ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
หกวังประจิมกับหกวังบูรพานี้ภาษาจีนรียกว่า ซีลิ่วกงกับตงลิ่วกง ตามลำดับ ดูจากตัวเลขในคำเรียกก็ทำให้รู้ว่า วังทั้งสองนี้จัดเป็นกลุ่มวัง มิใช่เป็นวังโดดๆ ดังวังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มวังที่อยู่ชั้นใน กลุ่มวังทั้งสองจึงจัดเป็นที่อยู่ของฝ่ายในไปด้วย
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงกลุ่มวังทั้งสองนี้โดยสังเขป ส่วนเรื่องราวที่ค่อนข้างพิสดารของบางวังในกลุ่มวังนี้จะได้กล่าวเป็นการเฉพาะต่างหากออกไป
เริ่มจากหกวังประจิมหรือซีลิ่วกงนั้นจะประกอบไปด้วยฉู่ซิ่วกงหรือวังมวลวิจิตร (Palace of Gathering Elegance) ถี่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งประจักษ์สมาน (Hall of Manifest Harmony) อี้คุนกงหรือวังนางในสำรวม (Palace of Empress’ Assistance บางที่แปลว่า Palace of Modest Ladies) ฉังชุนกงหรือวังวสันต์นิรันดร์ (Palace of Eternal Spring) ถี่หยวนเตี้ยนหรือพระที่นั่งบรรพสมาน (Hall of Manifest Origin) ไท่จี๋เตี้ยนหรือพระที่นั่งบรมฐาน (Hall of Supreme Ultimate)
ส่วนหกวังบูรพาหรือตงลิ่วกงนั้นจะประกอบไปด้วยจิ่งเหญินกงหรือวังบรมเมตต์ (Palace of Great Benevolence) เฉิงเฉียนกงหรือวังสวรรค์การุณย์ (Palace of Celestial Favor) หย่งเหอกงหรือวังสมานนิรันดร์ (Palace of Eternal Harmony) จงชุ่ยกงหรือวังสารจิตต์ (Palace of Cherishing Essence) จิ่งหยังกงหรือวังบรมบรรเจิด (Palace of Great Brilliance) และเอี๋ยนสี่กงหรือวังนำสุข (Palace of Usher Happiness)
ควรกล่าวด้วยว่า หกวังประจิมหรือหกวังบูรพาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มีที่น่าสังเกตด้วยว่า วังแต่ละกลุ่มยังกล่าวถึงวังเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มละหนึ่งองค์อีกด้วย นั่นคือ หกวังประจิมจะมีหยั่งซินเตี้ยนหรือพระที่นั่งเกษตรารมณ์ (Hall of Mental Cultivation) เพิ่มเข้ามา และหกวังบูรพาจะมีไจกงหรือวังข่มจิต (Palace of Abstinence) เพิ่มเข้ามา
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงแต่ละองค์ของหกวังประจิมโดยลำดับเป็นปฐม
เริ่มจาก ฉู่ซิ่วกงหรือวังมวลวิจิตร วังนี้เป็นที่ประทับของสนมหรือนางใน แต่ที่มีเรื่องเป็นที่กล่าวขานเรื่อยมาก็คือ การเป็นที่ประทับของฉือสี่ไท่โฮ่วหรือที่ไทยเรามักเรียกว่า ซูสีไทเฮา สตรีที่เคยทรงอิทธิพลในราชสำนักในช่วงปลายราชวงศ์ชิง อันเป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาอย่างมีสีสัน แต่เรื่องเล่าขานนี้จะจริงเท็จอย่างไรนั้นเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า
ซูสีไทเฮา (ค.ศ.1835-1908) มีนามเดิมว่า ซิ่งเจิน เกิดในตระกูลเยเฮอนารา (เย่เหอหน่าลา) ซึ่งเป็นตระกูลผู้ดีชาวแมนจู บิดาของพระนางเป็นขุนนางชั้นสูงของราชวงศ์ชิง ชีวิตในวัยเยาว์ของพระนางจึงดำเนินมาด้วยดี ที่สำคัญ พระนางยังได้เรียนรู้ภาษาจีนเป้นอย่างดีอีกด้วย
ครั้นอายุได้ 16 ปี ซิ่งเจินเป็นหนึ่งในหญิงสูงศักดิ์แมนจูที่ถูกส่งตัวมายังราชสำนักเพื่อให้ จักรพรรดิเสียนเฟิง (ค.ศ.1831-1861) ได้ทรงคัดเลือกเป็นมเหสี แต่ซิ่งเจินมิได้รับการคัดเลือก ได้แต่เป็นนางในชั้นหกมีตำแหน่งเป็นท่านหญิงหลันหรือท่านหญิงกล้วยไม้ ครั้นถึง ค.ศ.1854 ก็ได้เลื่อนชั้นเป็นชั้นห้าในตำแหน่งนางสนมอี้ ตราบจน ค.ศ.1856 นางสนมอี้ก็ให้ประสูติโอรสแก่จักรพรรดิ และเป็นโอรสเพียงองค์เดียวเท่านั้น
เหตุดังนั้น หลังเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1861 โอรสพระองค์นี้ก็ได้ก้าวขึ้นเป็น จักรพรรดิถงจื้อ (ค.ศ.1865-1875) แต่ด้วยเหตุที่ยังเยาว์วัย อดีตมเหสีและนางสนมอี้จึงต้องว่าราชการหลังม่านจักรพรรดิองค์น้อย ถึงตอนนี้พระนางทั้งสองพระองค์ก็อยู่ในตำแหน่งฉืออันไท่โฮ่วและฉือซีไท่โฮ่วตามลำดับ โดยฉือซีไท่โฮ่วก็คือ ซูสีไทเฮานั้นเอง
นับแต่นั้นมา การเมืองในราชสำนักและการคุกคามของต่างชาติก็ทำให้ซูสีไทเฮาได้เข้ามาแทรกแซงเรื่อยมา การแทรกแซงได้กระทำผ่านในนามของจักรพรรดิที่พระนางทรงว่าราชการหลังม่านบ้าง หรือทรงใช้อำนาจอยู่เบื้องหลังโดยที่จักรพรรดิองค์จริงมิอาจทำอะไรได้บ้าง
ซูสีไทเฮาทรงใช้อำนาจเช่นว่ายาวนานถึง 60 ปี จนเป็นที่มาของคำวิพากษ์วิจารณ์ในชั้นหลังว่า พระนางมีส่วนอย่างมากในการทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลายใน ค.ศ.1911 การใช้อำนาจที่ว่ามีเรื่องเล่าอยู่มากมาย ที่ในที่นี้จะได้กล่าวต่อไปเฉพาะบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวังต้องห้าม
แต่เฉพาะหน้านี้จะกล่าวถึงเรื่องเล่าบางเรื่องที่เกี่ยวพันกับฉู่ซิ่วกงก่อน กล่าวคือ ฉู่ซิ่วกงนี้คือที่แห่งแรกที่ซูสีไทเฮาทรงประทับเมื่อแรกเข้ามายังวังต้องห้าม แรกที่เข้าวังนั้นยังไม่มีฐานะอันใด ต่อเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่นจนสามารถเข้าถึงองค์จักรพรรดิได้ พระนางจึงได้ก้าวขึ้นชั้นนางสนมในที่สุด
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ซูสีไทเฮาได้ขึ้นชั้นนางสนมนั้น ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นเพราะพระนางได้ให้กำเนิดโอรสแก่จักรพรรดิ และเป็นโอรสเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในแง่นี้ก็หมายความว่า โอรสองค์นี้จะได้เป็นองค์รัชทายาทนั้นเอง ด้วยเหตุนี้เองพระนางจึงได้เลื่อนชั้นให้มียศศักดิ์สูงขึ้น จะเป็นรองก็แต่องค์จักรพรรดินีเท่านั้น
ตอนที่ซูสีไทเฮาทรงมีพระชนมายุ 50 ชันษานั้น ฉู่ซิ่วกงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ การบูรณะครั้งนั้นได้ให้ช่างเขียนวาดภาพบนคานด้านด้วย โดยวาดเป็นภาพดอกไม้ นก ปลา แมลง ทิวทัศน์ และผู้คน อันต้องพระทัยของพระนางอยู่แต่เดิม
นอกจากนี้ ก็ยังให้นำเอามังกรและกวางสำริดมาตั้งไว้ในวังนี้ด้วย และตรงระเบียงทางเดินของวังก็ยังมีอักษรสลักที่สลักจากลายมือของเหล่าเสนามาตย์ อักษรสลักเหล่านี้ล้วนคือคำสรรเสริญซูสีไทเฮา และยังคงเห็นได้ในทุกวันนี้
ส่วนมุมห้องก็ยังมีโต๊ะสูงตั้งหยกที่แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ดอกเล็กดอกน้อย และยังตั้งหินสีที่มีค่าอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ผนังก็ยังมีงาช้างแขวนประดับ ส่วนเพดานก็มีโคมที่มีทรงและรูปงดงามแขวนอยู่ และบนโต๊ะก็ปูด้วยผ้าปูโต๊ะที่วิจิตรงดงามยิ่ง
สิ่งประดับในรูปลักษณ์ต่างๆ จากที่กล่าวมานี้ล้วนสะท้อนถึงความหรูหราราคาแพงทั้งสิ้น
ต่อมาคือ ถี่เหอเตี้ยนหรือพระที่นั่งประจักษ์สมาน พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ด้านใต้ของฉู่ซิ่วกง พระที่นั่งนี้ถูกใช้เป็นที่ทรงเสวยพระกระยาหารของซูสีไทเฮา มีบันทึกกล่าวไว้ว่า พระนางทรงเสวยอย่างเป็นทางการวันละสองมื้อ โดยแบ่งเป็นพระกระยาหารหนักสองมื้อและพระกระยาหารเบา (ของว่าง) สองมื้อ สำหรับห้องที่เตรียมเครื่องต้นหรือพระกระยาหารจะมีวิเสท (พ่อครัว) 450 นายเพื่อสนองพระนางแต่เพียงพระองค์เดียว
การที่ใช้วิเสทมากมายขนาดนั้นย่อมหมายความว่า พระกระยาหารที่ปรุงถวายซูสีไทเฮาย่อมต้องมีมากมายไปด้วยใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่
เพราะพระกระยาหารที่ปรุงในแต่ละมื้อนั้นจะมีมากกว่า 100 รายการ ทั้งหมดนี้รวมพระกระยาหารที่เป็นจำพวกเนื้อสัตว์และจำพวกผักเข้าด้วยกันแล้ว แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ซูสีไทเฮาจะทรงเสวยทั้งหมดไม่ พระนางจะเพียงแต่ทรงชิมบางรายการที่เห็นว่าน่าสนใจ และจะเสวยจริงเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น
ที่เหลือนอกนั้นล้วนคือความสิ้นเปลือง