xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (18) วังต้องห้ามองค์น้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
วังและพระที่นั่งองค์เล็กองค์น้อยในพระราชวังต้องห้ามจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ ถือเป็นวังที่มีเรื่องบอกเล่าอยู่ในตัว แต่ก็ยังมีวังและพระที่นั่งอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สู้มีบทบาทมากนัก อาจเป็นเพราะไม่มีเรื่องราวที่ชวนตื่นเต้นเร้าใจหรือมีสีสัน เมื่อเปรียบเทียบกับวังหรือพระที่นั่งจากที่กล่าวมาก็เป็นได้ ต่อไปนี้จะหยิบยกเอาเรื่องของวังอีกองค์หนึ่งมาบอกเล่า ด้วยถือเป็นวังในกลุ่มสุดท้ายแล้วก็ว่าได้

นั่นคือ  วังอายุมงคลวัฒนสันติ (หนิงโซ่วกง, Palace of Tranquil Longevity) 

 วังอายุมงคลวัฒนสันติหรือหนิงโซ่วกงนี้เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า วังบูรพานอก (Outer Eastern Palace) เป็นวังที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก (Rectangular in shape) โดยสร้างจำลองจากสามวังใหญ่กับสามพระที่นั่งใหญ่ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว วังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 46,000 ตารางเมตร 

อย่างไรก็ตาม หนิงโซ่วกงเป็นวังที่ถูกจัดวางไว้ตรงกลาง และแวดล้อมไปด้วยวังและพระที่นั่งซึ่งในที่นี้ได้เคยกล่าวไปแล้ว เช่น พระที่นั่งบรมจักรพรรดิราช (ฮว๋างจี๋เตี้ยน) หอรมณียสังคีต (ซั่งอินเก๋อ) อายุมงคลวัฒนสำราญสถาน (เล่อโซ่วถัง) และพระราชอุทยานเฉียนหลง (เฉียนหลงฮวาหยวน) เป็นต้น

จากเหตุนี้ หนิงโซ่วกงจึงมีฉายาว่า  “พระราชวังต้องห้ามองค์น้อยในพระราชวังต้องห้ามองค์ใหญ่” 

 หนิงโซ่วกงเป็นวังที่เกิดจากพระราชดำริของจักรพรรดิเฉียนหลง โดยเมื่อพระองค์ทรงเกษียณอายุราชการหลังจากครองราชย์มาได้ 60 ปีนั้น พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบด้วยการสวดมนตร์ภาวนาและนั่งสมาธิ และมิยินยอมที่จะปกครองให้ยาวนานเกินกว่าจักรพรรดิคังซีที่เป็นอัยกาของพระองค์ ที่ทรงครองราชย์ยาวนาน 61 ปี 

ดังนั้น ในปีที่เฉียนหลงทรงครองราชย์มาได้ 37 ปีใน ค.ศ.1722 พระองค์จึงทรงให้สร้างวังที่พระองค์จะสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุดังที่ตั้งพระทัยไว้ แต่ปรากฏว่าพระองค์กลับครองราชย์ได้ยาวนานกว่า 60 ปี จากเหตุนี้ พระองค์จึงทรงตั้งชื่อวังองค์นี้ให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับการมีอายุมั่นขวัญยืนและความโชคดีมีชัย และพระองค์ก็ทรงโชคดีมีชัยจริงๆ ด้วยพระองค์ทรงมีพระชนมายุถึง 89 ชันษา ซึ่งสูงกว่าจักรพรรดิทุกพระองค์ของราชวงศ์ชิง
แต่ในปี ค.ศ.1795 เมื่อทรงครองราชย์ได้ครบ 60 ปีแล้วนั้น เฉียนหลงก็ทรงเกษียณอายุราชการแล้วมอบตำแหน่งจักรพรรดิให้แก่โอรสของพระองค์ ที่ซึ่งต่อมาก็คือ จักรพรรดิเจียชิ่ง
แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วเฉียนหลงกลับยังคงใช้อำนาจอยู่เบื้องหลัง ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า  “ให้การสอนสั่งภายในครอบครัว” (giving family instruction)  โดยพระองค์จะทรงว่าราชการบนบัลลังก์ในหยั่งซินเตี้ยนหรือพระที่นั่งเกษตรารมณ์ ยังไม่กล้าที่จะให้เจียชิ่งตัดสินพระทัยในรัฐกิจใดๆ ข้างเจียชิ่งซึ่งทรงมีพระชนมายุ 36 ชันษาแล้วนั้น ก็จักต้องคอยให้เฉียนหลงเรียกใช้อยู่เสมอ

การที่เจียชิ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินพระทัยในรัฐกิจ ทั้งที่ทรงเป็นจักรพรรดิอย่างเป็นทางการและมีวัยไม่น้อยแล้วนั้น การกระทำของเฉียนหลงจึงสร้างความไม่พอใจให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก ตอนที่ทรงใช้อำนาจแทนพระองค์นั้น เฉียนหลงไม่เคยประทับในหนิงโซ่วกงเลย ทั้งๆ ที่ที่พระองค์ทรงดำริให้สร้างวังนี้ขึ้นด้วยพระองค์เองเพื่อใช้ชีวิตอย่างสงบหลังเกษียณ

จากเหตุนี้ เราจึงไม่รู้ว่าการสวดมนตร์ภาวนาและนั่งสมาธิที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้แต่แรกนั้น เอาเข้าจริงแล้วพระองค์ได้ถือปฏิบัติหรือไม่

แต่พลันที่เฉียนหลงสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1799 เจียชิ่งซึ่งได้เป็นจักรพรรดิเต็มตัวเสียที จึงไม่รอช้าที่จะเข้าจัดการปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาตลอดช่วงปลายรัชสมัยของเฉียนหลงทันที และหนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือ การใช้อำนาจบาตรใหญ่และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางชื่อ  เหอเซิน 

เหอเซิน (ค.ศ.1750-1799) ผู้ซึ่งกำพร้าแม่เมื่ออายุได้สามขวบและกำพร้าพ่อเมื่ออายุได้สิบขวบ ย่อมมีชีวิตในวัยเด็กที่โดดเดี่ยวยากเข็ญ แต่ก็ด้วยเหตุนั้นได้ทำให้เขาจำต้องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้ชีวิต ด้วยการมุมานะบากบั่นและตั้งใจเรียนจนอายุ 18 ปี จึงมีขุนนางผู้ใหญ่เห็นแววดีและพึงพอใจ แล้วยกบุตรสาวของตนให้แต่งงานด้วย ชีวิตของเขาจึงพลิกผันจากร้ายกลายเป็นดี

ชีวิตราชการของเหอเซินก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จนวันหนึ่งก็เป็นที่ต้องพระทัยของเฉียนหลง และให้เขาเข้ามาเป็นองครักษ์ประจำพระองค์ ด้วยความสุภาพอ่อนน้อม วาจาดี และมีไหวพริบปฏิภาณ ทำให้เขากลายเป็นขุนนางคนโปรดของเฉียนหลงไปในที่สุด

แต่จะด้วยเหตุใดก็ตามที จากนั้นมาเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจากขุนนางที่เคยประกาศตนว่าจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มาเป็นขุนนางที่ฉ้อฉลในทุกทางที่มีโอกาส โดยอาศัยความไว้วางใจที่เฉียนหลงทรงมีให้กับเขาเป็นที่ตั้ง

 ว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเฉียนหลงทรงขับเสมหะกะทันหันนั้น เหอเซินก็ไม่รอให้ขันทีถวายพระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ให้พระองค์ เขารีบยื่นมือไปรับเสมหะของพระองค์ทันที และจากการอาศัยความเป็นคนโปรดด้วยการกระทำเช่นนี้เอง เหอเซินได้ทำการฉ้อฉลผ่านการรีดไถ การติดสินบน และปล้นสะดมอย่างเปิดเผย จนสามารถสะสมทรัพย์สินเงินทองเอาไว้ได้มากมาย 

เหตุดังนั้น หลังจากเฉียนหลงสิ้นพระชนม์ และเจียชิ่งได้เป็นจักรพรรดิที่มีอำนาจเต็ม และทรงรู้ถึงพฤติกรรมของเหอเซินเป็นอย่างดีก็เข้าจัดการกับเขาทันที พระองค์ทรงประกาศความผิดของเขาพร้อมสั่งให้ประหารชีวิตและยึดทรัพย์

 ผลของการยึดทรัพย์พบว่า เหอเซินมีที่ดินราว 800,000 หมู่หรือราว 400,000 ไร่ โรงรับจำนำ 75 แห่ง บริษัทการเงิน 42 แห่ง ร้านขายเครื่องลายคราม 13 แห่ง สวนดอกไม้บนตึกสูง 106 แห่ง ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมเงินทองของมีค่า เสื้อผ้าแพรพรรณ เครื่องตกแต่งกับเครื่องประดับ ที่เมื่อคำนวณแล้วจะมีมูลค่าสูงถึง 800 ล้านตำลึง หรือราวๆ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน  

ทรัพย์สินเหล่านี้ถูกสะสมผ่านการฉ้อฉลตั้งแต่ ค.ศ.1775-1799 แต่ทรัพย์สินที่ถูกยึดทั้งหมดนี้มิได้ตกเป็นของหลวง หากแต่ตกเป็นของเจียชิ่งแทบทั้งหมด โดยพระองค์ทรงแบ่งทรัพย์ที่ยึดได้ให้แก่ขุนนางคนสนิทจำนวนหนึ่ง ที่เหลือจึงยึดเอาไว้เป็นของพระองค์
 
 การกระทำของเจียชิ่งได้กลายเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เหอเซินล้มลง เจียชิ่งอิ่มหนำ” (和珅跌倒,嘉庆吃饱 อ่านว่า เหอเซินเตียเต่า เจียชิ่งชือเป่า) 

จะเห็นได้ว่า เฉียนหลงซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจักรพรรดิที่ทรงสร้างจีนให้เจริญรุ่งเรืองในยุคหนึ่งนั้น แต่ในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์กลับปล่อยให้จีนเสื่อมถอยไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะกองทัพจีนที่เรียกว่า “ทัพแปดกองธง” นั้น ได้ก้าวสู่ความไร้ศีลธรรมในการใช้ชีวิต ไร้ระเบียบวินัย การฝึกซ้อมก็หย่อนยานจนขาดจิตวิญญาณของความเป็นนักสู้ การป้องกันชายแดนก็ถูกละเลย

ครั้นเกิดสงครามฝิ่น (ค.ศ.1839-1842) จีนจึงรบแพ้อังกฤษอย่างย่อยยับและน่าอัปยศอดสู


กำลังโหลดความคิดเห็น