ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
วังสวรรค์พิสุทธิ์กับงานเลี้ยงผู้สูงวัย
การที่ วังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกง ถูกใช้งานมาเป็นเวลานานนับร้อยปี การชำรุดทรุดโทรมก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จากเหตุนี้ หลังจากทัพแมนจูได้โค่นล้มราชวงศ์หมิงและเข้ายึดวังแห่งนี้แล้ว ราชวงศ์ชิงที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่โดยแมนจูจึงได้ทำการบูรณะวังแห่งนี้รวมทั้งเฉียนชิงกงด้วย
เมื่อบูรณะแล้วเสร็จนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิอย่างน้อยก็สองพระองค์คือ จักรพรรดิซุ่นจื้อ (ครองราชย์ ค.ศ.1643-1661) และ จักรพรรดิคังซี (ครองราชย์ ค.ศ.1661-1722) และยังใช้เป็นที่ว่าราชการในบางโอกาส เป็นที่ต้อนรับทูตต่างชาติ และเป็นห้องเรียน
ครั้นพอถึงสมัย จักรพรรดิยงเจิ้ง (ครองราชย์ ค.ศ.1722-1735) พระองค์ก็ทรงย้ายไปประทับที่วังอื่นแล้วใช้วังนี้เป็นที่เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ เป็นที่ประชุมรัฐกิจกับเหล่าเสนามาตย์ และต้อนรับทูตต่างชาติ และใช้เป็นที่จัดเลี้ยงเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตรุษจีน) เทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ เทศกาลแข่งเรือมังกรหรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เทศกาลฤดูใบไม้ร่วงหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลเหมายัน (ตะวันอ้อมข้าว)
นอกจากนี้ ก็ยังใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของจักรพรรดิ ในงานนี้จะมีพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนสมาชิกในราชวงศ์มาร่วมด้วย แต่ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ การจัดงานเลี้ยงผู้สูงวัย งานเลี้ยงผู้สูงวัยนี้ภาษาจีนเรียกว่า เชียนโส่วเอี้ยน (千叟宴) แปลว่า งานเลี้ยงผู้สูงวัยพันคน (Banquets for a Thousand Seniors, The Feast of the Thousand Old Men)
งานนี้ทรงริเริ่มโดยจักรพรรดิคังซี จัดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1713 ที่มาของงานนี้เกิดจากพระราชดำริของคังซีที่ทรงเห็นว่า นับแต่ที่จีนมีจักรพรรดิเรื่อยมาจนถึงยุคของพระองค์นั้น จีนมีจักรพรรดิทั้งสิ้น 193 พระองค์ แต่ไม่มีองค์ใดที่มีพระชนมายุยาวนานเช่นพระองค์ ซึ่งในปีนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 60 ชันษาแล้ว พระองค์จึงทรงให้จัดมีงานเฉลิมฉลองเนื่องในวาระนี้ขึ้นทั่วประเทศ
ในส่วนที่เกี่ยวกับงานเลี้ยงนั้น พระองค์ทรงเชิญผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งที่เป็นเสนามาตย์และสามัญชนคนธรรมดาเข้ามายังเมืองหลวงเพื่อเข้าร่วมในงานเลี้ยงนี้ในวันที่ 5 มีนาคมตามปฏิทินจันทรคติ ในงานเลี้ยงนี้มีผู้สูงวัยได้รับเชิญราว 7,000 คน การที่มีแขกจำนวนมากขนาดนี้ การจัดโต๊ะนั่งจึงยาวเหยียดถึง 20 ลี้ หรือราวๆ 10 กิโลเมตร
ในระหว่างงานเลี้ยง คังซีทรงให้เชื้อพระวงศ์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นและต่ำกว่า 20 ปีลงมาดื่มอวยพรให้แก่ผู้สูงวัย และจัดโต๊ะนั่งให้ผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปได้นั่งอยู่หน้าที่ประทับของพระองค์เพื่อเป็นเกียรติ โดยผู้สูงวัยที่มาจากมณฑลอื่นยังจะได้รับพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งอีกด้วย ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า งานนี้ย่อมเป็นที่พอใจของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง
อนึ่ง งานเลี้ยงที่จัดขึ้นครั้งแรกนี้ยังมิได้จัดขึ้นที่เฉียนชิงกง ที่กล่าวมานี้เป็นแต่จะบอกเล่าถึงที่มาของงานนี้เท่านั้น งานที่จัดขึ้นที่เฉียนชิงกงจริงๆ คืองานในครั้งที่สองที่มีขึ้นในเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติ ค.ศ.1722 อันเป็นปีที่คังซีทรงมีพระชนมายุ 69 ชันษาและย่างสู่ 70 ชันษา พระองค์ทรงปลื้มปีติยินดีที่สามารถปกครองประเทศได้โดยราบรื่นและบ้านเมืองมีความสงบสุข
นอกจากนี้ ในวันที่สองของงานเลี้ยงครั้งที่สองนี้ คังซียังทรงจัดเลี้ยงเป็นกรณีพิเศษแก่เสนามาตย์ทั้งที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่และที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และมีอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 680 คน พอถึงวันที่สามของงานจึงได้จัดให้ผู้สูงวัยที่เป็นสามัญชนคนธรรมดา 340 คน
หลังจากสิ้นยุคของคังซีไปแล้ว จักรพรรดิที่ทรงสืบทอดงานเลี้ยงนี้คือ เฉียนหลง (ครองราชย์ ค.ศ.1735-1796) พระองค์ทรงชื่นชมจักรพรรดิคังซีที่เป็นอัยกา (ปู่) ของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง จนมีอัยกาเป็นต้นแบบของการปกครองของพระองค์ เหตุดังนั้น เมื่ออัยกาทรงจัดให้มีงานเลี้ยงผู้สูงวัย พระองค์จึงทรงจัดให้มีบ้างเป็นการสืบทอด
งานเลี้ยงผู้สูงวัยของเฉียนหลงมีขึ้นเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ได้ยาวนานกว่าอัยกา คือเกิน 60 ปีเป็น 61 ปีเพื่อมิให้ยาวนานเกินกว่าอัยกา ทั้งที่พระองค์ยังมีพระพลานามัยที่ดีอยู่ โดยพระองค์ทรงสละราชสมบัติให้แก่โอรสองค์ที่ 15 ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน นั่นคือ จักรพรรดิเจียชิ่ง (ครองราชย์ ค.ศ.1796-1720) ในปีที่ทรงสละราชสมบัตินั้นคือปี ค.ศ.1795
พอถึง ค.ศ.1796 เฉียนหลงซึ่งมีพระชนมายุได้ 86 ชันษาทรงจัดให้มีงานเลี้ยงผู้สูงวัยเป็นเวลาสามวัน งานครั้งนี้จัดให้มีขึ้นที่วังอายุมงคลวัฒนสันติหรือหนิงโซ่วกง และผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีจำนวนทั้งสิ้น 3,056 คน ส่วนผู้ที่ได้รับเกียรติให้ใกล้ชิดจักรพรรดิในงานนี้คือ โอรสของจักรพรรดิ มหาอำมาตย์ชั้นกง (เจ้าพระยา) เหล่าเสนามาตย์ และผู้สูงวัยที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป
ที่สำคัญ งานเลี้ยงครั้งนี้ยังได้จัดให้มีการแต่งกาพย์กลอนอีกด้วย ปรากฏว่า ผู้ร่วมงานที่ช่วยกันแต่งกาพย์กลอนครั้งนี้สามารถแต่งได้ถึง 3,497 บท
นอกจากการจัดเลี้ยงแล้ว เฉียนหลงยังทรงมอบรางวัลจำนวนไม่น้อยให้แก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย และทรงแต่งตั้งผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 100 ปีที่มีอยู่สองคนได้เป็นขุนนางระดับหก ผู้ที่มีอายุเกิน 90 ได้เป็นขุนนางระดับเจ็ด อีกทั้งยังพระราชทานไม้เท้าและเหรียญเงินที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะงานนี้แก่ผู้สูงวัยเหล่านี้ พร้อมเงินบำนาญอีกด้วย
การจัดงานเลี้ยงให้แก่ผู้สูงวัยของจักรพรรดิคังซีและจักรพรรดิเฉียนหลงได้ส่งผลในเรื่องหนึ่งคือ การทำให้สังคมจีนให้ความสำคัญแก่ผู้สูงวัยมากขึ้นนับแต่นั้นมา ทั้งนี้มีการบันทึกไว้ว่า งานเลี้ยงผู้สูงวัยที่จัดให้มีขึ้นในเทศกาลตรุษจีนในปี ค.ศ.1722 มีผู้ได้รับเชิญมากกว่า 1,000 คน และใน ค.ศ.1786 มีมากกว่า 3,000 คน
ที่สำคัญ งานเลี้ยงที่จัดให้มีขึ้นในสมัยเฉียนหลงนั้นได้มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกเอาไว้ ต่อมามีช่างเขียนภาพวาดภาพงานเลี้ยงตามคำบรรยายในบันทึก ภาพงานเลี้ยงนี้จึงปรากฏอยู่ในสิ่งพิมพ์ตะวันตก
ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเฉียนชิงกงในที่นี้ก็คือ ในวังนี้ยังมีลายพระหัตถ์พู่กันจีนของเฉียนหลงความว่า เจิ้งต้ากวางหมิง ที่แปลว่า ยุติธรรมและโปร่งใส อีกด้วย ข้อความนี้เขียนบนป้ายขนาดใหญ่อยู่เหนือบัลลังก์จักรพรรดิ เพื่อเตือนให้ระลึกรู้ถึงคติธรรมในการปกครองของราชวงศ์ชิง
นอกจากนี้ ก็ยังมีตลับที่หุ้มด้วยผ้าไหมที่ภายในตลับจะบรรจุพระนามของผู้ที่จะได้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปอีกด้วย พระนามนี้ทรงเขียนโดยจักรพรรดิ โดยพระนามนี้ยังมีอีกชิ้นหนึ่งที่องค์จักรพรรดิจะทรงเก็บไว้ด้วยพระองค์เอง ธรรมเนียมนี้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ซึ่งเมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็จะมีพิธีเปิดตลับแล้วจะรู้ว่าใครคือจักรพรรดิองค์ต่อไป
จากนั้นพระนามจักรพรรดิองค์ใหม่ก็จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันปีกทางตะวันออกของเฉียนชิงกงถูกใช้เป็นที่จัดแสดงฎีกา เอกสาร พระราชลัญจกร เครื่องดนตรี เครื่องทรงของจักรพรรดิและจักรพรรดินี และอาวุธของยามรักษาการพระราชวัง สิ่งแสดงเหล่านี้เป็นของราชวงศ์ชิงทั้งหมดจนทำให้ได้กลิ่นอายของราชวงศ์ชิงไปด้วย ที่อาจทำให้เราจินตนาการไปถึงหลายชีวิตที่เคยวนเวียนอยู่ในวังนี้ได้ไม่ยาก