ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องทุกข์ใจมนุษย์เดือนวัยเกษียณ เกิดคำถามว่า “กองทุนประกันสังคม” จะมีเสถียรภาพเพียงพอสำหรับจ่าย “เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ” ให้แก่ “ผู้ประกันตน” หรือไม่? ด้วยในปี 2575 จะมีผู้รับประโยชน์ทดแทน กรณีชราภาพ มากถึง 2.3 ล้านคนเลยทีเดียว!
กล่าวสำหรับเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคม เป็นหลักประกันความมั่นคงของรายได้หลังเกษียณของมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินชราภาพ โดยแบ่งเป็นผู้ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ และผู้ที่ส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเป็นบำนาญชราภาพ
ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2567 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีจำนวน 24,602,082 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,857,864 คนมาตรา 39 จำนวน 1,759,628 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10,984,590 คน
รายงานผลการบริหารเงินลงทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (มกราคม - มีนาคม 2567) โดยกองทุนประกันสังคม มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน 2,508,729 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 948,032 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี 2567 (มกราคม -มีนาคม) 14,175 ล้านบาท ส่วนกองทุนเงินทดแทนมีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน 80,413 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 28,639 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี 2567(มกราคม -มีนาคม) 525 ล้านบาท
โดยการลงทุนของประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% โดยมีการกระจายการลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ (72.41%) และต่างประเทศ (27.59%)
ขณะที่รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศราฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลง ณ วันที่ 27 พ.ค. 2567 ระบุเกี่ยวกับประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ คือ “ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม”
โดยข้อมูลจากผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย ของสำนักงานสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่าช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ 34.6 % เพิ่มขึ้นเป็น 73.4 % ในปี 2564 ซึ่งเป็นผลพวงมากจากปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่างๆ อาทิ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 600 บาท เป็น 800 บาท รวมถึง จำนวนผู้ประกันตนเข้าใหม่สวนทางกับวัยเกษียณ
สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น กองทุนประกันสังคมมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจำนวนแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ลดฮวบลง
ทั้งนี้ ปี 2565 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 7.6 แสนคนเท่านั้น ทว่า ในปี 2575 คาดว่าจะมีมากถึง 2.3 ล้านคน ดังนั้น กองทุนฯ จึงมีความเสี่ยงปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต
ที่ต้องจับตา ปี 2576 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 30 ขณะที่ปัจจุบันเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือแค่ ร้อยละ 20 และคาดว่าในปี 2581 อัตราการเกิดจะยิ่งลดลง เหลือต่ำกว่า ร้อยละ 15 ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น
สถานการณ์ข้างต้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานกระทบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงด้านประชากร รวมทั้งส่งผลให้กองทุนประกันสังคมประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง เนื่องจากประชากรวัยแรงงานจะลดลง ยอดส่งเงินสมทบกองทุนฯ ลดลง
“จากผลการประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยสำนักงานประกันสังคมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าผู้ประกันตนจะเกษียณอายุเพิ่มขึ้น จะมีผู้รับบำนาญสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
แน่นอนว่า สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน ทราบสถานการณ์ดี นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องจัดการบริหารระบบประกันสังคมอย่างมีเสถียรภาพยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาการศึกษาตัวอย่างแนวทางการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนไว้ในหลายรูปแบบ เช่น การปรับเพดานค่าจ้าง เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เพิ่มทั้งรายรับและรายจ่ายกองทุน, การเพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนระยะสั้น เป็นการขยายความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานในประเทศมากยิ่งขึ้น, การปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน และการปรับเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 55 ปีเป็น 65 ปี ในระยะเวลา 50 ปี จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเนื่องจากระยะจ่ายบำนาญสั้นลง
ตลอดจนการจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม ปี 2567 กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันได โดยเพดานเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มจาก 750 บาทต่อเดือน เป็น 875-1,150 บาทต่อเดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 31 ธันวาคม 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาทต่อเดือน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 - 31 ธันวาคม 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาทต่อเดือน
ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าในอนาคตจะเกิดความเสี่ยงว่าเงินในกองทุนประกันสังคมจะไม่พอจ่ายให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเงินชราภาพ
ประเทศไทยมีแนวโน้มที่วัยแรงงานจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันคนอายุยืนมากขึ้น ประกันสังคมต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานวัยเกษียณมากขึ้น เหมือนกับว่ารับเข้ากระเป๋าน้อย แต่ต้องควักจ่ายมากขึ้นทุกวัน
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของไทย ตั้งแต่ปี 2565 ประเด็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องต้องจับตา เพราะกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศ ที่น่ากังวลประชากรวัยแรงงานจะลดลง ยอดส่งเงินสมทบกองทุนฯ ย่อมลดลง และส่งผลทำให้กองทุนประกันสังคมประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง
ประเด็นใหญ่ที่ยังคงถูกจับตา “ภาวะเสี่ยงล้มละลาย” ของ “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าเงินในกองทุนประกันสังคมจะไม่พอจ่ายให้กับผู้ประกันตน ดังเช่นที่กล่าวในข้างต้นโดยเฉพาะกรณีของเงินชราภาพ
เริ่มต้นด้วยการศึกษาของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)” ประมาณการณ์สถานะภาพของกองทุนประกันสังคม ปี 2560 ประเมินว่าประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยระบุว่าประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายในปี 2597 หรือประมาณอีก 31 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยและความเสี่ยงที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย คือไม่มีเงินสำหรับการจ่ายเบี้ยบำเหน็จเบี้ยบำนาญชราภาพ ซึ่งเกิดจากภาวะสังคมไทยที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มขั้น อีกนัยหนึ่งคืออนาคตจะมีวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลง ทำให้ระบบประกันสังคมจะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ
สอดคล้องกับ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ประเมินสถานะกองทุนประกันสังคมอาจจะขาดสภาพคล่อง หรือ ล้มละลายใน 30 ปี เนื่องจากสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน และแม้จะขยายการลงทุนสุดกำลังก็ได้กำไรไม่ถึง 10 % โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาการปรับวิธีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เพื่อความอยู่รอดของกองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคมคล้ายกับระเบิดเวลาที่นับถอยหลังรอวันระเบิด ดังนั้น จะหยุดยั้งยับยั้งสร้างความยั่งยืนอย่างไร การบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคมเป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐต้องแก้ไขให้ได้