xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ปม “สันเขื่อนกันคลื่น” สะเทือนฮุบ “เกาะกูด”? เร่งคลายปม OCA ไทย-กัมพูชา ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเตรียมเดินทางไปเยือนกัมพูชาของ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มี “เรื่องใหญ่” อยู่สองเรื่องที่จะต้องไปเจรจาความเมือง หนึ่งคือกรณีกัมพูชาสร้าง “สันเขื่อนกันคลื่น” ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเขตแดนทางทะเล ส่วนอีกเรื่องคือการเจราเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ OCA ที่มีหลายประเด็นต้องคลี่ปม ก่อนจะนำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาแหล่งพลังงานปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองชาติที่เป็นเป้าหมายสำคัญ 

ประเด็นเรื่อง  “สันเขื่อนกันคลื่น”  นั้น เป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนหน้านี้ยาวนานตั้งแต่ปี 2541 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการรื้อฟื้นกันเรื่องการปักปันเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเขตแดนทางบก ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2543 ส่วนเขตแดนทางทะเล ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544

เหตุที่เป็นเรื่องขึ้นมา ด้วยว่าการปักปันเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้เป็นที่ชัดเจน มีเพียงแค่ MOU ปี 2544 ที่เป็นหมุดหมายว่าจะมีการเจรจากันเท่านั้น และที่ผ่านมา การเจรจายังเป็นเพียงแค่เริ่มต้น ยังไม่ไปไหนมาไหน มีเพียงการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่และชุดเล็ก เพื่อเจรจากันสองเรื่องหลักสำคัญ คือ เรื่องเขตแดนทางทะเล กับเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงาน ดังนั้น เมื่อการปักปันเขตแดนทางทะเลยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กัมพูชากลับไปลงมือ  “สร้างสันเขื่อน”  โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะริมตลิ่ง จึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา

 ที่น่าสังเกตก็คือ การสร้างสันเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่ง ปกติต้องสร้างให้ขนานกับชายฝั่ง แต่กัมพูชากลับสร้างสันเขื่อนตั้งฉากกับชายฝั่งยื่นลงไปในทะเลอ่าวไทย โดยใช้หลักเขต 73 ที่กัมพูชาขีดเส้นขึ้นเอง จึงทำให้เกิดความปริวิตกในสังคมไทยว่าจะมีผลต่อเส้นเขตแดนทางทะเล และจะทำให้ “เกาะกูด” ตกเป็นของกัมพูชา หรือไม่ อย่างไร 

อย่างไรก็ดี ทางการไทย ทั้งกองทัพเรือ และกระทรวงการต่างประเทศ หาได้เพิกเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เรื่องนี้  พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน  โฆษกกองทัพเรือ ไขความว่า กรณีที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ฝ่ายกัมพูชาสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งอาจส่งผลให้กัมพูชาอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับอาณาเขตทางทะเลของไทย นั้น การสร้างเขื่อนกันคลื่นของฝ่ายกัมพูชา ได้เริ่มก่อสร้างจากพื้นที่ฝั่งด้านกัมพูชา ในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2541 โดยหน่วยงานของกองทัพเรือในพื้นที่ ตรวจพบและรายงานขึ้นมา กองทัพเรือ จึงให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ตรวจสอบ พบว่า มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นจริง จึงได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศ ทราบ

หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นบันทึกช่วยจำ และทำหนังสือประท้วงฝ่ายกัมพูชา พร้อมกับขอให้รื้อถอนเขื่อนกันคลื่นดังกล่าวออกไป โดยมีหนังสืออย่างเป็นทางการออกไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 ครั้งที่สอง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 และครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือทักท้วงกรณีดังกล่าวไป ทางกัมพูชาได้หยุดการก่อสร้าง และไม่มีการสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ขณะที่ “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับเล่นบท  “โยนกลอง”  โดยยอมรับว่าในส่วนกองทัพยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน พร้อมกับโยนกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นผู้ที่จะเข้าไปดูแลและพิจารณาหรือมีเป้าหมายในเรื่องนี้อย่างไร กองทัพจะเป็นฝ่ายฝ่ายปฏิบัติ เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ชายแดนระหว่างประเทศ กองทัพยังไม่ต้องไปออกหน้า ขอให้รอฟังผลที่กระทรวงการต่างประเทศ จะพูดคุยกับทางกัมพูชา

อย่างไรก็ดี ถึงแม้กัมพูชา จะหยุดก่อสร้างสันเขื่อนกันคลื่นไปแล้ว แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีการรื้อถอนแต่ประการใด กลายเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับทางฝ่ายกัมพูชา ในการเตรียมไปเยือนกัมพูชาในเร็ววันนี้

 “เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ .... ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อ

เมื่อถามว่า จะใช้ความสัมพันธ์อันดีรื้อสันเขื่อนหรือไม่ มาริษ ตอบว่า “ขอดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ว่าจะไปขอเขาอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าเรามีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยนเขาได้” 

ประเด็นที่ว่าต้องมีอะไรไปแลกเปลี่ยน กลายเป็นเรื่องที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความแปลกประหลาดใจในทำนอง ทำไมต้องมีของแลกเปลี่ยน?

ธีระชัย แปลเจตนาของกัมพูชาในการสร้างสันเขื่อน ว่ากัมพูชาทำเพื่อให้มีผลต่อเขตแดน ย่อมไม่ถูกต้องตามหลักกติกาสากล และไทยย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้กัมพูชารื้อสันเขื่อน โดยไม่ต้องเสนออะไรเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

ก่อนหน้านี้ พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์  สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในสภาฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เรียกร้องให้รัฐบาลทำหนังสือประท้วงกัมพูชา กรณีสร้างสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลอ่าวไทยใกล้หลักเขตที่ 73 ติดกับบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื่องจากกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ ปี 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 11 ระบุว่า “สิ่งก่อสร้างถาวรตอนนอกสุดของเขตท่า ซึ่งประกอบเป็นส่วนอันแยกออกมิได้ของระบบการท่านั้น ให้ถือว่าประกอบเป็นส่วนของฝั่งทะเล” 

นั่นหมายถึงว่า การมีสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลดังกล่าว จะทำให้องศาของเส้นแบ่งอาณาเขตเปลี่ยนไป ทำให้กัมพูชาสามารถอ้างเขตแดนทางทะเลได้กว้างขึ้น

 คลายปม MOU 2544 – ตั้ง JTC ชุดใหม่ 

สำหรับการเตรียมเจรจาเขตทับซ้อนทางทะลไทย-กัมพูชา หรือ OCA มีเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนใหม่ ต้องคลี่คลายปมก่อนเดินหน้าสานต่อตามนโยบายที่ผู้นำทั้งสองชาติ เศรษฐา ทวีสิน และ ฮุน มาเนต  เคยปรึกษาหารือกันเอาไว้ ตั้งแต่คราวพบปะกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567

ปมร้อนล่าสุด อยู่ตรงปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 (MOU 2544) ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันในทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน  รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนั้น ยกขึ้นมาเป็นประเด็นร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีบทที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรืออำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน ที่รัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบันกำหนดว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้ถูกร้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องพิจารณาและนำเสนอทางออกต่อคณะรัฐมนตรีว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร จะขอให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลถอนคำร้องนั้นออกไปเสีย หรือปล่อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการต่อไปจนจบกระบวนการ หรือจะนำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อให้มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี การที่จะเอา MOU 2544 เข้าไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในตอนนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า MOU ไม่ได้มีบทบังคับอะไร หรือเป็นสนธิสัญญา และปัจจุบันเรายังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย และยืนยันอีกครั้งว่า MOU 2544 ไม่ได้ส่งผลต่อเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

นอกเหนือจากประเด็นเรื่อง MOU 2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ถูกมัดปมเข้ามาเพิ่มแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีการบ้านที่ต้องทำต่อจากนโยบายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา ที่ว่าให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และการร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน

นั่นหมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องพิจารณาว่าโครงสร้างของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) หรือ JTC ตามที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เตรียมการเอาไว้นั้น ครอบคลุมเพียงพอต่อการผลักดันการเจรจาหรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบเดิมที่ทำเอาไว้นั้น คณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค จะมีทั้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาณาเขตทางทะเล ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน และการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานอีกอย่างน้อยสองชุด คือ ชุดแรก นำโดย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาและเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ ซึ่งบันทึกความเข้าใจกำหนดว่าจะต้องแบ่งกัน (กับกัมพูชา)

ส่วน ชุดที่สอง  นำโดย อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อรับผิดชอบในเรื่องการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม การแบ่งปันผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกับกัมพูชา

สำหรับเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อผลักดันเรื่อง OCA นั้น มาริษ ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังจาก ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเยือนไทย ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อผลักดันเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต้องพิจารณาให้ชัดเจน เรื่องผลประโยชน์อยู่ตรงไหน

สิ่งที่ มาริษ กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ คือ หารือเป็นการภายในกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเคลียร์ทุกประเด็น และกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งใจจะให้ข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

อย่างไรก็ดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท ในโอกาสเยือนญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า บริษัท Mitsui & Co., Ltd. มีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฯ ขึ้นมาสานต่อความร่วมมือ

 ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ดีเซลปรับขึ้นอีก  

ขณะที่การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่จากการเจรจาเขตทางทะเลทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ เป็นไปอย่างเชื่องช้า ราคาพลังงานในตลาดโลกกลับพุ่งทะยานไม่หยุด ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนคนไทยที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และล่าสุด กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการอุดหนุน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเป็น 32.44/ลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) มีกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมัน ขณะที่เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า โอเปกพลัส จะยังคงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสมัครใจ

นักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่า โอเปกพลัสอาจจะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในระดับปัจจุบันต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัท Ritterbusch and Associates ประเมินว่า ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง รวมทั้งการคาดการณ์ ว่าที่ประชุมโอเปกพลัสอาจจะลงมติขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่ตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการขับขี่รถยนต์ของสหรัฐฯ หลังวันหยุด Memorial Day หรือวันรำลึกถึงผู้พลีชีพเพื่อชาติ

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปรับตัวขึ้น ปิดที่ระดับ 79.83 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.11 ดอลลาร์ฯ หรือ +2.71% โดยได้รับแรงหนุนจากคาดการณ์ว่าโอเปกพลัส จะยังคงนโยบายปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออาจขยายระยะเวลาในนโยบายดังกล่าวออกไป ลดทอนอุปทานส่วนเกิน หนุนทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้

อีกทั้งยังคงมุมมองความหวังอุปสงค์น้ำมันในจีนที่มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หนุนทิศทางราคาน้ำมัน และหุ้นในกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะสั้น

ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ (BRENT) และสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ยังปรับตัวขึ้นต่ออีกจากการเข้าสู่ฤดูการขับขี่รถยนต์ของสหรัฐฯ และอิสราเอลรุกคืบเข้าสู่ใจกลางเมืองราฟาห์ ทำให้กำลังการผลิตหายไป ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ ทำให้ความคาดหวังว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะทยอยมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่โอเปกพลัสยืนยันจะปรับลดกำลังการผลิตต่อ

ฝ่ายวิจัย คาดทิศทางราคาน้ำมันจะยังทรงตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่องจากเหตุผลข้างต้น และคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบระยะยาวตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปอยู่ที่ 80 เหรียญฯ/บาร์เรล (ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน) ขณะที่หากพิจารณาในเชิงราคา จะเห็นได้ว่า 3 วันทำการที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 4.3%

 ขณะที่ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น การอุดหนุนภายในประเทศของไทย กลับลดลงเนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบมโหฬาร โดย วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติลดอัตราเงินชดเชยประเภทน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 1.94 บาท/ลิตร เป็น 1.40 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกประเภทน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 32.44 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

นี่ย่อมไม่ใช่ข่าวดีของคนไทยและภาคธุรกิจที่แบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นทั้งในปัจจุบันขณะ และอนาคต ยิ่งถ้าหากการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ยังติดหล่ม ย่อมนำมาซึ่งการเสียโอกาสของทั้งสองชาติ 


กำลังโหลดความคิดเห็น