คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี
ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)
ในส่วนนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขการตรากฎหมายไว้ในหมวดที่สิบสาม (Passing of Bills) มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับ องค์สมเด็จพระราชาธิบดี ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 ร่างกฎหมายทั้งหมดที่ผ่านรัฐสภาจะบังคับใช้ได้ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเห็นชอบ
มาตรา 2 กฎหมายการเงินและการคลังจะต้องเสนอโดยสมัชชาแห่งชาติเท่านั้น (National Assembly ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสภาต่างๆ ได้ในตอนที่ 9) ส่วนกฎหมายอื่นๆ สภาใดจะเสนอก็ได้
มาตรา 3กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาใดสภาหนึ่งจะไม่ตกไปด้วยเหตุของการปิดประชุมสภา (prorogation ซึ่งไม่ใช่การยุบสภาหรือ dissolution)
มาตรา 4การผ่านร่างกฎหมายให้ใช้เสียงข้างมากปกติของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา หรือในกรณีที่เป็นการประชุมร่วมสองสภา ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่และที่ลงคะแนนของทั้งสองสภา
มาตรา 5 ในกรณีที่กฎหมายเสนอและผ่านในสภาหนึ่ง จะต้องส่งให้อีกสภาหนึ่งพิจารณาภายในสามสิบวันนับจากวันที่มีผ่านกฎหมายนั้น และอาจผ่านกฎหมายนั้นในการประชุมรัฐสภาในสมัยต่อไปได้ ในกรณีของกฎหมายการเงินและการคลัง จะต้องผ่านภายในสมัยเดียวกันของรัฐสภา
มาตรา 6เมื่ออีกสภาผ่านกฎหมายแล้วด้วย สภานั้นจะต้องทูลเกล้าฯ กฎหมายนั้นแก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อให้ทรงโปรดเห็นชอบภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการลงมติผ่านกฎหมายนั้น
มาตรา 7 เมื่ออีกสภาไม่ผ่านกฎหมาย สภานั้นจะต้องส่งคืนไปยังสภาที่เสนอกฎหมายนั้นพร้อมคำแก้ไขหรือการปฏิเสธเพื่อให้มีการพิจารณาใหม่ ถ้ากฎหมายผ่าน ให้ทูลเกล้าฯ แก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อให้ทรงโปรดเห็นชอบภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการลงมติผ่านกฎหมายนั้น
มาตรา 8 ในกรณีที่สภาที่เสนอกฎหมายนั้นปฏิเสธที่จะแก้ไขหรือพิจารณาการปฏิเสธของอีกสภา ให้สภานั้นทูลเกล้าฯ กฎหมายนั้นแก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดี และพระองค์จะทรงโปรดให้ทั้งสองสภาพิจารณาและลงคะแนนเสียงต่อกฎหมายนั้นในที่ประชุมร่วมกัน
มาตรา 9 ในกรณีที่อีกสภาไม่ได้ผ่านหรือส่งกฎหมายคืนจนหมดสมัยการประชุมครั้งต่อไป ให้ถือว่าสภานั้นผ่านกฎหมาย และให้สภาที่เสนอกฎหมายนั้นทูลเกล้าฯ แก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อให้ทรงโปรดเห็นชอบภายในสิบห้าวัน
มาตรา 10 ในกรณีที่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ทรงโปรดให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายนั้น พระองค์จะทรงพระราชทานกฎหมายนั้นพร้อมคำแก้ไขหรือปฏิเสธเพื่อให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาและลงมติ
มาตรา 11 เมื่อผ่านการพิจารณาและลงมติผ่านกฎหมายนั้นในที่ประชุมร่วมแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ แก่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อให้ทรงโปรดเห็นชอบ
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญภูฎานไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการลงคะแนนเสียงในสภาแห่งชาติก่อนเหมือนในกรณีของไทย
การจัดตั้งรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี มาตรา 1 ในหมวดที่สิบเจ็ดของรัฐธรรมนูญภูฏาน ได้กำหนดไว้ว่า องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้นำหรือผู้ที่พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งข้างมากในสภาแห่งชาติเสนอ และกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสองสมัย
การแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงแต่งตั้งบุคคลตามที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่ได้รับการเลือกตั้งและเป็นพลเมืองภูฏานโดยกำเนิด และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องไม่ได้เป็นสมาชิกสมัชชาที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งเดียวกันเกินสองคน
การเสนอให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐธรรมนูญภูฏาน มาตรา 6 กำหนดไว้ว่า ต้องมีเสียงหนึ่งในสามของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติทั้งหมด (National Assembly)
การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติทั้งหมด (National Assembly) และถ้าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติลงมติไม่ไว้วางใจด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแล้ว รัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ลาออกต่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดี
ในส่วนที่เกี่ยวกับ พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดไว้ในหมวดที่สิบห้า มีทั้งสิ้น 16 มาตรา ได้แก่
มาตรา 1 พรรคการเมืองจะต้องถือผลประโยชน์ของชาติเหนือผลประโยชน์อื่นใด และด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองจะต้องเสนอทางเลือกตามค่านิยมและแรงบันดาลใจของประชาชนด้วยธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ
มาตรา 2 พรรคการเมืองจะต้องส่งเสริมเอกภาพของชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและมุ่งประกันให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีของชาติ
มาตรา 3 ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะต้องไม่ใช้ภูมิภาคนิยม เชื้อชาติและศาสนาในการปลุกปั่นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง
มาตรา 4 พรรคการเมืองจะต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคุณสมบัติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้
(a) สมาชิกพรรคจะต้องเป็นพลเมืองภูฏานและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้
(b) การเป็นสมาชิกภาพของพรรคจะต้องไม่กำหนดบนพื้นฐานของภูมิภาค เพศ ภาษา ศาสนาและสถานะทางสังคม
(c) พรรคจะต้องให้มีสมาชิกภาพที่เปิดกว้างทั่วไปทั้งชาติและมุ่งรักษาความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพของชาติ
(d) พรรคจะต้องไม่รับเงินหรือความช่วยเหลือใดๆ นอกเหนือไปจากที่ได้รับจากสมาชิกพรรคที่ลงทะเบียนแล้ว ตามจำนวนหรือมูลค่าที่กำหนดไว้โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(e) สมาชิกพรรคจะต้องศรัทธาและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงและรักษาอำนาจอธิปไตย เขตแดน บูรณการ ความมั่นคงและเอกภาพของราชอาณาจักร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)