ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปัญหา “ซิมผี-บัญชีม้า” คือ “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลจำต้องหามาตรการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน ไม่เช่นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คงไม่เดินเครื่องมาตรการตรวจคัดกรอง “ผู้ถือครองซิมการ์ด” และ “ผู้เปิดบัญชีธนาคาร” ให้เป็น “ชื่อเดียวกัน” ในระบบการโอนเงินออนไลน์
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีบัญชีโมบายแบงก์กิ้งทั้งหมด 106 ล้านบัญชี แต่พบว่ากว่า 30 ล้านบัญชี มีชื่อซิมการ์ดไม่ตรงกับโมบายแบงก์กิ้ง ที่สำคัญคือในจำนวนนี้เป็นบัญชีม้าซึ่งสร้างปัญหาอยู่ในระบบเป็นอย่างมาก
ขณะที่ผลการดำเนินการกวาดล้างบัญชีม้า ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 ได้มีการระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็นธนาคารระงับ 300,000 บัญชี, ศูนย์ AOC ระงับ 101,375 บัญชี, ปปง. ปิด 325,586 บัญชี และทางตำรวจดำเนินการการจับกุม “คดีบัญชีม้า-ซิมม้า” ในเดือน เม.ย. 2567 จำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วง ม.ค. - มี.ค. 2567
ดังนั้น นับจากวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 21 แห่ง ต้องส่งข้อมูลต่อไปนี้ภายในระยะเวลา 120 วัน อาทิ ชื่อเจ้าของบัญชี และเลขหมายโทรศัพท์ต่อ ปปง. ก่อนส่งให้ทาง กสทช. นำข้อมูลมาคัดแยกเครือข่ายตามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) แต่ละราย หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลให้โอเปอเรเตอร์แต่ละราย เพื่อตรวจสอบว่าชื่อเจ้าของเลขหมาย และชื่อเจ้าของเลขหมายนั้นตรงกับชื่อเจ้าของบัญชีหรือไม่ หากถูกต้องตรงกันถือว่าเป็นบัญชีดี กระบวนการตรวจสอบนั้นจะจบไป สามารถใช้งานโมบายแบงกิ้งได้ตามปกติ แต่หากพบว่าไม่ตรงกันจะส่งข้อมูลดังกล่าวกลับไปยัง ปปง. ซึ่งต้องร่วมกับธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน
แต่ที่น่าตระหนกตกใจยิ่งกว่าก็คือ ดูเหมือน “โจรไซเบอร์” จะแก้เกมอย่างรวดเร็ว เพราะมีการประกาศรับซื้อบัญชีม้าพร้อมซิมการ์ดแบบแพกคู่ โพสต์ผ่านกลุ่มลับในโซเชียลมีเดียอย่างมิเกรงกลัวกฎหมาย
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เปิดเผยว่า ค่าจ้างจ้างเปิดบัญชีม้า แบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ ม้าขายขาด และ ม้าเลี้ยง โดยม้าขายขาด ราคาบัญชีละ 1,000-1,500 บาท โดยรับเปิดบัญชี แล้วให้บัตร ATM และบัญชีกับผู้ว่าจ้างไปใช้เลย ซึ่งล่าสุดมีข้อมูลว่าราคาพุ่งไปเกิน 1 หมื่นบาทแล้ว ส่วนม้าเลี้ยงจะมีการพาคนไปเปิดบัญชี โดยลงทุนซื้อโทรศัพท์ให้ และขอซิมการ์ด มีโมบายแบงก์กิ้ง หากมีปัญหาให้ไปแสดงตัวตนที่ธนาคาร ซึ่งจะได้รับเงินจากคนร้ายมีค่าดูแลเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่า 30,000 บาท เป็นต้น
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยี ระบุว่าที่ผ่านมาบัญชีม้าสร้างปัญหาให้ระบบโมบายแบงกิ้งอย่างมาก หลังเริ่มกระบวนการเหล่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้มากโดยผู้เจ้าของซิมผีผู้เปิดบัญชีม้าจะมีความผิดฐานะตัวการหรือผู้ร่วมกระบวนการตามกฎหมายใหม่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มาตรา 9 คือ เปิดบัญชีหรือให้ผู้อื่นยืมใช้บัญชีของตนที่เปิดไว้ โดยที่รู้หรือพึงรู้ได้ว่าเขาจะไปใช้ในการกระทําความผิด มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
อย่างไรก็ดี มาตรการตัดตอน “ซิมผี-บัญชีม้า” เป็นไปตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ปราบโจรไซเบอร์” ดำเนินการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การถูกหลอกลวงทางออนไลน์ซึ่งเป็นภัยคุกคามประชาชน โดยเฉพาะประเด็น “กวาดล้างบัญชีม้า” ที่สร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาลและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย
กล่าวสำหรับแนวทางสำคัญในการกวาดล้างบัญชีม้า ประกอบด้วย
1. การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า โดย ปปง. ธปท. สมาคมธนาคาร กสทช. สมาคมโทรคมนาคมฯ และ ดีอี ร่วมดำเนินการ ดังนี้
1.1 ขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า จากการใช้ข้อมูลรายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้า มากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน 1.2 กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิ.ย. 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว และ 1.3 การกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้าในระบบ mobile banking ที่ประชุมมอบหมายให้ กสทช.เร่งรัดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับระบบ mobile banking จำนวนประมาณ 106 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 120 วัน
และ 2. การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย ดังนี้
2.1 การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการหาวิธีคืนเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยพิจารณาการออกกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งการคืนเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาการคืนเงินให้ผู้เสียหายจากคดีออนไลน์ ต้องใช้เวลานาน หลาย ๆ กรณี ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ทาง AOC 1441 โดย ดีอี ตร. สมาคมธนาคาร ได้ร่วมมือเร่งการระงับ/อายัด บัญชีม้า ได้รวดเร็วเฉลี่ยภายใน 10 นาที และมีเงินที่ถูกอายัดได้จำนวนมาก และ 2.2 การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. มีแนวทางกำกับดูแลบริเวณพื้นที่ชายแดน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายดำเนินการหันเสาเข้าประเทศอย่างถาวร เพื่อควบคุมความแรงของสัญญาณไม่ให้ล้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพในรูปแบบต่า ๆ ที่ผ่านการใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต ออกมาตรการแก้ไขปัญหาระงับยับยั้งการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ในการกระทำผิด หรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ดังนี้
1.ให้ดำเนินการรื้อถอนสายอากาศกรณีเสาที่มีการติดตั้งสายอากาศหันไปทางประเทศเพื่อนบ้านโดยตรงโดย ส่วนเสาที่มีการติดตั้งห่างจากแนวชายแดนออกมาระยะ 200 เมตร เพื่อให้บริการในไทย แต่หันทิศทางไปประเทศเพื่อนบ้านให้ส่งข้อมูลการจำลองการแพร่สัญญาณ (Simulation) ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาด้วย
2.
2. ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ตรวจสอบว่ามีเครื่องทวนสัญญาณ (Repeater) รับสัญญาณจากประเทศไทยไปเพื่อกระจายต่อหรือไม่ ถ้ามี ให้ระงับสัญญาณที่เข้าสู่ Repeater ดังกล่าว และ
และ 3. กรณีการให้บริการอินเทอร์เน็ตทางสาย ให้พิจารณาทราฟฟิกที่มีปริมาณมากผิดปกติ และรายงานให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร่วมกับตำรวจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือไม่ รวมทั้งให้ผู้บริการทั้งทางสาย และไร้สาย ตรวจสอบ IP ที่ไปปรากฏว่ามีการใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านว่ามีการใช้งานผิดวัตถุประสงค์หรือไม่
ทั้งนี้ ใน 7 พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ได้แก่ 1) อ.แม่สอด จ.ตาก 2) อ.แม่สาย จ.เชียงราย 3) อ.เชียงของ จ.เชียงราย 4) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 5) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 6) อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ 7) อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งมีการหันเสาออกนอกประเทศไทยได้มีการระงับสัญญาณรวมแล้ว 141 สถานี และปรับทิศทางสายอากาศเข้าประเทศแล้ว 67 สถานี
อย่างไรก็ดี สุดท้ายยังคงต้องติดตามว่ามาตรการตัดตอน “ซิมผี – บัญชีม้า” ในยุคสมัยของ “นายกฯ เศรษฐา” จะสกัดกั้นอาชญากรรมออนไลน์ปราบปรามโจรไซเบอร์ และอุดช่องธุรกรรมออนไลน์ผิดกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด และจะดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างไรให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด