ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเทศไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ขณะเดียวกัน มีการปรับหลักการ “กฎหมายฟ้องชู้” ให้ครอบคลุมสิทธิสอดคล้องสมรสเท่าเทียม เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่น่าจับอย่างที่สุด เพราะ LGBTQIA+ จัดเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง คาดเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...” หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” หลังจากนั้นร่างกฎหมายฯ จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน
อย่างไรก็ดี ไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชีย ที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ต่อจากประเทศเนปาล และไต้หวัน โดยนับเป็นประเทศที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายรองรับดังกล่าว หลังจากเมื่อ 1 เมษายน 2544 เนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเป็นประเทศแรกของโลก
นัยหนึ่งเป็นการแสดงจุดยืนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญในสร้างความเท่าเทียมในสังคม เชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่พึงได้รับอย่างเสมอภาค ทุกเพศสภาพ เพศวิถี มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ถือเป็นก้าวแรกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีและภริยา” เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยกำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนการหมั้น กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเป็นเพศใดสามารถหมั้นกันได้ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น รวมถึงกรณีคู่สมรสเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก การแบ่งทรัพย์มรดกกรณีคู่สมรสผู้ตายเป็นเจ้ามรดก และการจัดการหนี้สินของคู่สมรส เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เส้นทางการผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสโดยมีสิทธิเท่าเทียมเฉกเช่นคู่สมรสหญิงชายในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นราวสิบกว่าปีก่อน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้ยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ กับคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมากกว่า 19 ปี แต่ถูกปฏิเสธเพราะนายนทีและคู่ชีวิตเป็นเพศชายทั้งคู่ ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448, 1449, 1450 และ 1458 กำหนดให้การจดทะเบียนสมรสจะต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น
ขณะเดียวกันประเทศในแถบยุโรปได้ยอมรับการจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน และประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่กำหนดในเรื่องสิทธิในการสมรสของชายและหญิง และพิจารณาสาระสำคัญของการมีครอบครัว ตลอดจนครอบคลุมไปถึงความผูกพันของบุคคลที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
หลังจากนั้นเป็นต้นมาในเมืองไทยมีการเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคประชาชนและคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันเคลื่อนไหว แต่ด้วยสภาวะการเมืองไทยที่ไม่แน่นอน ผ่านการรัฐประหาร และการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จึงทำให้การผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต้องชะงักเป็นระยะๆ
ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนพรรคก้าวไกลยื่นเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรก ผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อปี 2565 แต่เพราะตอนนั้น สภาฯ ล่มอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระ กฎหมายจึงถูกตีตกไป
เข้าสู่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอให้พิจารณา จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของคณะรัฐมนตรี ฉบับของพรรคก้าวไกล ฉบับของกลุ่มนฤมิตไพรด์ นำโดย อรรณว์ ชุมาพร และฉบับของนายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา
จวบจนกระทั่ง วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...” หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ด้วยคะแนน 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ส่งต่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาดังกล่าว
และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ซึ่งหลังจากนี้ ร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุตอนหนึ่งความว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้แล้ว คู่รักที่แต่งงานกันยังมีสิทธิทุกอย่างตามกฎหมายเช่นเดียวกับสามี-ภรรยาทุกคู่ วันนี้ เรามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราจะเดินไปด้วยกันต่อ เพื่อผลักดันกฎหมาย และข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก”
ลำดับเวลาไล่เรี่ยกันมีความเคลื่อนไหวปรับหลักการ “กฎหมายฟ้องชู้” โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การฟ้องครอบคลุมทุกเพศตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรค 2 ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ รัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และกำหนดบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ในประเด็นนี้ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ และประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเดิมกฎหมายฟ้องชู้ให้เฉพาะหญิงฟ้องชาย หรือ ชายฟ้องหญิง ที่ไปยกย่องอย่างเปิดเผย ไม่สามารถจะฟ้องเพศเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น สามีไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายในทำนองชู้สาว ภริยาไม่สามารถที่จะฟ้องผู้ชายที่เป็นชู้นั้นได้ แต่ถ้าสามีไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงในทำนองชู้สาวโดยเปิดเผย สามารถฟ้องเรียกเงินทดแทนจากผู้หญิงนั้นได้
ทั้งนี้ เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมกัน ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการฟ้องชู้ที่กำหนดให้ผู้หญิงหรือผู้ชายฟ้องคู่สมรสของตัวเอง ชายหรือหญิงที่มาเป็นชู้ได้อย่างเดียวนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
โดยวัตถุประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องการให้การคุ้มครองมีความเท่าเทียมกัน ในกรณีที่เป็นผู้ชายชอบผู้ชายไปฟ้องชายชู้ได้ กรณีภริยาเป็นผู้หญิงไปชอบผู้หญิงด้วยกันสามารถฟ้องผู้หญิงด้วยกันได้ นี่คือเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความออกมา ซึ่งประเด็นสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือยกทั้งมาตราออกไป ในสาระของมาตราเดิมคือ เพศตรงข้ามและแสดงโดยเปิดเผย แต่จุดประสงค์ต้องการให้ฟ้องได้แม้จะคบหาไม่เปิดเผยก็ตาม
สาระสำคัญคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องของการฟ้องชู้ให้สามารถฟ้องทั้งหญิงและชายได้ ไม่ใช่เป็นการยกเลิกไม่ให้ฟ้องชู้ แต่ยกเลิกที่ฟ้องได้เฉพาะเพศตรงข้าม ให้สามารถฟ้องเพศตรงข้าม และเพศเดียวกันได้ เนื่องจากปัจจุบันมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นและขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกัน ประกอบกับสภาผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมออกมา รับรองศักดิ์และสิทธิ แต่ประเด็นของการฟ้องชู้ยังมีปัญหาอยู่ จึงมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าเป็นเจ้าภาพ Pride Month ในปี 2030 ซึ่งกว่าจะก้าวไปถึงจุดนั้นทางการไทยต้องทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความพร้อมของ Pride Community ที่มีความเข้มแข็ง ทำให้เห็นว่าไทยมีรัฐบาลที่มีนโยบายที่โอบรับความหลากหลายเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งอุตสาหกรรมความบันเทิง เช่น ซีรีส์วาย, แดร็กโชว์, ธุรกิจความงาม, เทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้กำลังใจ เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ ทั้งหมดนี้กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ รวมทั้ง มีการผลักวาระของ Rainbow Pop เพื่อเป็น Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งจะถูกสะท้อนผ่านขบวนบางกอกไพรด์ และอีกกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศในปี 2567
ที่ต้องจับตา “กลุ่ม LGBTQIAN+” นับเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มีข้อมูลระบุว่าทั่วโลกมี LGBTQIAN+ มากถึง 486 ล้านคน อยู่ในเอเชีย 288 ล้านคน และเป็นคนไทย 4 ล้านคน
กลุ่ม LGBTQIAN+ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000-85,000 บาทต่อคน ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีความพิเศษ มีรสนิยมเรียบหรู ดูแพง เน้นแบรนด์และความน่าเชื่อถือเป็นหลักไม่เน้นตามเทรนด์เหมือนคนทั่วไป
นอกจากนี้ GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ ถึง 1,000 ล้านคน โดยอำนาจการใช้จ่ายรวมทั่วโลกของผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือราว 136 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมองการเจาะตลาด LGBTQIA+ เป็นอีกหนึ่งเซ็กเม้นท์ในการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย
ข้อมูลระหว่าง ปี 2561-2562 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ราวๆ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.26 แสนล้านบาท) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่มีอยู่กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก อยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคน อันดับ 1 จะเป็นจีน อยู่ที่ราว 90 ล้านคน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 17 ล้านคน, ญี่ปุ่น 8.2 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ 6.9 ล้านคน, เวียดนาม 6.1 ล้านคน และไทยมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีประชากร LGBTQ+ มากกว่า 1,000 ล้านคน
Terra BKK ระบุว่า กลุ่ม LGBTQ+ เป็นผู้บริโภคกลุ่มที่มีศักยภาพสูงโดยใช้จ่ายสูงกว่าคนทั่วไป 7 เท่า โดยพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จะเดินทางอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 7 เท่า ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาเพื่อประกอบกิจกรรมที่ตนสนใจ ได้แก่ ถ่ายรูปเช็คอินร้านอาหารหรือจุดเด่นสำคัญ กีฬากลางแจ้งหรือกิจกรรม Soft Adventure รวมทั้งการท่องเที่ยว Nightlife นิยมสินค้าด้านความบันเทิงและสันทนาการ รวมถึงสินค้าด้าน Health and wellness
จะเห็นว่า LGBTQIAN+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยคาดการณ์ว่าเป็นแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยว และหลังจากประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึก “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” รองรับการแต่งงานของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เศรษฐกิจสีรุ้งมูลค่าแสนล้านย่อมน่าจับตาอย่างที่สุด