xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ญี่ปุ่นเปิดแอปฯ หาคู่ Tokyo Futari Story ไทยดัน “หวยเกษียณ” เพิ่มเงินออมคนแก่ โจทย์แก้วิกฤตประชากร “แก่ - เจ็บ - (จน) ตาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  โจทย์ใหญ่ว่าด้วย “วิกฤตประชากร” นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลทั่วโลก ที่ผ่านมาหลายประเทศต่างประสบกับปัญหาอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร จากสถานการณ์การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และไทย 

ล่าสุด มีข่าวว่า  “รัฐบาลญี่ปุ่น” ทุ่มเงินกว่า 47.2 ล้านบาท เปิดตัวแอปฯ หาคู่  “Tokyo Futari Story”  จับคู่คนโสดส่งเสริมการแต่งงานมีลูก หลังจากอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาการครองตัวเป็นโสดและไม่แต่งงานของคนญี่ปุ่น กระทบถึงอัตราการเกิดที่น้อยลงต่อเนื่อง

ปี 2566 จำนวนทารกที่เกิดในญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันจำนวนการแต่งงานต่ำกว่าครึ่งล้านเป็นครั้งแรกในรอบ 90 ปี และปัญหาข้อสำคัญอัตราเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมแรงงานของญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้กำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบกว่า 47.2 ล้านบาท เปิดแอปฯ หาคู่ “Tokyo Futari Story” สำหรับคนโสดในญี่ปุ่นที่ต้องการใช้บริการแอปฯ หาคู่นี้ จะต้องส่งเอกสารประจำตัวต่างๆ รวมถึงแบบฟอร์มภาษีที่ยืนยันรายได้ต่อปี และใบรับรองสถานะโสดอย่างเป็นทางการ และนอกจากการสร้างแอปฯ หาคู่ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนกิจกรรมสำหรับคนโสดเพื่อพบปะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งเสริมการแต่งงาน โดยทางรัฐบาลยังได้ตีพิมพ์คู่มือหลายฉบับที่ให้คำแนะนำเรื่องการออกเดท ทั้งนี้ น่าจับตานโนบายว่าจะพลิกเกมกระตุ้นให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นจับคู่แต่งงานได้มากน้อยเพียงใด

บทความเรื่อง “วิกฤตการเกิด” เรื่องกำเนิด ใครกำหนด?”  เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Thaipbs ระบุถึงนโยบายต่างประเทศในการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย อาทิ  “เกาหลีใต้” ซึ่งมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 0.8 สาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีใต้ไม่อยากมีลูกมาจากที่พักอาศัยราคาแพง การแข่งขันทางการศึกษา รวมทั้งความกดดันเรื่องเพศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติที่ทำให้มีผู้ชายเข้ารับราชการทหารน้อยลง และออกนโยบายหลายอย่างเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก เช่น ปรับนโยบายลาพักของผู้เลี้ยงดูเด็กให้นานขึ้นและรับเงินเดือนเต็มจำนวน ลดดอกเบี้ยจำนองอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนมีลูก แต่ก็ยังไม่เห็นผลและเกาหลีใต้ยังคงมีอัตราการเกิดรั้งท้ายของโลก

 “จีน”  ซึ่งดำเนินนโยบายลูกคนเดียวมาเป็นเวลานานและได้ผ่อนคลายนโยบาย ช่วงปี 2557 - 2559 หลังเริ่มเห็นสัญญาณเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงมาก จนกระทั่งปี 2562 อัตราการเกิดในจีนต่ำสุดในรอบ 70 ปีและลดลงต่อเนื่อง รัฐบาลจีนจึงปรับนโยบายให้ประชาชนมีลูกได้ถึง 3 คน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนบางส่วนไม่อยากมีลูก เช่น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียนมีราคาสูงสวนทางกับรายได้ รวมถึงกังวลเรื่องความปลอดภัยและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

 “สวีเดน”  ออกนโยบาย  “สปีดพรีเมียม”  สำหรับผู้เลี้ยงดูบุตรที่เคยมีลูกแล้วและมีลูกคนต่อไปภายใน 30 เดือนหลังมีลูกคนแรก สามารถรับค่าตอบแทนในวันหยุดเท่ากันกับวันลาหยุดเลี้ยงดูลูกคนก่อน เพื่อให้พ่อแม่วางแผนมีลูกอายุใกล้กันและใช้เวลาดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่อง นโยบายนี้ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 2.14 จากเดิมอยู่ที่ 1.61 แต่อัตราการเกิดของสวีเดนได้ปรับลดลงในช่วงปี 2543 เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงออกนโยบายเพิ่มเติมอื่นๆ เป็นต้น


 เช่นเดียวกัน  “ไทย”  กำลังเผชิญปัญหา  “อัตราการเกิดต่ำ” และการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่งที่ผ่านมาการ  “ส่งเสริมการมีบุตร” นับเป็น  “วาระแห่งชาติ”  เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขับเคลื่อนโดยกรมอนามัย ล่าสุดทำคลอดนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพภายใต้แนวคิด Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ 

มาตรการส่งเสริมการมีบุตรของไทยให้ความสำคัญทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พร้อมทั้งจัดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุที่น้อยลง ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรแล้ว 800 แห่ง

 โดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าอัตราการเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 1.08 มาอยู่ที่ 2.1 ต่อแสนประชากร โดยรักษาอัตราการเจริญพันธุ์ช่วงปี 2566 - 2570 ให้ไม่ต่ำกว่า 1.0 และขั้นต่อไปจะพยายามเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมราว 1.5 ในปี 2585 เพื่อรักษาจำนวนประชากรไม่ให้น้อยกว่า 33 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยเพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากรไทย ต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป วางแผนนโยบายอย่างรอบคอบและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เน้น 3 มาตรการหลัก คือ 1. ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีบุตร (Enabling Environment) เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดูแลและเลี้ยงบุตร 2. เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่าทุกการเกิดมีความสำคัญ บทบาทชาย-หญิง และ ทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย และ 3. สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ เช่น การดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก

แต่ด้วยบริบทของเศรษฐกิจและสภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย ความรักในการใช้ชีวิตอิสระ ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน รวมถึงความหลากหลายทางเพศ ก็กลายเป็นปัจจัยให้คนรุ่นใหม่มีลูกกันน้อยลง

ขณะเดียวกัน การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยนับเป็นอีกโจทย์ท้าทายของรัฐ โดยปี 2566 ไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั่งประเทศ ทำให้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปของไทย คิดเป็น 13.6% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 20% ส่งผลให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2572 เป็นระดับสูงสุดของสังคมสูงวัย

ปัญหาวิกฤตประชากรไทยนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะคนเกิดน้อยแต่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ และจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอดในอนาคต ขณะที่คนวัยแรงงานดูแลผู้สูงอายุ ในอัตรา 3.2:1 ในปัจจุบัน และจะกลายเป็น 2:1 ใน 10 ปีข้างหน้า อีกทั้ง แนวโน้มผู้สูงอายุ อายุ 50 - 59 ปี ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัย 80 ขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

 นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวผ่านปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ  “ประเทศไทยจะรับมือกับวิกฤตทางประชากรได้อย่างไร” เกี่ยวกับการที่จะรับมือกับวิกฤตทางประชากร และก้าวข้ามประเด็นท้าทายในบริบทสังคมสูงวัยแบบสุดยอด รัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือกรอบแนวคิดของประเทศ โดยนโยบายที่ต้องเร่งทำทันทีเพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทยผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร คือ

1. เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต อาทิ การสร้างองค์ความรู้ เพิ่มพูนทักษะ และการพัฒนาศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพื่อรองรับอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และการสร้างงานที่มีคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน (Work from anywhere)

2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ อาทิ การดูแลสวัสดิการของเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 3 ปี) ซึ่งกระทรวง พม.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมลดเพดานอายุเด็กในสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กจากเดิม 3 ขวบ ให้ลดลงมาเหลือ 3 เดือน เพื่อให้คุณแม่ที่ลาคลอดครบกำหนด 98 วัน สามารถนำลูกไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์ได้ หรือการให้สถานที่ทำงานจัดพื้นที่สำหรับดูแลเด็กเล็กได้ ซึ่งกระทรวง พม.ได้ดำเนินการแล้ว นายวราวุธกล่าวต่อไปว่า

3. สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส อาทิ การปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Working) เหมาะกับศักยภาพผู้สูงอายุ การขยายอายุการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน การขยายอายุเกษียณราชการออกไป อีกทั้งต้องมีระบบบริบาลชุมชน ซึ่งวันนี้กระทรวง พม. ขับเคลื่อนโครงการบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งมีการอบรมผู้ที่จะมาเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุ จำนวน 240 ชั่วโมง เมื่อผ่านการอบรมแล้ว สามารถมีรายได้จากค่าตอบแทน

4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการและกลุ่มด้อยโอกาส อาทิ การส่งเสริมการเข้าถึงทุกระบบการศึกษา การเพิ่มความรอบรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยืดหยุ่น และการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม

และ 5. สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว อาทิ การเชื่อมระบบสวัสดิการทั้งหมดเข้าด้วยกัน การสร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยหรือบ้านสำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับสมาชิกทุกวัยในรูปแบบ Universal Design และการพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วย Green Economy

ทั้งนี้ การฝ่าวิกฤตประชากรจำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบาย การติดตามประเมินนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ


ที่ต้องจับตาคือคนไทยมีแนวโน้ม  “แก่ก่อนรวย”  ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพภาพชีวิตในวัยเกษียณ ดังนั้น เรื่องการเงินจึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐต้องสร้างกลไกรองรับอย่างรัดกุม ซึ่งนโยบายที่กำลังได้รับความสนใจในสังคม คือ  “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออม ที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนอายุ 60 ปี

 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งมีเป้าหมายในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการออมของประเทศที่ยังขาดอยู่ ทำให้เกิดสังคมสูงวัยแต่ยากจน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ

โดยนโยบายนี้จะใช้นิสัยของคนไทยที่ชอบเสี่ยงโชคมาเป็นแรงกระตุ้นและแรงจูงใจ เป็นการซื้อสลากที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายสลากออมทรัพย์ แต่ไม่เหมือน เพราะเป็นระบบแรงจูงใจรูปแบบใหม่ เป็นการซื้อสลากที่เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ และยิ่งซื้อมากยิ่งได้ลุ้นมาก และได้เก็บเป็นเงินออมมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จะดำเนินการผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้สมาชิก กอช. ผู้ประกันตน มาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีเป้าหมายราว 16-17 ล้านราย ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน และสามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น.

ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม โดยเงินรางวัลแบ่งเป็น รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล โดยเงินรางวัลอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และเงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้เป็นเงินรางวัล จะมาจากงบประมาณโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท เดือนละ 60 ล้านบาท และปีละกว่า 700 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับนโยบายเบี้ยคนชราที่ใช้งบประมาณปีละ 4 -5 แสนล้านบาท

โดยยืนยันย้ำว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการมอมเมา แต่เป็นการเอานิสัยของคนไทยที่ชอบเสี่ยงดวงมาผูกกับการออม  “ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งออมมาก”  อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายรองรับ คาดว่าจะใช้เวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี ถึงจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรม

 นับเป็นอีกโจทย์ท้าทายของรัฐบาลไทย สำหรับวิกฤตประชากร “อัตราการเกิดต่ำ” และ “สังคมสูงวัย”  



กำลังโหลดความคิดเห็น