ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อน หลัง “Robinhood” ผู้เล่นดาวเด่นในสมรภูมิธุรกิจ “Food Delivery” ที่กำลังได้รับความนิยม ประกาศ “ปิดตัว” หลังขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี เฉียด 5.6 พันล้าน ก็คือตลาด Food Delivery นับจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร เพราะเห็นกันชัดๆ ว่า อยู่ในช่วง “ขาลง”
ปี 2567 สมรภูมิธุรกิจ Food Delivery ตลาดบริการส่งอาหารยังคงแข่งขันกันดุเดือด โดยมี 4 แพลตฟอร์มยักษ์ “Grab - LINE MAN FoodPanda และ Robinhood” ห้ำหั่นกันท่ามกลางปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจากการเผาเงินไปกับการทำการตลาด รวมทั้งผลกระทบจากปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ลดลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
แต่แล้วผู้เล่นดาวเด่น อย่าง “Robinhood” ที่กำลังได้รับความนิยมกลับประกาศปิดตัว โดยทาง “บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน)” หรือ “SCBX” ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปฯ “Robinhood” หลังจากประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง 4 ปี รวมกันสูงถึง 5,565 ล้านบาท
ตามข้อมูลระบุว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ กลุ่ม SCBX มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยเหตุผลว่าแอปฯ Robinhood ได้ดำเนินตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมสำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว
การเกิดขึ้นของ Robinhood เริ่มดำเนินการในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่าต้องการช่วยเหลือสังคม เป็นความตั้งใจที่อยากให้คนไทยมีค่าครองชีพถูกลง โดยเฉพาะในเรื่องการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ที่มีความจำเป็นและมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่จากกลุ่ม SCBX
ดังนั้น Robinhood จึงไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) เท่ากับว่าร้านอาหารจะได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ รวมถึงยังช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย เรียกว่าเป็นโครงการ CSR ของกลุ่ม SCBX เพื่อคืนกำไรให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อ คนขาย และคนส่งสินค้า จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม ทั้งนี้ เมื่อวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้นไปและธุรกิจต่างๆ เข้าสู่สภาวะปกติ แอปฯ Robinhood จึงตัดสินใจยุติบทบาทลง
สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ปี ของ “Robinhood” พบว่า ปี 2563 รายได้รวม 81,549 บาท ขาดทุนสุทธิ 87,829,231 บาท, ปี 2564 รายได้รวม 15,788,999 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337 บาท, ปี 2565 รายได้รวม 538,245,295 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776 บาท และ ปี 2566 รายได้รวม 724,446,267 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184 บาท
โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา บ.เพอเพิลฯ มีผลขาดทุนสะสมกว่า 5,565,769,528 บาท ทั้งนี้ การยุติการให้บริการ Robinhood ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะช่วยลดผลขาดทุนให้กับทาง SCB ได้ประมาณ 1 พันบาท
ขณะที่ผู้เล่นหลักในตลาด Food Delivery เมืองไทย มีเพียงรายเดียวที่คืนทุนและทำกำไรแล้วตามของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ “Grab” ภายใต้การดำเนินงานของ “บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด”
กล่าวคือปี 2563 มีรายได้ 4,890,633,384 บาท มีผลขาดทุน 284,280,850 บาท, ปี 2564 มีรายได้ 11,375,559,973 บาท มีผลขาดทุน 325,252,107 บาท, ปี 2565มีรายได้ 15,197,479,521 บาท มีกำไร 576,134,254 บาท และ ปี 2566 มีรายได้ 15,622,426,576 บาท มีกำไร 1,308,464,289 บาท
ขณะที่ “LineMan” ภายใต้การดำเนินงานของ “บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด” ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 2 พบว่างบกำไรขาดทุน ปี 2563 มีรายได้ 1,066,371,911 บาท มีผลขาดทุน 1,114,666,254 บาท, ปี 2564 มีรายได้ 4,140,036,366 บาท มีผลขาดทุน 2,386,522,457 บาท, ปี 2565 มีรายได้ 7,802,774,764 บาท มีผลขาดทุน 2,730,849,262 บาท และปี 2566มีรายได้ 11,634,419,745 บาท มีผลขาดทุน 253,806,613 บาท
สำหรับรายได้ของ บ.ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปี 2566 มีรายได้กว่า 11,600 ล้านบาท และปี 2566 มีผลขาดทุนลดลงเหลือ 253 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีผลขาดทุนมากถึง 2,730 ล้านบาท
ด้าน “Foodpanda” ภายใต้การดำเนินงานของ “บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด” ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 งบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 4 ปี พบว่า ปี 2563 มีรายได้ 4,375,128,919 บาท มีผลขาดทุน 3,595,901,657 บาท, ปี 2564 มีรายได้ 6,786,566,010 บาท มีผลขาดทุน 4,721,599,978 บาท, ปี 2565มีรายได้ 3,628,053,048 บาท มีผลขาดทุน 3,255,107,979 บาท และปี 2566 มีรายได้ 3,843,303,372 บาท มีผลขาดทุน 522,486,848 บาท
สำหรับรายได้ของ บ.เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.93% จากปี 2565 ขณะที่ผลขาดทุนลดลงเหลือ 522 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาด Food Delivery ปี 2567 อยู่ที่ 8.6 ล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้เทรนด์การสั่งอาหารผ่านแอปฯ มีทิศทางที่ชะลอลง แต่สมรภูมิธุรกิจ Food Delivery ยังดำเนินแข่งขันกันดุเดือด ท่ามกลางปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจากการเผาเงินไปกับการทำการตลาด เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดให้เร็วและมากที่สุด รวมทั้ง ผลกระทบจากปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ลดลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์มูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2567 อยู่ในภาวะซบเซา แม้ว่าราคาเฉลี่ยต่อครั้งจะเพิ่มขึ้น 2.8% เป็น 185 บาท แต่จำนวนครั้งและปริมาณการสั่งอาหารกลับลดลง สวนทางกับราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery น่าจะลดลงประมาณ 3.7 % จากปี 2566 สาเหตุมาจาก
1. ความจำเป็นในการสั่งผ่านแอปฯ ลดลง ผู้บริโภคกลับไปทานอาหารที่ร้าน ตามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ตามปกติ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ระบุว่ายังมีการใช้บริการ Food Delivery แต่ 48% ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะสั่งอาหารน้อยลง ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าสมัครใหม่ชะลอลง เพราะส่วนใหญ่เข้าถึงการใช้บริการ Food Delivery นี้มากพอสมควรแล้ว
2. ราคาอาหารเฉลี่ยในแอปฯ ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อปริมาณการสั่ง ซึ่งเป็นผลมาจาก ต้นทุนสะสมที่สูงทำให้ร้านอาหารต้องปรับราคาขึ้นทั้งหน้าร้านและในแอป อาทิค่าสาธารณูปโภค ค่าแรง ค่าวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงิน ปรับตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหาร อย่างไรก็ตาม ปี 2567 คาดว่าราคาอาหารเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% ต่อเนื่องจากราคาเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 5.7% ในปี 2566
และ 3. การแข่งอัดโปรโมชั่นจากแพลทฟอร์มผ่อนลงจากก่อนนี้ที่แพลตฟอร์มหันมาเน้นสร้างกำไร แต่ส่วนใหญ่บันทึกขาดทุนสะสม ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Food Delivery ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความยืดหยุ่นในการทำตลาดด้วยการลดค่า GP (ค่าเฉลี่ย GP จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 30%) รวมถึงส่วนลดในค่าจัดส่งมีข้อจำกัด
สถานการณ์ปัจจุบันผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Food Delivery หันมาปรับกลยุทธ์ ขยายฐานลูกค้าด้วยการเพิ่มพื้นที่บริการในต่างจังหวัดตามเมืองท่องเที่ยวที่เมืองรอง การขยายฐานแหล่งรายได้ใหม่ เช่น เพิ่มส่วนลดการบริการเรียกรถ ส่วนลดนั่งทานอาหารในร้านที่เป็นพันธมิตร การสร้างพันธมิตรข้ามธุรกิจ หรือมีการทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (Selective Marketing) มากกว่าการทำตลาดในวงกว้างอย่างที่ผ่านมา
อาทิ ทำตลาดร่วมกับร้านอาหารที่ได้รับความนิยมหรือมีการสั่งซื้อสูง ผ่านการจัดแคมเปญส่วนลดค่าอาหารเมื่อซื้อครบตามที่กำาหนด รวมถึงการใช้รูปแบบ Subscription Model ซึ่งช่วยให้ผู้สั่งประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดหรือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอื่นในแอปพลิเคชั่น เช่น Ride Hailing และจัดส่งพัสดุตามแพคเกจ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ส่วนอนาคตของธุรกิจ Food Delivery ในประเทศไทย นับป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย แม้ว่าปี 2567 อาจมีการชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ แพลตฟอร์มต่างๆ ยังสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปยังเมืองรองและพื้นที่ห่างไกลเพื่อขยายฐานลูกค้าได้อีกด้วย
สุดท้าย “ผู้เล่น” ในตลาด Food Delivery ที่ปรับตัวได้ดีและนำเสนอบริการที่โดนใจผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็น “ผู้ชนะ” ในสมรภูมิเดือดแห่งนี้