xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โรงงานแห่ปิด ตกงานนับแสน ตลาดหุ้นซบยาว ต่างชาติขนเงินหนี ความจริงวันนี้ที่ “ประเทศไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากความไม่แน่นอนของคดีการเมือง 3 คดีใหญ่ ที่ฉุดความเชื่อมั่น ระส่ำระสายกันไปหมด โดยเฉพาะตลาดหุ้นไหลรูด ทรุดหนัก ต่างชาติขนเงินออกไม่หยุด ซ้ำเติมวิกฤตโรงงานแห่ปิดกิจการ คนตกงานเป็นเบือ 

ถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น  “มนุษย์ทองคำ”  ในแวดวงตลาดหุ้น หรือพนักงานบริษัท โรงงาน ต่างมีชีวิตการงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) หยิบยกขึ้นมาหารือกันเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าการปิดโรงงานทำให้มีผู้ตกงานกว่า 300,000 คน สามารถกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้กว่าครึ่ง เมื่อรวมกับเด็กจบใหม่อีก 500,000 คน จะมีแรงงานประมาณ 600,000 คน แต่เมื่อดูตำแหน่งงานในตลาดแรงงานแล้ว มีว่างอยู่ประมาณ 500,000 ตำแหน่ง ทำให้เหลือคนว่างงานอยู่อีก 100,000 คน

โจทย์คนตกงานในระบบนับแสน ไม่นับแรงงานแฝง แรงงานนอกระบบ เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงาน ต้องเข้าไปจัดการอย่างเร่งด่วน

ล่าสุด เพจนิวส์ชลบุรี - ระยอง ออนไลน์ รายงานว่า  บริษัท คริสตัล เท็กซ์ไทล์ อินดัสตรีส์ จำกัด  ตั้งอยู่ที่ซอยวัดคู่สร้าง ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปักผ้าลูกไม้ ผู้ผลิตลูกไม้ ผู้ส่งออกผ้าลูกไม้ ก่อตั้งมายาวนานกว่า 34 ปี ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยไม่มีออเดอร์จากลูกค้า แบกรับภาระไม่ไหว โดยพนักงานราว 97 คน ของบริษัทได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องตลาดหุ้นไหลรูดต่อเนื่องนั้น เศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามถึงเรื่องที่ตลาดหุ้นทุบสถิติ ลดลงต่ำสุดถึง 19.48 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,313.26 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่ามีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยคดีการเมือง 3 คดี เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดมีความกังวล ซึ่งคดีของนายทักษิ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนเรื่องของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องของสภาฯ ส่วนคดีของตนเองได้ส่งคำชี้แจงให้กับศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว

ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรี ยังหยิบยกเรื่องตลาดหุ้นตกขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วย เพราะมีคำถามเข้ามามากว่าเป็นเพราะอะไร เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ หรือการเมือง หรืออะไร ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำงานในเรื่องนี้ด้วย

 พิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือโอกาสชี้ให้เห็นว่าสภาวะตลาดหุ้นขณะนี้ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นฟื้นขึ้นตามความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย

สำหรับ 3 คดีใหญ่ป่วนตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทยในเวลานี้นั้น คดีแรกเป็นคดีที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กรณีการมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยชี้ว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าวเมื่อเดือนมกราคม 2567

ในสัปดาห์ถัดไปหลังจากนั้น คือ คดีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องเข้าฟังกระบวนการสั่งฟ้องของศาลอาญา กรณีที่อัยการกล่าวหาว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นเดียวกัน

ส่วนอีกคดี ศาลรัฐธรรมนูญ รับพิจารณาคดี กรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประเด็นปัญหาด้านคุณสมบัติจากการแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งศาลฯ ได้รับเรื่องเอาไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567

สำนักข่าวรอยเตอร์ สัมภาษณ์ อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล นักกลยุทธ์อาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ว่าคดีของนายกฯ เศรษฐา จะมีผลกระทบมากที่สุด เพราะหากมองในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ถ้าเขาสูญเสียตำแหน่ง ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองเดือน





 เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองสาเหตุตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ ว่าเป็นผลสะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาของเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องกำลังซื้อ งบประมาณล่าช้า มาตรการทางการเงินการคลังทำงานได้ไม่เต็มที่ และไม่สอดคล้องกัน หากจะทำให้ตลาดหุ้นดีขึ้นต้องเน้นแก้ไขภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้น มั่นใจว่าตลาดหุ้นจะดีขึ้นหลังมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การแจกดิจิทัล วอลเล็ต จะทำให้เศรษฐกิจนั้นฟื้นตัวมากขึ้น จากการใช้จ่ายของประชาชน

 “มาตรการทางการเงินการคลัง” ที่ทำงานไม่สอดคล้องกันตามที่รมช.คลัง ชี้เหตุ ต้องจับตาไปที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ซึ่งทางกระทรวงการคลัง คาดหวังว่า กบง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะตอนนี้สัญญาณเศรษฐกิจชัดเจนว่าชะลอตัวลง และชาติมหาอำนาจอย่างยุโรป ก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว

ทว่า คณะกรรมการ กบง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

 ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567

ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

 มาดูตลาดหุ้นที่ดิ่งทุบสถิติในรอบ 4 ปี กันสักหน่อย ต้องยอมรับนับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย แทน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอช ดัชนีหุ้นไทยมีแต่ทรงกับทรุด ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปรับตัวลดลงแล้วกว่า 227.03 จุด มาอยู่ที่ 1,318.57 จุด จากดัชนีหุ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปิดตลาดอยู่ที่ 1,545.60 จุด

ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) ที่สะท้อนถึงความมั่งคั่ง ลดลงเหลือเพียง 16.31 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 หรือลดลงราว 2.64 ล้านล้านบาท จาก 18.95 ล้านล้านบาท ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 


หากแยกตามกลุ่มนักลงทุน นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึง 10 มิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ กว่า 150,476.37 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 5,469.48 ล้านบาท นักลงทุนภายในประเทศ ซื้อสุทธิ 119,464.81 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 36,481.04 ล้านบาท

ดัชนีหุ้นที่ทรงๆ ทรุดๆ มีปัจจัยจากหลายสาเหตุทั้งปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบาย ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคุกรุ่น ทั้งปัจจัยภายใน เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง เงินเฟ้อ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัล วอลเลต ล่าช้า ฉุดให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เติบโตต่ำที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน ฯลฯพลอยฟ้าพลอยฝนให้ตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์ ไม่ดึงดูดต่างชาติอีกต่อไป

บมจ.บัวหลวง คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยครึ่งหลังปี 2567 ยังไม่สดใส เหตุนักลงทุนขาดความมั่นใจ จากหลากหลายปัจจัยความเสี่ยง เช่น เศรษฐกิจที่ยังคงดูฟื้นตัวได้ช้า การส่งออกหดตัว การบริโภคภายในประเทศอ่อนแอลง โดยมองเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1,539 จุด

 แห่ปิดโรงงาน – อุตสาหกรรมไทย ถดถอย 


ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นที่ซบเซา ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นเรียลเซกเตอร์ก็ออกอาการน่าเป็นห่วง รายงานของ  KKP Research  โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ สะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – มีนาคม 2567 หรือต่อเนื่องกัน 1 ปี 3 เดือน เป็นการโตติดลบยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฎจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม

 ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 โดยนับจากช่วงครึ่งหลังของปี 2566 พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง 

ส่วนยอดการเปิดโรงงานใหม่มีจำนวนลดลง ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก โดยยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน

 อุตสาหกรรมที่มีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร 

ขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ส่วนการปิดตัวเป็นโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก สะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ยังมีปัญหาน่าห่วงในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิต ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทย ในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ

KKP Research ประเมินสถานการณ์ในอนาคต ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ หนึ่ง การแข่งขันที่มากขึ้นจากสินค้าจีน ซึ่งปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอง มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และ สาม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของสินค้าบางชนิด เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV

 สุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา เผยว่า สถานการณ์แรงงานในฉะเชิงเทราน่าเป็นห่วง อาจจะมีกลุ่มแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างในอนาคตอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมออโตโมทีฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่จ้างแรงงานในพื้นที่มากถึง 39,321 คน จากสถานประกอบการ 137 แห่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในเริ่มมีอัตราการเติบโตลดลง ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า

 เกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ติดลบ 18 เดือน สะท้อนถึงปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมถดถอยและไม่เป็นที่ต้องการ ส.อ.ท.ในฐานะที่ดูแล 48 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม กำลังปรับไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งภาครัฐต้องให้การสนับสนุนทั้งอินฟราสตรักเจอร์ ต้นทุนพลังงาน โลจิสติกส์ ที่ปัจจุบันต้นทุนสูงถึง 15%

ภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมถดถอย มีการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กมีการเปิดตัวเพิ่มมากขึ้น โอกาสรอดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังพอมีหวัง

 ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 อัดฉีดสินเชื่อ 5.5 หมื่นล้าน ผ่านโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ และอาหาร ส่วนอีกโครงการเป็นโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยรัฐบาลตั้งวงเงินชดเชยค่าค้ำประกัน 7,125 ล้านบาท  

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คาดหวังว่า ทั้งสองโครงการจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังขยายตัวได้มากขึ้น

บวกกับ 3 มาตรการ ตามที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ว่า จีดีพีปีนี้จะอัพขึ้นให้ถึง 3% ผ่าน 3 มาตรการ คือ ท่องเที่ยว โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้ามา 35.7 ล้านคน

มาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในส่วนงบลงทุน โดยงบปี 2567 มีประมาณ 850,000ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายต้องการเบิกจ่ายให้ได้ 70% และมาตรการการลงทุนภาคเอกชน กว่า 8 แสนล้านบาท ในเวลา 3 ปี ถ้าในปีนี้เร่งรัดโครงการให้ได้ 3-4 หมื่นล้านบาท ก็จะเพิ่ม GDP ได้ตามเป้า

 เป้าหมายจีดีพีเติบโต 3% อาจมีโอกาสได้เห็น หากการเมืองนิ่ง นักลงทุนเชื่อมั่น ประชาชนทำมาหากินคล่อง ลืมตาอ้าปากได้ แต่สภาพความจริงเวลานี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับภาพฝัน 



กำลังโหลดความคิดเห็น