xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ชัชชาติ” เอ๊ะ! ลู่วิ่งราคาแพงลิบลิ่ว ขายหน้าป้าย “กรุงเทพฯ-Bangkok” แปะ-ปูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีแต่เรื่องงามไส้ ผิดฟอร์มไปเยอะมาก สำหรับการบริหารงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในเวลานี้ ไม่แค่ดรามาป้ายสติกเกอร์อัตลักษณ์ “กรุงเทพฯ-Bangkok” ที่เพิ่งติดพองปูดขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังมี “ลู่วิ่ง” ราคาแพงหูฉี่ 7.5 แสน สูงกว่าราคาตลาดนับสิบเท่า ตามมาติดๆ 

เปิดหัวเรื่องเรียกเสียงฮือฮาจากสังคม โดยเฟซบุ๊กเพจ “ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย”  ที่ชี้เป้าว่า “กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเครื่องละ 4 แสน” ส่อแพงเกินจริง ภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกันสองที่เกือบ 10 ล้านบาท
 
เจาะลงไปยัง  “ศูนย์วารีภิรมย์” ใช้เม็ดเงิน 4,999,990 บาท จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 11 รายการ ดังนี้ 1.อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า 1 เครื่อง 759,000 บาท 2.จักรยานนั่งเอนปั่นแบบมีผนักพิง 1 เครื่อง 483,000 บาท 3.จักรยานนั่งปั่นแบบนั่งตรง 2 เครื่อง เครื่องละ 451,000 บาท 4.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า 1 เครื่อง 466,000 บาท 5.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อขาด้านหน้าและขาด้านหลัง 1 เครื่อง 477,500 บาท
 
6.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อห้วงไหล่ อก และหลังแขน 1 เครื่อง 483,000 บาท 7.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 652,000 บาท 8.ชุดดัมเบลพร้อมชั้นวาง 1 เครื่อง 276,000 บาท 9.อุปกรณ์บาร์โหนฝึกกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 302,490 บาท 10.เก้าอี้ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง 1 เครื่อง 103,000 บาท 11.เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ 1 เครื่อง 96,000 บาท

ส่วนอีกที่คือ ศูนย์วชิรเบญจทัศ  4,998,800 บาท รวม 11 รายการ ราคาสูงผิดปกติเช่นกัน

ความผิดปกติของราคาที่แพงเกินจริง ตามรายการเครื่องออกกำลังกายต่างๆ ที่ กทม.จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้ว มีความแตกต่างกันสูงมาก เช่น เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ กทม.จัดซื้อ 96,000 บาท

 “งานนี้ส่วนต่างเพียบ..” 

 เอกสารการจัดซื้อลู่วิ่งที่มีการตั้งคำถามถึงราคาที่แพงมาก


เมื่อลองขุดลึกๆ ลงไปอีกพบว่า เฉพาะ ปี 2567 กทม. จัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกาย กว่า 9 โครงการ งบประมาณกว่า 77.73 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อแพงเกินจริงเหล่านี้ ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปอย่างสิ้นเปลือง ต้องตรวจแบบเข้มๆ อย่างเร่งด่วน

เพจดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายดังกล่าวแข่งกัน 2 เจ้า ราคาประมูลห่างกัน 700 บาท ต่ำกว่าราคากลาง แค่ 1,190 บาท ส่วนศูนย์นันทการฯ โครงการนี้เกือบ 18 ล้าน แต่ละรายการ วิ่งไปบนฟ้าได้เลย ราคาน่าสงสัยมากๆ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะว่าอย่างไรบ้าง?

หลังจาก “ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย” เปิดประเด็น ทาง  ศุภณัฐ มีนชัยนันท์  ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ก็ออกมาขย่มต่อ โดยโพสต์เฟซบุ๊ก “ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ - Suphanat Minchaiynunt” ว่า ตามส่องมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว โดยส่งหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2567 ให้ กทม.ชี้แจงแล้ว 1 โครงการ เป็นโครงการ ปี 2565 สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งพบว่ารายการที่ กทม.จัดซื้อนั้นแพงกว่าท้องตลาด เฉลี่ยถึง 4 เท่า เลยขุดเพิ่มอีกหลายโครงการ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ให้ทาง กมธ.ติดตามงบประมาณ ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ชี้แจงโครงการซื้อครุภัณฑ์ 10 โครงการ ช่วงปี 2565-2567 เป็นโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายรวม 9 โครงการ รวมมูลค่า 74 ล้านบาท เพราะสงสัยว่าอาจมีการทุจริต เนื่องจากราคากลางที่ กทม.กำหนด ปรับขึ้นจนน่ากลัว โดยแพงกว่ายุคแรกๆ 3 เท่า จาก 254,000 บาท เป็น 759,000 บาท แพงกว่าราคาตลาด 5-10 เท่า ซึ่ง กทม.ยังไม่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมายัง กมธ.ฯ

โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท ในสมัยผู้ว่าฯ อัศวิน อย่างน้อยๆ 25 ล้านบาท ส่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีก 87 ล้านบาท

สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน (2559-2565) ข้อมูลเฉพาะตั้งแต่ปี 2562-2565 มีการจัดซื้อราคาลู่วิ่งราคาตัวละ 254,000 บาท (ปี 2562) แล้วปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 500,000 บาท (ปี 2563) มีการปรับลงมาตัวละ 334,000 บาท (ต้นปี 2565)

พอมายุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ (2565-2567) ปรับราคาขึ้นมาเป็นตัวละ 518,000 บาท (ปี 2565 ที่ ศูนย์มิตรไมตรี, ศูนย์เยาวชนจตุจักร และศูนย์เยาวชนเตชะวณิช) และตั้งแต่ปี 2566 ราคาขึ้นไปตัวละ 759,000 บาท มีหลายโครงการที่ใช้ลู่วิ่งราคา 759,000 บาท ทั้งที่ ศูนย์มิตรไมตรี, ศูนย์วัดดอกไม้, ศูนย์วารีภิรมย์, ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โดยผู้แข่งขันเสนอราคาเป็นคนหน้าเดิม 3 บริษัท เท่านั้น

นอกจากรายชื่อศูนย์ที่แจ้งข้างบนไป ศูนย์อื่นๆ ที่คาดว่าเครื่องออกกำลังกายหลายรายการที่จัดซื้อด้วยราคาสูงเกินราคาตลาด 5-10 เท่า ตั้งแต่ปี 62-67 จะมีที่ ศูนย์เยาวชนดอนเมือง, ศูนย์เยาวชนหนองจอก, ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่, ศูนย์เยาวชนลุมพินี, ศูนย์เยาวชนคลองสามวา, ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา, ศูนย์เยาวชนเกียรติกาย, ศูนย์เยาวชนชัยพฤกษมาลา, ศูนย์เยาวชนอัมพวา

 “ราคากลางในภาพที่แนบไว้ แค่เฉพาะของปี 66-67 ก็ชัดเจนแล้ว ที่แปลกคือ คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ผู้บริหาร กทม. สำนักงบ กทม. และสภา กทม.ไม่เอะใจสักคน ทั้งที่ของแบบนี้มันใช้ sense ก็รู้ว่าแพงเกินเหตุ ไม่ต้องใช้สมองเลย แต่ปล่อยมาหลายโครงการติดๆ กัน เรื่องนี้ ป.ป.ช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเข้า กทม.ครับ”  

ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ “ซึ่งต้องพิสูจน์” โพสต์ภาพประกาศราคากลาง “ลู่วิ่ง 7.5 แสน”  โผล่ในอีกหลายศูนย์กีฬา-ศูนย์นันทนาการ กทม. ได้แก่ ศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 6 เครื่อง ศูนย์กีฬาอ่อนนุช 6 เครื่อง ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา 5 เครื่อง ศูนย์กีฬามิตรไมตรี 5 เครื่อง และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 1 เครื่อง

พอเป็นเรื่องขึ้นมา ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ หนึ่งในศูนย์กีฬาที่พบว่าเครื่องออกกำลังกาย 11 รายการ ราคารวม 4,999,500 บาท ถูกตั้งข้อสังเกตว่าราคาสูงผิดปกติ ขอแจ้งปิดให้บริการสระว่ายน้ำและฟิตเนส เนื่องจากระบบไฟฟ้าอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567

หลังกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ออกมาแถลงว่า ต้องทำการตรวจสอบในเรื่องความไม่โปร่งใส โครงการเล็ดรอดไปได้อย่างไร ตนเองเป็นผู้ว่าฯ ตรงนี้ต้องรับผิดชอบ ต้องปรับปรุงทั้งระบบ ยืนยันไม่เกี่ยวกับผู้ว่าฯ คนเก่า

 “บอกไม่ได้ว่าแพงหรือไม่แพง แต่เราเอะใจ ถ้าประชาชนเอะใจ แล้วเราไม่เอะใจ ก็บ้าแล้ว ต้องไปไล่ตรวจคนตรวจรับงาน ....” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว 

 สมบูรณ์ หอมนาน 
รองปลัดกรุมเทพมหานคร กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง กรรมการต้องไปสืบราคาท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย ทุกการจัดซื้อมีการลงในบัญชีกลาง สามารถตรวจสอบได้ เรายินดีให้ตรวจสอบ

นอกจากเรื่องเครื่องออกกำลังกายแล้ว ประเด็นที่เป็นดรามาก่อนหน้านั้นคือ ป้ายอัตลักษณ์เมืองกรุงเทพฯ “กรุงเทพฯ-Bangkok” บนคานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องฟร้อน หรือตัวอักษรโบราณไป ไม่ทันสมัย ซึ่งทางผู้บริหาร กทม. แปรวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนแคปชั่นเป็นไวรัลเล่นมีมกันในโลกโซเซียลสนุกสนาน ก็ดันมามีปัญหาปูดบวมพองขึ้นมาเพราะมีน้ำซึมเข้าไป

ป้าย “กรุงเทพฯ-Bangkok”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 สิทธิพร สมคิดสรรพ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร แจงว่า ได้ตรวจสอบจุดปูดพองของสติกเกอร์ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยในบางจุด เนื่องจากรอยต่อด้านบนระหว่างคอนกรีตกับสติกเกอร์มีน้ำฝนไหลซึมเข้าไป ทีมช่างแก้ไขเบื้องต้นโดยเจาะน้ำที่ขังออก เป่าลมร้อนให้แห้งและรีดติดทับด้วยสติกเกอร์สีเดิมด้วยเครื่องมือพิเศษรีดสติกเกอร์และใช้ซิลิโคนใสปิดทับใหม่ตลอดแนว ป้องกันไม่ให้มีอากาศหรือน้ำซึมเข้าไปได้ พร้อมทั้งปิดจุดเชื่อมแนวคอนกรีตในจุดอื่นๆ ที่มีการติดสติกเกอร์ไปแล้วทุกจุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับป้ายสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ – Bangkok” บนคานรางรถไฟฟ้าที่สี่แยกปทุมวัน เป็นฟร้อนหรือตัวอักษรใหม่ชื่อ “เสาชิงช้า” มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกทม. โดยว่าจ้างบริษัทออกแบบ เกือบ 3 ล้านบาท

 “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ที่เข้ามารับตำแหน่งด้วยความ “สุดตรอง” มีบททดสอบให้พิสูจน์ฝีมือไม่ว่างเว้น โดยเฉพาะข้อกังขาเรื่องทุจริตจัดซื้อลู่วิ่ง “โคตรแพง” ที่เวลานี้สังคมกำลังรอคำตอบอยู่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น