xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดปฏิบัติการล่า “ปลาหมอคางดำ” วายร้ายทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -   การแพร่ระบาดของเอเลียนสปีชีส์วายร้ายแห่งลุ่มน้ำ “ปลาหมอคางดำ” กำลังก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายจังหวัดของไทย ขณะเดียวกัน ก.เกษตรฯ จ่อยกระดับสถานการณ์ขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” เแก้ไขปัญหาเร่งด่วน “เปิดปฏิบัติการล่า” เพื่อลดปริมาณและควบคุมการระบาดโดยเร็วที่สุด 

เป็นประเด็นท้าทาย  “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นปัญหาเรื้อรังนานนับสิบปี ไม่เพียงก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นหายไป ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับ “ปลาหมอคางดำ” (Blackchin Tilapia) เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกาจัดเป็น “เอเลียนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตสัตว์/พืชที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced species) ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่งแต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น สามารถขายพันธุ์และแพร่กระจายพันธุ์ได้ดีจนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ

โดยข้อมูลการศึกษาจากการประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Ecosystem Assessment 2005) ได้ระบุว่า “เอเลียนสปีชีส์ ถือเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หากไม่นับการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติโดยมนุษย์” 

 “ปลาหมอคางดำ”  เป็นสัตว์น้ำวงศ์เดียวกับ “ปลาหมอสี”  และ  “ปลาหมอเทศ” โดยคุณลักษณะเฉพาะของ “ปลาหมอคางดำ” เติบโตเร็วแพร่พันธุ์รวดเร็ว สามารถวางไข่และฟักตัวได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ยวางไข่ได้ครั้งละ 150 - 300 ฟองต่อ 1 ตัว โดยสามารถมีชีวิตอยู่ในทุกสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำ 3 แหล่ง ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม กินสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ลูกปลาลูกกุ้งลูกหอยเป็นอาหาร ดังนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำทำให้สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายไป ยังส่งผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรอย่างหนักอีกด้วยx

ประมงจังหวัดสงขลา ออกประกาศจับปลาหมอคางดำ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่คุกคามระบบนิเวศและสัตว์น้ำดั้งเดิม
 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” กระจายอยู่ในพื้นที่ 25 จังหวัด โดยพบการแพร่ระบาดใน 13 จังหวัด บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยลักษณะการแพร่ระบาดจะพบทั้งคลองที่เชื่อมถึงกัน และพบเฉพาะบางแหล่งน้ำที่ห่างไกลออกไปซึ่งพบบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ส่วนอีก 9 จังหวัดยังไม่พบการแพร่ระบาด คือ พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567  “ประมงจังหวัดสงขลา ประกาศจับปลาหมอคางดำ” หลังพบปลาหมอคางดำในลำคลองน้ำกร่อยหลายจุดใน อ.ระโนด จ.สงขลา อาจก่อให้ผลกระทบกับพันธุ์สัตว์น้ำในธรรมชาติ โดยเฉพาะลำคลองหลายจุดที่พบปลาหมอคางดำนั้นมีเส้นทางเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา และหากปลาชนิดนี้ระบาดในทะเลสาบสงขลาจะเกิดวิกฤตอย่างหนัก เนื่องจากปลาหมอคางดำอยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม กินสัตว์น้ำตัวเล็กชนิดอื่นๆ จนหมดเกลี้ยงในเวลารวดเร็ว

 -1-

จุดกำเนิดและเส้นทางการแพร่ระบาด

สำหรับเส้นทางก่อนเกิดปลาหมอคางดำแพร่พร่ระบาดในพื้นที่ลุ่มน้ำของไทยหลายแห่งนั้น ย้อนกลับไป ช่วงปี 2561 กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ ซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555

ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข

จากนั้น ปี 2553 บริษัทแห่งนี้ได้นำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC

กระทั่ง ปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรก จากนั้นเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นอย่างมาก

โดยทาง กสม. มีมติว่าการแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าว มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชนอันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

อย่างไรก็ดี แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า กรมประมงในฐานะผู้ถูกร้องละเลยการกระทำอันเป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำหรือไม่ แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมประมงไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้เอกชนรายดังกล่าว ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างครบถ้วนตามที่กรมประมงกำหนดให้ต้องรายงานและเก็บซากปลาให้กับกรมประมง

 นายปัญญา โตกทอง  คณะกรรมการลุ่มน้ำเพรชบุรี เปิดเผยผ่านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ความว่าการระบาดของปลาหมอคางดำได้ส่งผลกระทบให้ปลาหมอเทศน์ที่เป็นสัตว์ท้องถิ่นหายไปภายในปีเดียว ทำให้คนในพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพ การแพร่กระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และในปัจจุบันการจัดการปลาหมอคางดำในพื้นที่เป็นไปได้ยากเพราะมีจำนวนมหาศาล และในด้านของเศรษฐกิจไม่มีราคาจูงใจให้คนจับมาทำการค้า

“สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามา มาจากนายทุนและหน่วยงานที่กำกับดูแล พวกเขาต้องมีสามัญสำนึกที่สูงกว่านี้ ผมมีความหวังว่า เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลง ธุรกิจจะต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เช่นกัน สิ่งนี้ควรเป็นบทเรียนใหญ่หลวงที่มีราคาแพง” นายปัญญา โตกทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำเพรชบุรี ระบุ

ที่ผ่านมา กรมประมงทราบดีถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลางหมอคางดำ และมีการดำเนินการระยะสั้นและแผนระยะยาวเพื่อควบคุมสถานการณ์มาโดยตลอด ขณะเดียวกัน มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ประกอบด้วยสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ ได้แก่  1. ปลาหมอคางดำ Sarotherodon melanotheron (RÜppell,1852) 2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862) และ 3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881) ทั้งนี้ หากพบลอบเพาะเลี้ยงมีโทษปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี

ต่อมา ประกาศราชกิจจานุเบกษาในปี 2564 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ห้ามมีให้บุคคลใดเพาะเลี้ยง ซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย

โดยจากบัญชีท้ายประกาศ ประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่ 1. ปลาหมอคางดำ 2. ปลาหมอมายัน 3. ปลาหมอบัตเตอร์ 4. ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม 5. ปลาเทราท์สายรุ้ง 6. ปลาเทราท์สีน้ำตาล 7. ปลากะพงปากกว้าง 8. ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช 9. ปลาเก๋าหยก 10. ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ 11. ปูขนจีน 12. หอยมุกน้ำจืด 13. หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena ทั้งนี้ ห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำผิดซ้ำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท

 เนื้อปลาหมอคางดำรับประทานได้ การนำมาบริโภคประกอบอาหาร หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นหนึ่งในแนวทางลดปริมาณและควบคุมการระบาด


 -2-

เปิดปฏิบัติล่า-กำจัดให้สิ้นซาก 

ปัจจุบันปลาหมอคางดำได้แพร่ระบาดกระจายตัวในลุ่มน้ำหลายจังหวัดเป็นปัญหารุนแรง หน่วยงานเจ้าภาพ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ยกระดับสถาการณ์เป็น  “วาระแห่งชาติ” มีคำสั่งแต่งตั้ง  “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ”  เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

โดยมี  นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 1/2567 เบื้องต้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามาตรการการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร่งด่วน

รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอคางดำ ด้วยเรือประมงขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอส ติดอวนรุน ร่วมกับการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาด เพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติ

โดย กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดปฏิบัติการ  “การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ”  นำร่องจังหวัดต่างๆ อาทิ จ.สมุทรสงคราม จัดกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง ปราบปลาหมอคางดำ”, จ.นครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม  “ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ”  ฯลฯ วัตถุประสงค์เพื่อล่าปลาหมอคางดำขึ้นมาใช้ประโยชน์สร้างรายได้ การแปรรูปต่างๆ หรือจูงใจด้วยการรับซื้อ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยลดประชากรปลาหมอคางดำได้มากและรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะบริโภคในครัวเรือนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี “ปลาหมอคางดำ” สามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งทางการมีการประชาสัมพันธ์เสริมด้านการบริโภคเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา

“ปลาหมอคางดำ” รับประทานได้ สามารถประกอบอาหารได้สารพัดเมนูทีเดียว ยกตัวอย่างเมนูง่ายๆ “ปลาแดดเดียว” หากเป็นปลาไซส์เล็กต้องทอดให้กรอบสุดๆ ทั้งตัว แต่หากเป็นไซส์ใหญ่สามารถแล่เอาแต่เนื้อ ซึ่งปลาชนิดนี้แล่ไม่ยากเพราะก้างใหญ่ จากนั้นนำมาปรุงรสและทอดให้เหลืองกรอบ

หรือเมนู  “ปลาหวาน” โดยแล่เฉพาะเนื้อปลาออกมาหั่นเป็นเส้นๆ แล้วปรุงรสตามกรรมวิธีทำปลาหวานแล้วนำลงทอด เมนูนี้ได้รับเสียงยืนยันว่าอร่อยเหมือนปลาริวกิวหวานที่นิยมบริโภคกันเลยทีเดียว ยังมี “เมนูขนมจีนน้ำยาปลา”  และ  “แกงส้มปลา" ปลาหมอคางดำก็นำมาทำ 2 เมนูนี้ได้รสอร่อย รวมถึงของกินเล่นอย่า“ไส้อั่วปลา" และ  “ข้าวเกรียบปลา” ทั้งยังนำไปทำ “ปลาร้า”  และ  “น้ำปลา”  จะเห็นว่าปลาหมอคางดำที่สามารถรังสรรค์ได้หลากหลายเมนู

นอกเหนือจากการปรุงเป็นเมนูอาหารและขนมของกินเล่นแล้ว ในแง่คุณประโยชน์ปลาหมอคางดำยังนำขึ้นมาขายให้โรงงานปลาป่น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ สำหรับใช้รดต้นไม้ให้ดอกผลงดงามได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ราคาปลาหมอคางดำ (คละขนาด) ณ ปัจจุบัน หากยังไม่นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7-10 บาท/กก. สามารถจับขึ้นมาได้โดยไม่ต้องลงทุนเลี้ยง ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้สิ่งแวดล้อมในชุมชน ในส่วนปลาที่ถูกนำไปแปรรูปแล้ว เช่น ปลาแดดเดียวแบบทั้งตัวจะอยู่ที่ 80-90 บาท/กก. แต่ถ้าแล่เฉพาะเนื้อ จะอยู่ที่ 160 บาท/กก. สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ย้ำเตือนว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างมูลค่าให้ปลาหมอคางดำให้มีราคาสูงจนเกินเหตุ เพราะนั่นอาจทำให้เกษตรกรบางคนทำการลักลอบขยายพันธุ์ปลาจนเกิดภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะผิดเป้าประสงค์และเกิดหายนะของน่านน้ำตามมาอีกระลอกใหญ่

นโยบายจัดการปลาหมอคางดำในครั้งนี้ รัฐพยายามสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมไทย ช่วยกันจับ ช่วยกันกิน และช่วยกันใช้ ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ตามแผนของกรมประมง เช่น กิจกรรมลงแขกลงคลอง การปล่อยปลากะพง ปลาอีกงเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด พร้อมกับการประเมินสถานการณ์ปริมาณปลาดังกล่าว รวมถึงให้ความรู้เกษตรกรและชาวบ้านที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 สุดท้ายการระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” เป็นบทเรียนสำคัญของการรุกรานจากสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งการยกระดับการแก้ปัญหาเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ยังต้องติดตามกันว่าการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายหรือไม่?  


กำลังโหลดความคิดเห็น