ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความพยายามสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในเครือ BTS ทั้งรถไฟฟ้า สื่อโฆษณา โลจิสติกส์ อี-วอลเล็ต เพื่อโอกาสทางธุรกิจของตระกูล “กาญจนพาสน์” กลับฉุดให้ BTS ร่วงสู่หุบเหว จากผลประกอบการปี 2566/2567 ที่ขาดทุนกว่า 5 พันล้านบาท ทำให้นักเล่นหุ้นถล่มขาย BTS กดราคาร่วงนิวโลว์ในรอบ 11 ปี กันเลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่ตัวแม่ BTS เท่านั้น บริษัทลูกและพันธมิตรธุรกิจที่ BTS ขนเงินไปร่วมลงทุน ต่างทิ้งดิ่งยกแผงเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 หุ้น BTS ร่วงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 6 เดือน ราคาปรับตัวลง 4.17% มาอยู่ที่ 4.60 บาท, VGI ลบ 4.00% มาอยู่ที่ 1.44 บาท, RABBIT ร่วง 13.16% มาอยู่ที่ 0.33 บาท, JMART ร่วง 10.40% มาอยู่ที่ 11.20 บาท, JMT ร่วง 8.44% มาอยู่ที่ 14.10 บาท, SINGER ร่วง 16.04% มาอยู่ที่ 7.85 บาท ลดลง 1.50 บาท
การขาดทุนยับเยินจากการขนเงินไปลงทุนซื้อหุ้นบริษัทต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจ จนทำให้เกิดความเสียหาย สะเทือนถึงผู้ถือหุ้นรายย่อย BTS ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 107,896 ราย ถือว่ามากที่สุดรองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่า 1.6 แสนราย โดยผู้ถือหุ้นรายย่อย BTS ส่วนใหญ่แบกหุ้นต้นทุนสูง และ “ติดดอย” อันหนาวเหน็บอยู่แทบทั้งสิ้น
ที่ผ่านมา BTS จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงหลายปีติดต่อกัน นักลงทุนรายย่อยจึงแห่ถือหุ้นลงทุนระยะยาว แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ประกาศงดจ่ายเงินปันผล เนื่องจากผลประกอบการขาดทุน ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทย่อย นั่นคือ KEX หรือบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
BTS เข้าไปลงทุนซื้อหุ้น บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) ในราคาหุ้นละ 65 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2,247 ล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ทำให้กลุ่มบีทีเอส กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนมากกว่า 20% แต่ทว่าธุรกิจรับส่งพัสดุที่มีการแข่งขันรุนแรง ยอดผู้ใช้บริการลดต่ำลง ทำให้ เคอรี่ ประสบปัญหาการขาดทุน ฉุดผลประกอบการของ บีทีเอส ลดต่ำลงตามไปด้วย และสุดท้าย BTS ตัดใจขายหุ้น KEX ทิ้งไป
หากย้อนกลับไปดูผลประกอบการย้อนหลังของ KEX ปี 2563 รายได้ 18,917 ล้านบาท กำไร 1,405 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 18,972 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 17,145 ล้านบาท ขาดทุน 2,829 ล้านบาท และปี 2566 รายได้ 11,541 ล้านบาท ขาดทุน 3,880 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการย้อนหลังของ BTS พบว่า ปี 2563 รายได้ 34,947 ล้านบาท กำไร 8,161 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 34,716 ล้านบาท กำไร 4,576 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 25,763 ล้านบาท กำไร 3,825 ล้านบาท ปี 2566 รายได้ 18,018 ล้านบาท กำไร 1,836 ล้านบาท และล่าสุด งบปี 2566/2567 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) BTS ขาดทุนยับเยิน 5,241 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขาดทุนของ KEX เกือบ 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS แจ้งผลการดำเนินงานในปี 2566/2567 มีรายได้รวม 24,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% หรือ 248 ล้านบาท จากปีก่อน
รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับ 1,094 ล้านบาท รายได้จากการบริการและการขายที่เพิ่มขึ้น 726 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้ธุรกิจสื่อโฆษณา และการรับรู้รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู รวมทั้งรายได้จากการการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง แต่ถูกหักลบด้วยการลดลงของรายได้จากการให้บริการรับเหมา 904 ล้านบาท จากโครงการสายสีเหลืองและสายสีชมพูหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์
ด้านค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้น 24.7% หรือ 4,333 ล้านบาท จากปีก่อน เป็น 21,843 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและจําหน่ายเงินลงทุนที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวใน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (KEX) จํานวน 4,363 ล้านบาท
บีทีเอส กรุ๊ป บันทึกกําไรจากการดําเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นประจําก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจําหน่าย ดอกเบี้ยและภาษี (Recurring EBITDA) จํานวน 8,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% หรือ 469 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับในโครงการรถไฟฟ้า ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF)
แต่กำไรข้างต้น ถูกหักลบจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จากการขยายธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จํากัด (มหาชน) (TURTLE) และบริษัท แรบบิท แคช จํากัด (RCash) และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (ผลขาดทุนจากการดําเนินงานที่เพิ่มขึ้นใน KEX และผลขาดทุนจากการดําเนินงานในบริษัท เจ มาร์ท จํากัด (มหาชน) (JMART) และการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนจากการดําเนินงาน ในบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) (แรบบิท โฮลดิ้งส์)
ทั้งนี้ บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จํานวน 5,241 ล้านบาท ปัจจัยหลักจาก (1) ผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ของผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจําหน่ายเงินลงทุนใน KEX (2) การบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ส่วนใหญ่มาจากแรบบิท โฮลดิ้งส์ ควบคู่กับส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนใน KEX และ (3) ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
สรุปอย่างรวบรัดก็คือ บีทีเอส เอากำไรจากรถไฟฟ้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ แล้วขาดทุน จนในหมู่นักลงทุนมีคำพูดกันถึงนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ BTS ว่า “ลงทุนอะไรก็เจ๊ง เก่งแต่ธุรกิจรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว”
แต่อย่างไรตาม ใช่ว่าธุรกิจรถไฟฟ้าของบีทีเอสกรุ๊ป จะไปได้ดีเสมอไป อาจมีเพียงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่พอไปได้ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ จากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าคาด และที่สำคัญคือมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นบมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ปรับลดลงถึง 18% หลังประกาศผลประกอบการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ยังคงอ่อนแอ และความกังวลเรื่องเพิ่มทุน ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของ BTS คือ จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าที่ต่ำกว่าคาดในสายสีเหลืองและชมพู ขณะที่มีค่าใช้จ่ายจากการให้บริการมากกว่าที่คิด รวมถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
การขาดทุนจากสายสีเหลืองและสีชมพู ยังจะฉุดกำไรบีทีเอส แต่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดในรายงานผลประกอบการปี 2566/2567 ไปแล้ว เนื่องจากไม่มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนมากเหมือนปีที่แล้ว รายได้จากการรับจ้างเดินรถ และส่วนแบ่งกำไรจากกองทุน บีทีเอสโกรท ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร รายได้สื่อโฆษณาเติบโต และไม่มีส่วนแบ่งขาดทุนจาก KEX อีก และคาดส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในแรบบิทโฮลดิ้งส์กับ JMART มีแนวโน้มจะลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ทิสโก้ คาดว่ากำไรจะยังคงอ่อนแอ จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูที่จะยังขาดทุนจาก Financing Cost ประมาณ 1.6 พันล้านบาท/ปี และต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าที่จะถึงระดับ Breakeven
สีเหลือง สีชมพู อุบัติเหตุซ้ำซาก ผู้โดยสารต่ำเป้า
ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับสายสีชมพู เป็นยวดยานที่ช่วยให้การเดินทางไปมาสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่งกลับประสบปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำซาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตอนเช้ามืด ได้เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถไฟสายสีชมพู ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ในเครือ รถไฟฟ้า BTS หลุดร่วงลงมากระแทกพื้นราบเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ยังผลให้เสาไฟฟ้าด้านล่างหักโค่น และรถยนต์หลายคันได้รับความเสียหาย จนต้องประกาศปิดให้บริการชั่วคราว ถึง 7 สถานี
หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ของ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM เกิดอุบัติเหตุล้อยาง ซึ่งเป็นล้อประคองตัวรถหลุดร่วงลงมาใส่ผู้สัญจรไปมาบริเวณถนนเทพารักษ์ หลักกิโลเมตรที่ 3 ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 1 คัน แต่โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บ
จากนั้น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยรางนำไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองร่วงหล่น เป็นระยะทางยาวถึง 5 สถานี ตั้งแต่สถานีกลันตัน ถึงสถานีสวนหลวง ร.9 รวมเป็นระยะทาง เกือบ 5 กิโลเมตร ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 12 คัน และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ 2 คน
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการเดินรถและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลังเกิดอุบัติเหตุแผ่นเหล็ก (finger plate) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าหลุดร่วง ช่วงระหว่างสถานีกลันตัน ถึงสถานีศรีอุดม ฝั่งมุ่งหน้าสถานีสำโรง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 นั้น
ขณะนี้ทางบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยติดตั้งแผ่น finger plate ใหม่ เปลี่ยน Bolt หรือน็อตยึดแผ่น finger plate กับคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ที่มีปัญหา และตรวจสอบน็อตจุดอื่นๆ จำนวน 40,000 ตัว เสร็จเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบเซ็นเซอร์จับความร้อนเพิ่มเติม หากมีปัญหาระบบจะแจ้งเตือนเพื่อหยุดการทำงานป้องกันไม่ให้วัสดุหลุดร่วงลงมาอีก คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 โดยเก็บค่าโดยสารอัตราปกติ จากที่ให้ส่วนลด 20% ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระบบ
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายในเมืองทองธานี เป็นกรณีเกิดอุบัติเหตุน้ำปูนหล่นใส่รถยนต์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ได้กำชับให้เพิ่มมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัย และให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงคมนาคม กำหนดอย่างเคร่งครัด หากเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกจะต้องบันทึกเพื่อตัดแต้มคะแนน และถูกลงโทษตามแต้มที่ถูกตัดไว้ด้วย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กลุ่ม BTS ต้องควักเงินทุนจัดการแก้ไข ซ้ำยังต้องลดราคาค่าโดยสารเพื่อเยียวยาจิตใจผู้โดยสาร แถมยังถูกคาดโทษตัดแต้ม เรียกค่าปรับ กระทบกับรายได้ของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ประเด็นกดดันสำคัญมี 3 เรื่องที่ต้องติดตาม นั่นก็คือ
หนึ่ง โครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน (เขียวเข้ม และเขียวอ่อน) จะหมดอายุในปี 2572 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ต่ออายุโครงการนี้ และอาจจะทำให้ธุรกิจของ BTS ทั้งเครือ และราคาหุ้นมีโอกาส downside อีก
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2567 กรุงเทพมหานคร ได้ชำระหนี้ ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ให้กับ BTS สำหรับงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล(E&M) สายสีเขียว และยังมีส่วนค้างจ่ายอีก 2.7 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้ค้างจ่าย รวม 5 หมื่นล้านบาท
สอง จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองต่ำเกินคาด ฝ่ายวิเคราะห์ ประเมินเบื้องต้นว่า จำนวนผู้โดยสารของทั้งสองโครงการจะอยู่ที่ 100,000 คน แต่จำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันของสายสีชมพู อยู่ที่ประมาณ 50,000 คน และสายสีเหลืองอยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นคน
และ สาม ความเสี่ยงจากการลงทุนของ BTS นอกจาก KEX ซึ่งขายทิ้งไปแล้ว BTS ยังรับรู้ผลขาดทุนก้อนใหญ่จากการลงทุนอื่นๆ อีก ได้แก่ SINGER , JMART , RABBIT ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ เคจีไอ คาดว่าการลงทุนของบริษัท จะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมมี downside อีก
ไม่เพียงแต่ BTS เท่านั้นที่สะเทือน ชิโนไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เสี่ยงต่อการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 6 ปีนี้ เช่นกัน
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส คาดผลการดำเนินงานของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขาดทุนสุทธิ 36 ล้านบาท นับเป็นการพลิกกลับมาขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากการขาดทุนครั้งสุดท้ายในงวดไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่มีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีผลขาดทุนมากขึ้น จากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BTS ถือหุ้น 75% , STEC ถือ 15% และ RATCH ถือ 10%
เวลานี้ บีทีเอส ได้ขอเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ในการขอพิจารณาและอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 3,283 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสม ตามงบการเงินเฉพาะกิจการของสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 3,283 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังการโอนทุนสำรองตามกฎหมายเพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมดังกล่าว บริษัทฯ จะไม่มีผลขาดทุนสะสมในงบการเงิน เฉพาะกิจการของบริษัทฯ และจะมีทุนสำรองตามกฎหมายคงเหลือจำนวน 178 ล้านบาท และเสนอขอเพิ่มทุนแบบ PP จำนวน 650 ล้านหุ้น อีกด้วย
ถึงตอนนี้ ในแวดวงนักลงทุนอาจเปลี่ยนมุมมอง BTS เป็นว่า “ลงทุนอะไรก็เจ๊ง ธุรกิจรถไฟฟ้าที่ว่าเก่งก็ไม่ใช่” แล้วรอคอยวันลงจาก “ดอยบีทีเอส” ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน