xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภูฏาน (12)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลไทย โดย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมหารือกับ นายเชริง ท็อปเกย์ (Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏาน เพื่อบรรลุข้อตกลง พร้อมร่วมลงนามในเอกสารขอบเขตสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม 2567
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี
 
ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร

ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา

และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)

รัฐธรรมนูญภูฏานยังมีหมวดที่ว่าด้วย การเงินในการรณรงค์หาเสียงสาธารณะ (Public Campaign Financing)  ด้วย ซึ่งอยู่ในหมวดที่สิบหก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 มาตรา 1  รัฐสภาจะต้องกำหนดงบประมาณในการเลือกตั้งตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นผู้พิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสมและจ่ายให้แก่พรรคการเมืองที่จดทะเบียนไว้และผู้สมัครในช่วงหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและสภาแห่งชาติทุกปี

 มาตรา 2  คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องให้เงินอุดหนุนเพื่อใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครโดยไม่เลือกปฏิบัติและตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา

 มาตรา 3  คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่พรรคการเมืองและผู้สมัครจะใช้ได้ในการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ

 มาตรา 4 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำหนดเพดานาจำกัดการสนับสนุนพรรคการเมืองโดยสมัครใจของสมาชิกพรรคการเมืองตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติงบประมาณการเลือกตั้ง

 มาตรา 5  คณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสนับสนุนที่พรรคการเมืองและผู้สมัครได้รับ และพรรคการเมืองจะต้องยอมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาหรือกฎหมายที่นำมาบังคับใช้

ต่อไปจะเป็นหมวดว่าด้วย  พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งกำหนดไว้ในหมวดที่สิบแปด ส่วนหมวดที่ว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาล ผู้เขียนได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว หมวดที่ว่าด้วยพรรคฝ่ายค้านมีทั้งสิ้น 6 มาตรา ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1 
 พรรคฝ่ายค้านจะต้องทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ในการกำกับให้รัฐบาลและพรรคเป็นรัฐบาลทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีธรรมาภิบาล และมุ่งส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติและสนองความคาดหวังของประชาชน
 
 มาตรา 2 พรรคฝ่ายค้านจะต้องส่งเสริมบูรณการของชาติ เอกภาพและความสมานฉันท์ และการประสานร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม
 
 มาตรา 3 
พรรคฝ่ายค้านจะต้องพยายามส่งเสริมและเข้าร่วมการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบในรัฐสภา ขณะเดียวกันต้องเป็นฝ่ายค้านที่ดีและเข้มแข็งและให้เกียรติรัฐบาลด้วย

 มาตรา 4  พรรคฝ่ายค้านจะต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของพรรคอยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติ โดยมีเป้าหมายที่ทำให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบและโปร่งใส
 
 มาตรา 5  พรรคฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะคัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำเสนอนโยบายที่เป็นทางเลือกที่ชัดเจนและตั้งคำถามการทำหน้าที่ของรัฐบาล
 
 มาตรา 6  พรรคฝ่ายค้านจะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลในช่วงที่มีภัยคุกคามจากภายนอก ภัยพิบัติตามธรรมชาติ และวิกฤตแห่งชาติต่างๆเมื่อผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงของประเทศอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง

ต่อไปจะเป็นหมวดที่สิบเก้า ว่าด้วย  รัฐบาลรักษาการ (Interim Government)  

 มาตรา 1  เมื่อใดก็ตามที่มีการยุบสมัชชาแห่งชาติ องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงแต่งตั้งรัฐบาลรักษากาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีระยะเวลาไม่เกินเก้าสิบวัน

 มาตรา 2  รัฐบาลรักษาการประกอบไปด้วยประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษาคนอื่นๆที่แต่งตั้งโดยองค์สมเด็จพระราชาธิบดีภายในสิบห้าวันหลังจากมีการยุบสมัชชาแห่งชาติ โดยประธานศาลแห่งภูฏานจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษา

มาตรา 3  ในการแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่จะมีการยุบสมัชชาแห่งชาติจะต้องลาออกจากตำแหน่ง
 
 มาตรา 4  รัฐบาลรักษาการจะทำหน้าที่ตามปกติของรัฐบาล แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจในนโยบายต่างๆและทำข้อตกลงกับรัฐบาลหรือองค์กรต่างประเทศ
 
 มาตรา 5  จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นภายในเก้าสิบวันหลังจากวันที่มีการยุบสมัชชาแห่งชาติ

 มาตรา 6 รัฐบาลรักษาการจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง เมื่อมีสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่

ต่อไป คือ หมวดที่ยี่สิบว่าด้วย  ฝ่ายบริหาร 

 มาตรา 1   รัฐบาลจะต้องปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้อำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักร จัดให้มีธรรมาภิบาล และให้หลักประกันต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงและการอยู่ดีกินดีและความสุขของประชาชน

 มาตรา 2  อำนาจบริหารอยู่ที่คณะรัฐมนตรี ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ จำนวนของรัฐมนตรีจะต้องเป็นไปตามจำนวนของกระทรวงเพื่อให้มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล การเพิ่มหรือลดจำนวนกระทรวงจะกระทำได้โดยความเห็นชอบของรัฐสภา การตั้งกระทรวงขึ้นใหม่จะต้องไม่เป็นไปเพียงเพื่อการแต่งตั้งรัฐมนตรีเท่านั้น

 มาตรา 3 
 ภายใต้มาตรา 16 และ 19 ในหมวดสอง คณะรัฐมนตรีจะต้องช่วยเหลือและให้คำแนะนำองค์สมเด็จพระราชาธิบดีในการใช้พระราชอำนาจตามหน้าที่ของพระองค์ รวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ เมื่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงให้คณะรัฐมนตรีกลับไปทบทวนคำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นการทั่วไปหรือกรณีอื่นๆ

 มาตรา 4  นายกรัฐมนตรีจะต้องถวายรายงานแก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นระยะๆ เกี่ยวกับกิจการแห่งรัฐ รวมทั้งด้านการต่างประเทศ และจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายข้อมูลและเอกสารต่างๆ ตามที่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเรียก

 มาตรา 5 คณะรัฐมนตรีจะต้อง
 
(a) ประเมินสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในรัฐและสังคมและจากเหตุการณ์ภายในและต่างประเทศ

(b) กำหนดเป้าหมายของการดำเนินการของรัฐและกำหนดทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

(d) เป็นตัวแทนของราชอาณาจักรทั้งภายในและต่างประเทศ

 มาตรา 6  คณะรัฐมนตรีจะต้องส่งเสริมการบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณค่าและหลักการประชาธิปไตยที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
 มาตรา 7 คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีและรัฐสภา

 มาตรา 8 ฝ่ายบริหารจะต้องไม่ออกคำสั่งบริหาร (any executive order) เอกสารคำสั่งราชการ หรือประกาศใดๆ ที่ขัดกับ หรือจะมีผลในการขยาย เปลี่ยนแปลงหรืออยู่เหนือบทบัญญัติทางกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาหรือที่บังคับใช้อยู่

 น่าสังเกตว่า รัฐธรรมนูญภูฏาน พ.ศ. 2551 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดลงในรายละเอียดถึงอำนาจหน้าที่และบทบาทของพรรคฝ่ายค้านไว้ด้วย 


กำลังโหลดความคิดเห็น