ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลที่ค้างเก่า 10 ปี ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลอตที่มีดรามาตอนเปิดโกดังตรวจสอบคุณภาพข้าว ด้วยรายการ “ชวนชิม” จาก ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาถึงจุดพีคชิงดำกันว่าเอกชนรายใดจะเสนอราคาสูงสุด และเป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งกำหนดประกาศผลวันที่ 17 มิถุนายน 2567
ถึงแม้ว่า ดรามาข้าว 10 ปี ที่เปิดประมูล จากคลังสินค้ากลางกิตติชัย (หลัง 2) และ คลังสินค้า บริษัท พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด (หลัง 4) ชนิดข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 จำนวนประมาณ 15,000 ตัน ที่จังหวัดสุรินทร์ ดังกล่าว จะเต็มไปด้วยคำถาม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย สามารถรับประทานได้ ไม่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง จริงหรือไม่ กระทั่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาการันตี ผลตรวจสอบข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ ส่งมาให้ตรวจสอบ พบสารอาหารครบถ้วน ไม่มีสารเคมีเจือปน เช่น สารอะฟลาท็อกซิน และสารเคมีทางการเกษตร แต่ข้าวมีสีเหลือง กลิ่นอับ พบมอด แมลง อยู่ด้วย
แต่เมื่อองค์การคลังสินค้า (อคส.) ประกาศทีโออาร์ เพื่อเปิดประมูลข้าวในสต็อกดังกล่าว เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 วันแรกที่ อคส. เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมยื่นเอกสารคุณสมบัติการประมูลข้าว ปรากฏว่า มีผู้สนใจล้นหลามเกินคาดถึง 8 ราย และแต่ละรายล้วนไม่ธรรมดา
โดยเฉพาะ “ธนสรรไรซ์” ที่เข้าร่วมรายการ “ชวนชิม” ข้าวกับคณะของ ภูมิธรรม ที่คลังเก็บข้าว จังหวัดสุรินทร์ กับอีกรายคือ “กลุ่มอุบลไบโอเกษตร” ที่เข้าร่วมประมูลทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูก เป็นหมากที่วางไว้เผื่อเหนียว ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ตกรอบไม่ผ่านคุณสมบัติ เพียงหนึ่งเดียว จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 8 ราย
สำหรับ 8 รายที่เข้าร่วม และถูกคัดเลือกเหลือ 7 ราย มาส่องโปรไฟล์ แต่ละบริษัทกัน
1.บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย วรรณิสา ทองจิตติ, ทานตะวัน นาสมใจ และ ศิวะ มาประเสริฐ
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทยังเป็นที่อยู่เดียวกับ บริษัท ดีจี แรนซ์ จำกัด ประกอบกิจการค้าอุปกรณ์ทางด้านปศุสัตว์ ครอบคลุมถึงน้ำเชื้อพันธุกรรมสัตว์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมี ภาคภูมิ มุ่งงาม เป็นกรรมการบริษัท
2.บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ และ ดวงทิพย์ วรอภิญญาภรณ์
สำหรับ ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ เป็นที่รู้จักในนามของ “เสี่ยแอร์” เจ้าของบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของไทย ปัจจุบันมีโรงสีข้าวในเครือ 5 แห่ง และมีท่าเรือสำหรับส่งออกข้าวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
3.บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ทุนจดทะเบียน 1,210 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย สุรียส โควสุรัตน์, วุฒิพงศ์ นิลผาย, สุขสันต์ ว่องชูวงศ์, กัณฑ์พร กรรณสูต และ เผด็จศักดิ์ จำปา
4.บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ทุนจดทะเบียน 3,914 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย พลากร สุวรรณรัฐ, จีราวัฒน์ พัฒนสมสิทธิ์, สายสุณีย์ คูหากาญจน์, กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์, สมเกียรติ หัตถโกศล, สุรียส โควสุรัตน์, ศิวะ แสงมณี, อิสสระ โชติบุรการ, ประสิทธิ์ วสุภัทร, คณิต วัลยะเพ็ชร์ และ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต
บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผลิตและจำหน่ายเอทานอล แป้งมันสำปะหลัง และการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยมี สุรียส โควสุรัตน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด เป็นบริษัทในเครือ ประกอบธุรกิจธุรกิจเกษตรอินทรีย์
ต้องไม่ลืมว่า สุรียส โควสุรัตน์ เป็นบุตรสาวของ นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สายสุณีย์ คูหากาญจน์ ดังนั้น หากดูรายชื่อกรรมการบริษัทของกลุ่มอุบลไบโอฯ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา ทั้งชื่อ พลากร สุวรรณรัฐ, ศิวะ แสงมณี และ สุรียส ผู้เป็นบุตรสาวของ สิทธิชัย โควสุรัตน์
5.บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มี รัชชริญ อินกองงาม เป็นกรรมการบริษัท
6.บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี มี ธวัชชัย อู่แสงทอง เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีทรัพย์แสงทอง ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
7.บริษัท สหธัญ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มี ปฐวี วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นกรรมการบริษัท
แม้จากการสืบค้นจะไม่พบว่า นายปฐวี วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นใครมาจากไหน แต่สำหรับนามสกุล “วงษ์พิทักษ์โรจน์” เป็นนามสกุลของ วุฒิพงษ์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานบริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์ นักธุรกิจคอนกรีตรายใหญ่ในจังหวัดราชบุรี และมีลูกชายคือ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร
8.บริษัท บี เอ็น เค การเกษตร 2024 จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มี ณัฐพงศ์ ทิพย์เจริญ เป็นกรรมการบริษัท
ในแวดวงการค้าข้าว มองกันว่า หน้าใหม่ในการประมูลข้าวครั้งนี้ คือ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง ค้าขายพืชผล, หจก.อุบลไบโอเกษตร ผลิตเอทานอล, บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร ประกอบธุรกิจการทดสอบและวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ, บริษัท สหธัญ จำกัด ทำธุรกิจโรงสีที่กำแพงแสน และบริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จำหน่ายพืชผลทางการเกษตร
ส่วน “ขาประจำ” ในวงการมีเพียง 2 ราย คือ บริษัท ทรัพย์แสงทอง จำกัด และบริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย เพียงรายเดียวที่เข้าร่วมยื่นซองประมูล
ในวันที่ ภูมิธรรม ไปชิมข้าว 10 ปี ที่คลังสินค้ากลางกิตติชัย (หลัง 2) และคลังสินค้า พูนผลเทรดดิ้ง (หลัง 4) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ หรือ “เสี่ยแอร์” เป็นหนึ่งในเอกชนที่เป็นแขกรับเชิญร่วมคณะ และให้สัมภาษณ์สื่อหลังจากนั้นด้วยว่า “ผมว่าไม่ต่ำกว่า 15 บาทอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่เปิดประมูลแล้วขายวันนี้ราคา 15 บาท ผมซื้อเลย จะดรามาอะไรผมไม่สนหรอก เพราะว่าผมรับซื้อได้อยู่แล้ว ...”
“เสี่ยแอร์” บอกว่า เท่าที่ประเมินหากซื้อในราคา 15 บาท นำไปปรับปรุงเพื่อส่งออกราคาส่งออกก็คงจะไม่ต่ำกว่าตันละ 500 เหรียญสหรัฐฯ แต่จะได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องไปดูว่าปรับปรุงมาแล้วจะได้คุณภาพข้าวเป็นอย่างไร ถ้าดีก็จะได้เกินกว่า 500 เหรียญสหรัฐฯ ไปมากหน่อย เรายังตอบไม่ได้ ต้องรอดูหลังจากที่ปรับปรุงแล้ว
เจ้าของ ธนสรร ไรซ์ บอกว่า “... ผมไม่กลัวดรามา เพราะเราเป็นนักธุรกิจข้าว เราทำหน้าที่ค้าขาย ถ้ามีคนมาบอกว่ามันขายไม่โอเค เราจะเลิกขายได้หรือ เราต้องทำมาหากิน แล้วเราก็ไม่ได้อิงการเมืองอยู่แล้ว เราทำหน้าที่ซื้อมาแล้วก็ขายไป ถ้าเขาขายมาแล้วเราปรับปรุงแล้วมีกำไรเราก็ซื้ออยู่แล้ว”
“เสี่ยแอร์” ให้ความเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้นำข้าวไปตรวจ ผลออกมาก็เคลียร์หมดแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันข้าวยังมีคุณภาพและความปลอดภัย ไม่น่าจะมีอะไรไปมากกว่านี้ ราคาที่เราจะประมูลคงเป็นไปตามสภาพข้าว คงไม่ได้อ้างอิงราคากลางที่หากจะมีแต่อย่างใด
ความน่าสนใจในการเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ ยังโฟกัสไปที่ “กลุ่มอุบลไบโอเกษตร” ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตเอทานอลและแอลกอฮอล์จากแป้งมันสำปะหลัง ที่อาจทำให้เกมการแข่งขันด้านราคาเปลี่ยน และดึงราคาประมูลข้าวครั้งนี้ให้ต่ำลง เพราะหากกลุ่มส่งออกข้าวแข่งกันประมูล ราคาอาจยืนอยู่ที่ 15-17 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอล ที่ผ่านมาเสนอซื้อในราคาที่ถูกกว่า โดยครั้งก่อนๆ รัฐบาลเคยขายข้าวแบบคุณภาพต่ำให้กลุ่มเอทานอลแค่ 3-5 บาทต่อกิโลกรัม มาแล้ว
ภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันว่า การประมูลครั้งนี้จะไม่เป็นปัญหา มีถึง 8 บริษัทที่สนใจมาร่วมประมูล แต่ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ถือว่ามาก ส่วนราคาประมูล จะได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม หรือไม่ เชื่อว่าข้าวมีคุณภาพพอที่จะประมูลได้ในราคาที่ดีกว่าเดิมแน่นอน
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภูมิธรรม จะเชื่อมั่นในคุณภาพข้าว และราคาประมูลที่จะได้ไม่ต่ำแน่นอน แต่สำหรับ “หมอวรงค์” นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี ยังติดตามตั้งคำถามว่า ไม่แปลกใจที่ข้าว 10 ปี จะมีบริษัทมายื่นประมูล 8 บริษัท และคงได้เงินตามเป้าหมายหลักร้อยล้านบาท แต่หัวใจที่ ภูมิธรรม ต้องทำ กลับไม่ทำ คือ การสร้างความเชื่อมั่น และความโปร่งใส ในการเปิดประมูลครั้งนี้
นั่นคือ การกำหนดทีโออาร์ ห้ามนำตัวอย่างข้าวออกนอกคลัง รวมทั้งนำไปตรวจด้วยวิธีอื่น ซึ่งจะสร้างความหวาดระแวงให้กับประชาชนและต่างชาติที่บริโภคข้าวไทยในเรื่องสารปนเปื้อน อีกทั้งการเปิดเป็นการประมูลทั่วไป เท่ากับว่า ข้าว10 ปี มีโอกาสนำมาผสมในข้าวถุง ให้คนไทยบริโภค ไม่ใช่ส่งออกไปแอฟริกาอย่างเดียว
ข้าวคลังดังกล่าว เคยเปิดประมูลมาแล้ว รวมแล้ว 3 ครั้ง ผู้ชนะประมูลรับข้าวไปบางส่วน เพราะมีข้าวขาวปลอมปน แต่ อคส. ก็ยังกำหนดทีโออาร์ว่า เป็นข้าวหอมมะลิ100% ชั้นสอง จึงเกิดข้อสงสัยว่า มีการเปลี่ยนข้าวหรือไม่
เช่นเดียวกันกับข้อสังเกตของ รศ. สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ที่มีคำถามเหตุใดจึงไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลนำข้าวออกไปตรวจสอบ เพื่อรับรองคุณภาพ ซึ่งมีผลต่อราคาประมูล เพราะผู้ประมูลต้องคำนวณถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ราคาที่ควรจะเป็น 18 บาทต่อกิโลกรัม อาจจะเหลือแค่ 12 บาทต่อกิโลกรัม เพราะต้องบวกค่าความเสี่ยงที่มองไม่เห็น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัย ผู้ชนะประมูลข้าวต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลว่าบริษัทนำข้าวล็อตนี้ไปทำอะไรบ้าง ส่งออกต่างประเทศหรือจำหน่ายในประเทศ
แม้จะมีดรามา “ข้าวปู 10 ปี” สักกี่มากน้อยเพียงใด แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หาได้ยี่หระ เพราะนาทีนี้ดูเหมือนว่าจะท่องคาถาใส่เกียร์เดินหน้าเพื่อ “ปิดจ๊อบ” จบมหากาพย์จำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ได้สถานเดียว