xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (17) บทบาทของหกวังบูรพา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จิ่งหยังกงหรือวังบรมบรรเจิด
 
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า หกวังบูรพาประกอบไปด้วยจิ่งเหญินกงหรือวังบรมเมตต์ (Palace of Great Benevolence) เฉิงเฉียนกงหรือวังสวรรค์การุณย์ (Palace of Celestial Favor) หย่งเหอกงหรือวังบรรสานนิรันดร์ (Palace of Eternal Harmony) จงชุ่ยกงหรือวังสารจิตต์ (Palace of Cherishing Essence) จิ่งหยังกงหรือวังบรมบรรเจิด (Palace of Great Brilliance) และเอี๋ยนสี่กงหรือวังนำสุข (Palace of Usher Happiness) นั้น ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงบทบาทของวังบางองค์ของหกวังประจิมเป็นลำดับไป

 เริ่มจากจิ่งหยังกงหรือวังบรมบรรเจิด วังนี้ถือเป็นหอสมุดตลอดราชวงศ์ชิง กล่าวกันว่า จักรพรรดิคังซีและเฉียนหลงมักจะเสด็จมาทรงพระอักษรที่วังนี้ โดยในสมัยเฉียนหลงนั้น พระองค์ทรงเรียกวังนี้ว่า “หอกวีสิกขา” (Learning Poetry Chamber) ทั้งยังทรงเขียนคำเรียกนี้ด้วยพู่กันจีนประดับไว้ในห้องนี้ด้วย  

ปัจจุบันนี้จิ่งหยังกงมิได้แสดงบทบาทดังกล่าวแล้ว แต่ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการงานศิลปะและงานฝีมือที่รังสรรคขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง งานเหล่านี้ประกอบด้วยงานไม้แลกเกอร์ เครื่องหยก เครื่องแก้ว เครื่องโลหะ เครื่องไม้ไผ่ เครื่องไม้ และเครื่องงาช้าง งานศิลปะและงานฝีมือเหล่านี้จะทำให้เห็นถึงฝีมือของช่างศิลปหัตถกรรมในสองยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

 ถัดมาคือ จิ่งเหญินกงหรือวังบรมเมตต์ วังนี้ใช้เป็นที่ประทับของเหล่านางในในสมัยหมิงและชิง แต่ปัจจุบันนี้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเครื่องสำริดกว่า 500 ชิ้น ชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดสามารถย้อนกลับไปถึงสมัยราชวงศ์ซัง (ประมาณ ก.ค.ศ.1600-1100) จนถึงยุครัฐศึก (ก.ค.ศ.475-221)  

การจัดแสดงเช่นนี้ทำให้เห็นว่า เครื่องสำริดของราชวงศ์ซังกับราชวงศ์โจวไม่เพียงจะแตกต่างกันในแง่รูปลักษณ์เท่านั้น หากยังแตกต่างกันในแง่ของการใช้งาน และการครอบครองตามฐานะทางสังคมของชนแต่ละชั้นอีกด้วย เช่น ในยุครัฐศึกที่รัฐสิบกว่ารัฐทำศึกกันอย่างต่อเนื่องนั้น เครื่องสำริดเหล่านี้จะถูกผลิตให้เป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นและอาวุธเป็นหลัก เป็นต้น

 ต่อไปคือ เฉิงเฉียนกงหรือวังสวรรค์การุณย์และหย่งเหอกงหรือวังบรรสานนิรันดร์ แต่เดิมวังทั้งสองนี้ใช้เป็นที่ประทับของเหล่านางในเช่นกัน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นหอจัดแสดงนิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาไปแล้ว เครื่องปั้นดินเผาในหอนี้มีอยู่ราว 700 ชิ้น และมีตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผาในยุคหินใหม่ (Neolithic) จนถึงราชวงศ์ชิง  

จุดเด่นของนิทรรศการในหอนี้ก็คือ การทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาในจีน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละก้าวย่างของกาลเวลาอย่างไรบ้าง คือเห็นกันตั้งแต่ยุคโบราณเมื่อราว 6,000 ปีก่อนที่เริ่มมีการลงสีกันแล้ว และพอถึงเมื่อราว 5,000 ปีก่อนเครื่องปั้นก็เริ่มบางลง ซึ่งทำให้เห็นถึงฝีมือของช่างที่ได้รับการพัฒนาจนมีฝีมือที่ประณีตมากขึ้นตามกาลเวลา

ตราบจนกระทั่งในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ก็มีการวาดลงสีเป็นสามสีหลัก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาของราชวงศ์นี้ นอกจากนี้ ก็ยังมีงานชิ้นเอกในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ที่โดดเด่นในเรื่องของความบอบบาง ซึ่งช่างศิลป์จะต้องมีฝีมือที่สูงยิ่ง

นอกจากนี้ ก็ยังได้จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งผลิต  จิ่งเต๋อเจิ้น  ที่มีชื่อเสียงของจีนอีกด้วย จิ่งเต๋อเจิ้นในปัจจุบันถือเป็นหน่วยปกครองระดับเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจียงซี โดยทางเหนือของเมืองนี้มีพรมแดนที่ติดกับมณฑลอันฮุย เครื่องปั้นดินเผาของเมืองนี้มีชื่อเสียงยาวนานนับพันปีมาแล้ว จนได้รับฉายาว่า  “นครเครื่องปั้นเดินเผา”  

ด้วยถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีที่สุดในแผ่นดินจีน

 จงชุ่ยกงหรือวังสารจิตต์
เมืองนี้มีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาตั้งเมื่อ ก.ค.ศ.600 และพอถึงสมัยจักรพรรดิซ่งเจินจง (ค.ศ.968-1022) แห่งราชวงศ์ซ่ง เมืองนี้จึงถูกยกระดับให้เป็นเมืองแห่งเครื่องปั้นดินเผาจนเป็นที่รู้กัน จนเมื่อราว 1,400 ปีก่อนจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดของจีนเรื่อยมา

ครั้นถึงราชวงศ์หมิง เครื่องปั้นดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้นก็ถูกจักรพรรดิเข้ามาควบคุมดูแลโดยตรง และให้ถือว่าเครื่องปั้นดินเผาของเมืองนี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาประจำราชสำนัก แต่นั้นมาเครื่องปั้นดินเผาจากจิ่งเต๋อเจิ้นก็ถูกใช้เป็นของขวัญประจำราชสำนัก ที่จักรพรรดิจะทรงพระราชทานให้แก่บุคคลเนื่องในโอกาสต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงในวังนี้จึงเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ตกทอดมาจากยุคสมัยดังกล่าว

 วังต่อมาคือ จงชุ่ยกงหรือวังสารจิตต์ วังนี้เป็นที่ประทับขององค์รัชทายาทในสมัยราชวงศ์หมิง พอถึงราชวงศ์ชิงก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นที่ประทับของนางใน ปัจจุบันนี้ถูกใช้เป็นหอนิทรรศการประจำที่ (Exhibition Hall of Stationary) ที่จัดแสดง “สี่ขุมทรัพย์แห่งการศึกษา” (Four Treasures of Study) ของจีนอันประกอบไปด้วยพู่กันจีน แท่งหมึก กระดาษซวน (ซวนจื่อ) และแท่นหมึก ซึ่งถือเป็น “ขุมทรัพย์” ที่เป็นภูมิปัญญาจีนโดยตรงมานานนับพันปี 

อนึ่ง กระดาษซวนหรือซวนจื่อ (宣紙) เป็นกระดาษที่มาจากภูมิปัญญาจีนโดยแท้ เป็นกระดาษที่จีนนำมาเขียนภาพและหนังสือมายาวนานนับพันปี กระดาษซวนมีคุณสมบัติที่บางเบา แต่มีเนื้อกระดาษที่ซับหมึกได้ดี โดยหมึกจะไม่ซึมกระดาษจนทำให้ตัวอักษรหรือภาพที่เขียนแตกกระจาย

กระดาษซวนถูกกล่าวถึงครั้งแรกๆ ในหนังสือเรื่อง  บันทึกภาพเขียนนามอุโฆษในอดีต (Notes of Past Famous Paintings) และ สมุดใหม่แห่งถัง (New Book of Tang)  เอกสารทั้งสองกล่าวว่า กระดาษซวนมีกำเนิดในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) โดยเมืองที่ให้กำเนิดกระดาษนี้คือ  อำเภอจิง (จิงเสี้ยน)  ในจังหวัดซวน (ซวนโจว) จนเป็นที่มาของคำเรียกกระดาษนี้ในเวลาต่อมา

กระดาษซวนนี้ผลิตจากใยของใบกัญชง (ซึ่งจีนนำใยนี้มาผลิตกระดาษตั้งแต่แรกที่กระดาษถูกคิดค้นแล้ว) ใบนี้มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Hemp และมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa โดยผู้ผลิตจะนำมาผสมกับใยของมัลเบอร์รี่ การผลิตกระดาษซวนได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ จนมีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยมา และเป็นที่นิยมของบรรดาศิลปินทางด้านภาพเขียนและตัวอักษรพู่กันจีนอย่างกว้างขวาง

กล่าวกันว่า ภาพเขียนและศิลปะตัวอักษรจีนในอดีตที่ตกทอดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเพราะเขียนลงบนกระดาษซวน เพราะด้วยคุณสมบัติหรือคุณภาพที่ดีของกระดาษซวน จึงมีส่วนอย่างมากที่ช่วยรักษาให้งานศิลปะเหล่านี้ตกทอดมาให้คนรุ่นปัจจุบันได้ยลโฉม

และจากคุณสมบัติที่วิเศษของกระดาษซวนนี้เอง ที่ทำให้กระดาษซวนได้รับรางวัลชนะเลิศในงานเอ็กซโปนานาชาติปานามา (Panama International Exposition) เมื่อ ค.ศ.1915

อย่างไรก็ตาม หกวังบูรพาจากที่กล่าวมานี้ ได้เคยกล่าวด้วยว่า ยังมีวังอีกองค์หนึ่งที่มิได้จัดอยู่ในหกวังคือ วังไจกงหรือวังข่มจิต (Palace of Abstinence)แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่วังนี้ก็จัดว่ามีความสำคัญอย่างไม่น้อย เพราะเป็นวังที่จักรพรรดิจักต้องเข้ามาประทับด้วยการงดเว้นการเสวยเนื้อสัตว์เป็นเวลาสองคืน ก่อนที่จะเสด็จไปในการราชพิธีบูชาฟ้าดิน อันเป็นราชพิธีที่มีวาระที่ถูกกำหนดเอาไว้แน่นอน และจะมีแต่จักรพรรดิเท่านั้นที่จักประกอบราชพิธีนี้ได้

วังนี้จึงมีชื่อที่พิสดารแตกต่างไปจากวังอื่นๆ ว่า “ข่มจิต”


(ภาพจาก
故宫博物院)



กำลังโหลดความคิดเห็น