xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (16) เรื่องเล่าในพระที่นั่งประจักษ์สมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จักรพรรดิกวางซี่ว์ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ถัดจาก  ถี่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งประจักษ์สมาน  ก็คือ  อี้คุนกงหรือวังนางในสำรวม  วังนี้เป็นที่ประทับของเหล่านางในทั้งในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ส่วน  ฉังชุนกงหรือวังวสันต์นิรันดร์  และ  ถี่หยวนเตี้ยนหรือพระที่นั่งบรรพสมาน  นั้น ใช้เป็นที่แสดงงิ้วและที่ชมการแสดงดังกล่าว ซูสีไทเฮาจะเสด็จมายังวังและพระที่นั่งเพื่อทรงชมการแสดงดังกล่าวอยู่เสมอ

ส่วน  ไท่จี๋เตี้ยนหรือพระที่นั่งบรมฐาน ไม่มีรายละเอียดกล่าวไว้ว่าใช้ในการใด จะมีก็แต่  หยั่งซินเตี้ยนหรือพระที่นั่งเกษตรารมณ์  ที่กล่าวไว้ค่อนข้างมาก ว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร และตั้งอยู่อย่างโดดเด่นจากหลายวังหรือพระที่นั่งของวังต้องห้าม

กล่าวกันว่า นับแต่จักรพรรดิยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงเรื่อยมา มีจักรพรรดิแปดพระองค์ที่ทรงใช้พระที่นั่งนี้เป็นที่ทรงงาน ศึกษาหาความรู้ และหารือข้อราชการกับเหล่าเสนามาตย์ โดยพระที่นั่งองค์นี้ถูกสร้างให้มีระเบียงอยู่โดยรอบ แต่มิได้หรูหราดังวังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกง

จากสภาพเช่นนี้ทำให้เห็นว่า พระที่นั่งองค์นี้แม้จะมีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่ก็สะดวกสบายในการใช้เป็นที่ทำงาน จึงไม่แปลกที่จะมีจักรพรรดิหลายพระองค์ทรงเลือกพระที่นั่งนี้ในการว่าราชการงานเมืองอยู่เสมอ

ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า หกวังประจิมที่กล่าวมานี้เป็นการกล่าวโดยสังเขปในแง่ที่ถูกใช้งาน โดยที่ยังมีเรื่องราวที่มีสีสันพิสดารที่พึงกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย ซึ่งโดยมากแล้วล้วนเป็นเรื่องที่มีขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์ชิง และเป็นเรื่องที่มีซูสีไทเฮาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่อไปนี้จะได้เล่าเรื่องราวที่ว่า

เรื่องแรกขอย้อนกลับไปที่ถี่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งประจักษ์สมานอีกครั้ง พระที่นั่งองค์นี้นอกจากจะเป็นที่เสวยพระกระยาหารอันหรูหราของซูสีไทเฮาแล้ว ครั้งหนึ่งยังเคยถูกใช้เป็นที่เลือกผู้จะมาเป็นมเหสีของ  จักรพรรดิกวางซี่ว์ อีกด้วย

กล่าวกันว่า การเลือกคราวนั้นมีหญิงที่ถูกคัดมาจนเหลือห้าคนสุดท้าย แต่หญิงที่อยู่ในอันดับต้นหรือเป็นเสมือนคู่แข่งมีอยู่สองคน ในสองคนนี้หากมีผู้ถูกเลือกเป็นมเหสีหนึ่งคนแล้ว อีกคนที่เหลือจะได้เป็นนางสนมของจักรพรรดิไปโดยปริยาย

หญิงทั้งห้าคนนี้เป็นบุตรีของขุนศึกระดับผู้บัญชาการหนึ่งคน เป็นบุตรีของผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซีสองคน และเป็นบุตรีของรัฐมนตรีกระทรวงรีต (กระทรวงที่ดูแลเรื่องพิธีการ ประเพณี หรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ) สองคน

จักรพรรดิถงจื้อ (ภาพ : วิกิพีเดีย)

จักรพรรดินีหลงอี้ว์ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
 เมื่อเข้ามาแล้วยังถี่เหอเตี้ยนแล้วก็จะพบว่า บนโต๊ะภายในพระที่นั่งจะมีหยกที่เรียกว่า หญูอี้ (如意) ตั้งอยู่ ชื่อหยกนี้มีความหมายว่า เจริญรุ่งเรือง และมีรูปทรงงอนยาวคล้ายอักษรภาษาอังกฤษตัว S และยังมีกระเป๋าถือสำหรับสตรีที่เย็บปักถักร้อยมาอย่างประณีตงดงามสองใบวางอยู่

สิ่งของดังกล่าวคือของขวัญที่จักรพรรดิจะพระราชทานแก่หญิงที่ทรงเลือก โดยหยกจะพระราชทานให้แก่หญิงที่ถูกเลือกเป็นมเหสี ส่วนประเป๋าถือจะพระราชทานให้แก่หญิงที่จะเป็นนางสนมต่อไป  

ตอนที่หญิงทั้งห้าเข้ามาที่ถี่เหอเตี้ยนเพื่อให้กวางซี่ว์ทรงเลือกนั้น ทุกคนยังคงมีสถานะที่จะถูกเลือกเท่าๆ กัน แต่พอทรงพินิจพิจารณาไปชั่วระยะหนึ่งแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด นั่นคือ จักรพรรดิทรงเล็งไปยังหญิงสองคนดังที่มีการคาดการณ์ไว้จริงๆ โดยหญิงที่กวางซี่ว์ทรงหมายตานั้นคือหนึ่งในสองบุตรีของผู้ว่าราชการ

เลือกได้ดังนั้น พระองค์จึงทรงหยิบหยกหญูอี้เพื่อจะพระราชทานแก่หญิงผู้นั้น แต่ขณะที่ทรงยื่นพระหัตถ์ที่ถือหยกออกไปนั้นเอง ซูสีไทเฮาก็ตรัสคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นมาทันที เพื่อสื่อเป็นนัยว่าให้พระราชทานหยกนั้นแก่หญิงอีกคนหนึ่ง นั่นคือ บุตรีของขุนศึก

เมื่อเป็นเช่นนี้กวางซี่ว์จึงไม่มีทางเลือก พระองค์จำต้องพระราชทานหยกหญูอี้ให้แก่หญิงที่ซูสีไทเฮาทรง (บังคับให้) เลือก โดยที่กล่าวกันว่า  หญิงผู้นี้มิได้มีรูปร่างหน้าตาที่น่าดูชมมากนัก แต่ที่ซูสีไทเฮาทรงให้เลือกก็เพราะว่าบุตรีของขุนศึกผู้นี้ทรงเป็นราชนัดดา (หลาน) ของพระองค์นั้นเอง 

 และต่อไปหญิงผู้นี้ก็คือ จักรพรรดินีหลงอี้ว์ (ค.ศ.1868-1913)  

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปโดยที่กวางซี่ว์ไม่มีทางเลือก ด้วยพระองค์ทรงตกเป็นเบี้ยล่างทางการเมืองในราชสำนัก ที่ซูสีไทเฮาทรงทำทุกวิถีทางที่จะให้อำนาจยังคงอยู่ในมือของพระนาง โดยที่หากปล่อยให้กวางซี่ว์ทรงเลือกมเหสีด้วยพระองค์เองแล้ว พระนางเกรงว่าจะสะเทือนมาถึงอำนาจของพระนาง แต่หากเป็นหญิงที่พระนางกำหนดแล้ว (ซึ่งเป็นหลานของพระนาง) พระนางก็สามารถใช้เธอผู้นี้ควบคุมหรือสอดส่องพฤติกรรมของจักรพรรดิได้ด้วยดี

 แต่ก็ด้วยเหตุเดียวกันนี้เองเรื่องจึงกลับกลายเป็นว่า บุตรีของผู้ว่าราชการฯ สองคนจึงได้เป็นนางสนมของจักรพรรดิไปโดยปริยาย คนหนึ่งคือ สนมจิน อีกคนหนึ่งคือ สนมเจิน โดยที่เวลานั้นซูสีไทเฮามิทรงรู้เลยว่า การที่พระนางทรงควบคุมการเลือกมเหสีในครั้งนั้น ต่อมาจะได้นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในราชสำนักอย่างไรบ้าง 

และเรื่องทั้งหมดนี้ก็เกิดที่ถี่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งประจักษ์สมานนี้เอง

อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า แรกที่ซูสีไทเฮาก้าวขึ้นมาใช้อำนาจแทนจักรพรรดินั้น จักรพรรดิองค์ที่ว่าคือ  ถงจื้อ (ค.ศ.1856-1875) เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่จะเล่าต่อไปว่า ตอนที่ถงจื้อเจริญวัยจนรู้ความแล้วนั้น พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 14 ชันษา แต่ซูสีไทเฮากลับไม่ปรารถนาที่จะถวายคืนพระราชอำนาจให้แก่พระองค์

ตราบจนถงจื้อทรงมีพระชนมายุ 18 ชันษาและทรงอภิเษกสมรสแล้วนั้น ซูสีไทเฮาก็ไม่มีทางเลี่ยงที่จะไม่ถวายคือพระราชอำนาจได้อีกต่อไป เหตุดังนั้น ถงจื้อจึงได้แสดงบทบาทของจักรพรรดิอย่างเต็มที่ แต่ในระหว่างนั้นก็ยังมิวายที่จะถูกซูสีไทเฮาทรงแทรกแซงการทรงงานอยู่เสมอ จนนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูกอยู่บ่อยครั้ง

แต่แล้วจู่ๆ ถงจื้อก็กลับสิ้นพระชนม์ในวัยเพียง 19 ชันษา ถึงตอนนี้ซูสีไทเฮาก็ทรงเลือกราชนัดดาองค์เล็กของถงจื้อขึ้นเป็นจักรพรรดิในขณะมีพระชนมายุ 4 ชันษา เมื่อเป็นเช่นนี้พระนางจึงได้โอกาสว่าราชการหลังม่านอีกครั้งหนึ่ง

ต่อจนจักรพรรดิองค์น้อยทรงเจริญวัยที่จะเป็นจักรพรรดิได้เต็มตัว พระองค์ก็คือ จักรพรรดิกวางซี่ว์นั้นเอง ซึ่งถึงที่สุดแล้วพระองค์ก็มิอาจใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่แม้แต่ในการเลือกคู่ครองดังที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น

จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิดังกล่าวของซูสีไทเฮาจะจริงเท็จอย่างไร แต่เวลาบันทึกรัฐกิจต่างๆ ทั้งในสมัยของถงจื้อและกวางซี่ว์นั้น จะระบุอย่างเป็นทางการว่าผู้ใช้อำนาจก็คือจักรพรรดิทั้งสองพระองค์ รัฐกิจจะดีจะเลวอย่างไรก็ตกอยู่แก่จักรพรรดิสองพระองค์นี้ ซูสีไทเฮาไม่ทรงเกี่ยวด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น