xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีลลับ? “ต่อ-โจ๊ก” ซอฟต์แลนดิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความจริงก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายสำหรับการเซ็นคำสั่งให้ “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” กลับไปนั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ดังคำให้สัมภาษณ์ยืนยันแบบเป็นทางการของ “นายวิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567
 
เพราะก่อนหน้านี้ 1 วันก็มีร่างหนังสือคำสั่งของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่มีการลงนาม หรือเลขคำสั่งอย่างเป็นทางการ โผล่ให้เห็น ราวกับต้องการจะบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไรอย่างนั้น

ขณะที่ในส่วนของ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” สรุปสั้นๆ ว่า ส่งกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว ทว่า จากถ้อยแถลงจะเห็นว่า มีแง่มุมทางกฎหมายที่ต้องขีดเส้นใต้อยู่ไม่น้อยไม่เช่นนั้นคงไม่ใช้บริการ “นักกฎหมายตัวพ่อ” อย่างนายวิษณุให้มาอรรถาธิบาย ซึ่งคงต้องลงรายละเอียดลึกลงไปว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ นายวิษณุสรุปใจความสำคัญของคณะกรรมการสอบทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายกรณี “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” และ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ที่แต่งตั้งโดย “นายกฯ นิด” และมี “นายฉัตรชัย พรหมเลิศ” เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลา 4 เดือนได้ 5 ข้อดังนี้

หนึ่ง-ผลการตรวจสอบพบมีความขัดแย้ง และความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นจริง มีความขัดแย้งในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูง กลาง เล็ก ทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ กลายเป็นคดีความ เรื่องร้องเรียนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สอง-เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวพันกับบุคคล 2 คน คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทีมงานก็พลอยเกิดความขัดแย้งไปด้วย คดีที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้ ก็คือคดี 140 ล้าน หรือคดีเป้รักผู้การฯ เท่าไหร่ คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค มีคดีย่อยอีก 10 กว่าคดีตาม สน.ต่างๆ และในศาลคดีอาญาทุจริต ภาค 7 และส่วนกลาง ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด บางเรื่อง 10 ปีมาแล้ว จนเกิดเป็นคดีเหล่านี้ขึ้นมา

สาม-เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้หน่วยงานยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล
สี่-บางเรื่องเกี่ยวกับองค์กรอิสระ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการแล้ว คดีทั้งหมดมีเจ้าของรับดำเนินการแล้ว ไม่มีคดีตกค้างที่ ตร. แต่อาจมีตกค้างที่ สน. มีดีเอสไอ ป.ป.ช.
 
และห้า-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อได้รับคำสั่งให้กลับรับราชการตั้งแต่ 18 เมษายน 2567 หลังจากคำสั่งช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 20 มีนาคม 2567 โดยในวันที่ 18 เมษายนวันเดียวกัน มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อนด้วย
 
ขณะที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังไม่ได้กลับ จึงเห็นควรส่งกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม เพราะไม่มีอะไรสอบสวนอีกแล้ว ให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามเดิม ส่วนคดีความก็ดำเนินไปตามสายงาน
 
“กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า เป็นการกระทบสิทธิของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องทำโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงแนะนำให้ไปแก้ไขให้ถูกต้อง สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการนำกราบบังคมทูลฯ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องตรวจสอบว่าถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายหรือไม่

“การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่เคยเป็นมาในอดีต เป็นการสั่งตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ แต่ พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มบทบัญญัติในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องกระทำโดยคำแนะนำหรือการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน”นายวิษณุแจกแจงกรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ในแง่มุมของกฎหมาย

ทว่า สิ่งที่นายวิษณุรู้แต่อาจไม่พูดก็คือ มติของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเพียงแค่ “ความเห็น” มิได้มีผลบังคับทางกฎหมายแต่ประการใด ทว่า เมื่อนายวิษณุหยิบยกมาเอ่ยถึงย่อมเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามได้ในฐานะที่ปรึกษาของนายเศรษฐ ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ผู้ที่จะต้องปวดขมับก็คือ “บิ๊กต่าย-พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์” รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นคนลงนามในคำสั่ง เพราะจะว่าไปก็มีโอกาสที่ “บิ๊กต่าย” จะเผชิญวิบากกรรมทางคดีอยู่ไม่น้อย

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่า เจ้าตัวน่าจะยืนยันอย่างที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการออกคำสั่งทุกขั้นตอนอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ รักษาการผบ.ตร.โดยได้ยึดถือตามกฎหมาย และเป็นไปตาม กฎ ก.ตร.ตามข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรืออคติใด ๆ

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นหลังนายวิษณุแถลงก็คือ แล้วคำสั่งที่ย้ายทั้ง “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ทำไปเพื่อ “วัตถุประสงค์” ประการใด แค่ลดความร้อนแรงของสถานการณ์เฉพาะหน้าแค่นั้นหรือ เพราะสิ่งที่นายวิษณุบอกกล่าวเล่าสิบ สาระสำคัญก็คือ ให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามกระบวนการที่มีอยู่ ไม่ได้แตะต้องรายละเอียดในคดีของทั้งสองบิ๊กแต่อย่างใด

ดังนั้น ถ้าหาก “ถอดรหัส” จากสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่า มีประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้ ทั้งในส่วนของ “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” รวมถึงอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ด้วยน่าจะมี “เงื่อนปม” อะไรที่มากไปกว่านั้น

ที่สำคัญคือ สังคมมีสิทธิตั้งข้อสงสัยว่า จะมี “ดีลลับ” หรือ “ดีลพิเศษ” หรือไม่อย่างไร เพราะเส้นเรื่องที่ออกมาดำเนินไปในแนวที่ทำท่าว่าจะจบในลักษณะของ “Soft landing” เสียด้วยซ้ำไป

แต่ที่แน่ๆ คือหลังการแถลงข่าวของ “นายวิษณุ” ก็มีความเคลื่อนไหวจาก “มุ้งหวานเจี๊ยบ” โดย “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” ที่ออกมากล่าวถึงเรื่อง “ดีลลับ”


ทนายตั้มเปิดเผยในบางช่วงบางตอนว่า “เคยได้รับการติดต่อจากนักการเมืองระดับผู้ใหญ่ที่ตนนับถือมาเสนอดีลลับ ที่จะให้หยุดการดำเนินคดีต่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เพื่อแลกกับการที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้กลับมาดำรงแหน่งเดิม นอกจากนี้ตนได้ข้อมูลมาว่าการที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ รีบกลับมาดำรงตำแหน่งนั้น เนื่องจากมีภารกิจใหญ่ในเดือนกรกฎาคม คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จภารกิจดังกล่าวจะลาออก และจะได้รับการดูแลคาดว่าเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งตนได้ปฏิเสธดีลนี้ไปแล้ว”

การออกมามาเปิดเผยเรื่อง “ดีลลับ” ของ “ทนายตั้ม” เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป เพราะแม้จะออกมาปฏิเสธว่า ดีลลับไม่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับ “การออกตัว” อย่างไรอย่างนั้น

และว่ากันตามท้องเรื่อง ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องชั้นเดียวเชิงเดียวอย่างที่ปรากฏเบื้องหน้าแน่นอน

สำหรับทางด้าน “พล.ต.อ.ต่อศักด์” เรื่องที่ต้องติดตามก็คือ การส่งกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอะไรมากไปกว่า การกลับมาดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” เพื่อรอวันเกษียณในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้หรือไม่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า นับจากนี้จะมีการยกเลิกคำสั่งที่ 178 / 2567 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกราชการไว้ก่อน

และคนที่จะยกเลิกคำสั่งจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์”

และเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะจะมีผลต่อคำสั่งให้ออกจากราชการดังที่นายวิษณุอรรถาธิบายเอาไว้

สมมติว่า มีการยกเลิกคำสั่งให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกจากราชการไว้ก่อน ก็แปลว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” คือ “รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ตามเดิม และเป็นรอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสเป็นอันดับหนึ่งอีกต่างหาก ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้รับเลือกเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” มีเปอร์เซ็นต์สูงตามไปด้วย

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเป็นกรณีพิเศษก็คือ การที่ “นายวิษณุ” ตอบคำถามเรื่องพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีสิทธิลุ้น ผบ.ตร.อีกหรือไม่ว่า “มีได้ เพราะมีกฎหมายตำรวจถ้าข้าราชการคนนั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดยเรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. ไม่ให้เอามาเป็นเหตุสกัดกั้นขึ้นตำแหน่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น “นายวิษณุ” ยังแจกแจงเป็นพิเศษโดยยกตัวอย่างให้เห็นกับกรณี “นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ตำรวจ ปปป.ไปจับเงินคาลิ้นชัก 5 ล้านบาท ตอนนั้นคนบอกหลักฐานชัดให้ออกราชการเลย แต่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงทรัพย์แม่นกฎหมาย เพราะคนที่ถูกจับอาจบอกว่า เงิน 5 ล้านเป็นกฐินก็ได้ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) บอกว่าหลักฐานชัดขนาดนั้นให้ออกได้ ต่อมา ปลัดกระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการสอบ ปรากฏว่ามีมูล จึงให้ออกราชการไว้ก่อน

“นายกฯ ขอให้ 2 ฝ่ายปรองดองในราชการ ส่วนตัวก็ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ก็ว่ากันไป แต่งานราชการก็ต้องไม่ให้เกิดความเสียหาย”นายวิษณุกล่าวออกมาชนิดที่หลายคนต้องกลับไปอ่านซ้ำหลายครั้ง

สิ่งที่ต้องจับตาประการถัดมาก็คือ เมื่อกลับมาแล้ว “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” จะอยู่ต่อในเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจนเกษียณ หรือจะตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อให้เรื่องทั้งหลายทั้งปวงจบแบบ “สวยๆ” ส่วน “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ในฐานะรองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ก็จะรักษาราชการไปก่อนจนกว่าจะมี “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” พร้อมกับยิ้มอ่อนๆ ด้วยความหวังที่ใกล้เป็นจริงทุกที




ถ้ามี “ดีล” ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงตามเสียงร่ำลือที่เกิดขึ้น ก็ต้องถามว่า “ใคร” คือผู้ทำให้เกิด “ดีล”

เป็น “ดีล” ที่หวังผลในเรื่องการเมืองพื้นที่ภาคใต้ หรือไม่ อย่างไร ด้วยเชื่อมั่นถ้าช่วยให้พ้นมลทินและกลับไปเป็นใหญ่ คงรับใช้แบบถวายหัวเป็นแน่แท้

“ใคร” ที่ว่านั้น มีความเชื่อมโยงกับ “บ้านใหญ่” ที่กำลังมีอำนาจวาสนาทางการเมืองในเวลานี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะเข้าหามาอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่า มีการย้ายค่ายจาก “บ้านในป่าฯ” ไป “บ้านจันทร์ฯ” เป็นแน่แท้ ซึ่งนั่นก็เป็น “ดีลงูเห่า” ที่เกิดขึ้นในยามที่อำนาจวาสนาของ “บ้านในป่าฯ” อ่อนระโหยโรยแรงลงไปแต่เก่าก่อนมาก

ทว่า เมื่อเปลี่ยนค่ายได้ครั้งหนึ่ง ก็ต้องไม่ลืมว่า ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เนื่องจากสายสัมพันธ์อันหวานเจี๊ยบนั้น ยังโยงใยไปถึง “พรรคส้ม” จนมีข้อมูลหลุดไปให้แฉหลายครั้ง

ก็ไม่รู้ว่า “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของ “พรรคเพื่อไทย” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวเพื่อให้มาต่อสู้คดีกระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ในฐานะอดีตตำรวจและอดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องกลับมาประเด็นที่ว่า เรื่องคดีความของ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” และ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะคงจะพิสดารพันลึกมากถ้าจะเลิกแล้วต่อกันไปเฉยๆ ด้วยสังคมและประชาชนต้องการคำถามว่า ที่สาวกันไปสาวกันมาว่าไปรับเงินรับทองจากเว็บพนันออนไลน์นั้น เท็จจริงเป็นอย่างไร

และสุดท้าย ก็กลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมขององค์กรตำรวจที่ไม่ได้รับการคลี่คลายเหมือนเช่นเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่มาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของหน่วยงานแห่งนี้.




กำลังโหลดความคิดเห็น