ กทม.ทำเป็นเรื่องของอนาคตเพราะค่าใช้จ่ายพลังไฟฟ้าจะถูกกว่าดีเซล

ชัชชาติ เชื่อมั่นว่า เรื่องนี้มีเหตุผลรองรับชัดเจน หลายที่ในโลกทำแบบนี้ ส่วนตัวคิดว่าการเปลี่ยนมาใช้รถระบบไฟฟ้าไม่มีใครไม่เห็นด้วย ปัจจุบันรถเมล์ส่วนใหญ่ในกรุงเทพก็ใช้พลังงานไฟฟ้า

สำหรับประเด็นที่ ป.ป.ช.ทักท้วง เรื่องข้อบัญญัติปี 2566 กทม.ไม่ได้ระบุว่าเป็นรถพลังงานไฟฟ้า จึงเกรงว่าจะผิดเงื่อนไขข้อบัญญัติ ท่านจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงเตรียมนำเรื่องนี้เข้าสภากทม.อีกครั้ง เพื่อของบประมาณปี 2568 โดยระบุของบประมาณเพื่อจัดหารถขยะพลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน

ส่วนเรื่องที่ ป.ป.ช. มองว่าการกำหนดขอบเขตสัญญาเช่ารถ (TOR) จะไม่เปิดกว้างให้เอกชนแข่งขันอย่างโปร่งใสนั้น จากการเปิดประกวดราคาครั้งแรกมีผู้สนใจกว่า 18 บริษัท กทม.ดำเนินการอย่างโปร่งใส แข่งขันอย่างเปิดเผย ไม่มีล็อกสเปก ที่ผ่านมา ป.ป.ช.คงเห็นตัวอย่างว่า กทม. เคยเช่ารถขยะระบบดีเซลแบบเดิมมากว่า 20 ปี มีบริษัทเดียวได้รับสัมปทานมาโดยตลอด

ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ภาพทุ่นลอยน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2.5 ล้าน พร้อมตั้งคำถามให้ตรวจสอบความผิดปกติในการจัดซื้อ
สำหรับข้อกังวลเรื่องความพร้อมในการบริหารจัดการรถพลังงานไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์ กำลังคน ค่าใช้จ่าย จากตัวอย่างรถเมล์พลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพฯ กว่า 1,500 คัน ในภาพรวมส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา เทศบาลบางแห่งในต่างจังหวัดมีการนำรถขยะพลังงานไฟฟ้ามาใช้แล้วเช่นกัน ส่วนจุดชาร์จไฟฟ้าต้องคุยกับการไฟฟ้านครหลวง ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี โครงการรถขยะพลังงานไฟฟ้า เป็นการเช่ารถ ไม่ใช่การซื้อรถ ดังนั้น ผู้ให้เช่ามีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรถ เช่น มีรถทดแทนกรณีรถเสีย เป็นต้น

 “เป็นเรื่องดีที่มีการท้วงติงมา เพราะโครงการยังไม่เกิด ทำให้ กทม.มีความรอบคอบมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว พร้อมกับระบุว่า เรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มาคือโครงการระยะ 5 ปี ในส่วนการเช่ารถขยะชั่วคราว 270 วัน ยังดำเนินการต่อไป เรื่องจัดการขยะเป็นเรื่องหลักของ กทม. หากใช้ระบบไฟฟ้าจะลดค่าใช้จ่ายในการเช่าลงร้อยละ 20 ค่าพลังงานลดลงครึ่งหนึ่ง 

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริงของ กทม.นั้น เฟซบุ๊ก  “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย”  ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้ ทวงถามต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า  “...ผ่านมา 27 วันแล้ว ตั้งแต่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร แถลงข่าว จนบัดนี้ ยังไม่ทราบผลสอบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริงๆ” 

ในวันถัดมา ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ยังโพสต์ภาพทุ่นลอยน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2.5 ล้าน พร้อมระบุ  “ทุ่นลอยน้ำ กทม. 2.5 ล้าน แพงเกินครึ่ง” เป็นการติดตามตรวจสอบความผิดปกติกรณีจัดซื้อจัดจ้างทุ่นลอยน้ำบริเวณสวนลุมฯ และสวนเบญจกิติ

โครงการซื้อทุ่นลอยน้ำพร้อมอุปกรณ์ยึดต่อสำหรับเทียบเรือ จำนวน 2 ชุด โดยวิธีคัดเลือก หน่วยงาน กองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ราคากลาง 5,000,000 บาท ราคาจ้าง 4,998,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,000 บาท

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ติดตั้งจำนวน 2 จุด มีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 7.5 เมตร และทางกว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร คำนวณคร่าวๆ ประมาณ 160 ตร.ม. จากการสืบราคาตลาด พบว่า ราคาทุ่นเทียบเรือรุ่นดังกล่าว อยู่ที่ ตร.ม. ละ 5-7 พันบาท ตกราวๆ ล้านนิดๆ แต่ กทม.จัดซื้อ 2.5 ล้านต่อจุด งานนี้คำนวนส่วนต่างครึ่งๆ

 เมื่อดูในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่าโครงการฯ นี้ ใช้วิธีการคัดเลือก แทนที่จะต้องใช้วิธีการประมูลแบบอีบิดดิ้ง ตามระเบียบฯ กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department มีเอกชน 3 ราย ยื่นซองเสนอราคา คือ บริษัท ไอ คอมเมิร์ซ จำกัด เสนอราคา 5,300,000 บาท, บริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด เสนอราคา 4,998,000 บาท และบริษัท ทรี สปอร์ตฟลอริ่ง จำกัด เสนอราคา 5,500,000 บาท 

“บริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด ที่จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงๆ เสนอราคาต่ำสุดได้รับงานไป ส่วนรายอื่นๆ เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง แต่ กทม. ไม่เอา ทั้งนี้จากการตั้งข้อสังเกตในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบแต่ชื่อไฟล์ แต่ไม่มีข้อมูล ซึ่งตามระบบแล้วจะต้องอัพเดทเข้าไปในระบบ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อีกโพสต์หนึ่ง ระบุว่า “ทุ่นลอยน้ำสวนรถไฟ ส่วนต่างครึ่งๆ เจออีก..ทุ่นลอยน้ำ กทม.ที่สวนรถไฟจัดซื้อส่อแพงเกินจริง ชื่อโครงการจัดซื้อทุ่นลอยน้ำพร้อมอุปกรณ์ยึดต่อสำหรับเทียบเรือ ขนาดไม่น้อยกว่า 46 ตารางเมตร (ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 495,000 บาท หน่วยงานที่จัดซื้อ กองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สืบราคาตลาดรวมหมุดสกรูแล้ว ตก ตร.ม.ละ 5,400 บาท คำนวณคร่าวๆ คูณด้วย 46 ตร.ม. เป็นเงิน 248,400 บาท แต่ กรุงเทพมหานคร เบิก 495,000 ไม่มีลดสักบาท..ครึ่งๆ แบบนี้เป็นของหวานให้ ผอ.กอง-เขต ต่างๆ”

 ดูเหมือนว่า ทั้ง “เมนูหลัก” และ “ขนมหวาน” เป็นงานเข้าที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตามล้างตามเช็ดไม่หวาดไม่ไหว 



กำลังโหลดความคิดเห็น