xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมน้ำหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



น้ำหอมจะมีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับน้ำหนักของเครื่องสำอางชนิดอื่นๆ บางขวดที่มาจากยี่ห้อดังๆ ระดับโลกจะแพงเหยียบหมื่นหรือแสนบาททีเดียว เพราะลูกค้าจะเป็นผู้มีรายได้สูง หรือเป็นสังคมชั้นสูงของประเทศต่างๆ

แต่ที่ผู้ใช้น้ำหอมอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ในขบวนการเก็บดอกไม้เพื่อมากลั่นเป็นน้ำหอมนั้น ได้มีการขูดรีดแรงงานอย่างสาหัสเสียจนถึงขนาดแรงงานที่เก็บดอกไม้ยามดึก กลายเป็นแม่ที่ต้องหอบเอาลูกเล็กๆ ของเธอมาช่วยเก็บดอกไม้ในช่วงเวลาดึกสงัด เพื่อจะได้น้ำหนักดอกไม้หนักพอจะแลกเป็นเงินสำหรับซื้ออาหารรับประทานพอประทังชีวิตให้อยู่รอดไปแต่ละวัน

ในทวีปเอเชียนั้น การใช้แรงงานเด็กมีมาแต่โบราณ ในการปลูกดำข้าวหรือการนวดข้าว ตลอดจนการเก็บผลไม้ แต่เป็นในสเกลหรือขนาดที่ไม่หนักหนาที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุ 5-6 ขวบ และมักจะไม่ใช้แรงงานเด็กในเวลากลางคืนที่เป็นเวลาพักผ่อนของเด็กๆ ที่มีร่างกายกำลังเติบโต

แต่สำหรับที่ประเทศอียิปต์ มีไร่ดอกมะลิ (วัลย์) จนเป็นผู้ผลิตที่ส่งออกดอกมะลิถึงครึ่งหนึ่งของดอกมะลิ (วัลย์) ทั่วโลก

โดยมีโรงงานที่กลั่นน้ำมันหอมดอกมะลิอยู่ 3 เจ้ายักษ์ ที่ส่งน้ำมันหอมนี้ไปยังผู้ซื้อรายใหญ่ที่เป็นบริษัทผลิตน้ำหอมชื่อดังๆ ของโลก ซึ่งเจ้าของคือบริษัทเครื่องสำอางยักษ์ที่ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ และอาจมีบริษัทเครื่องสำอางยักษ์ที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งที่จีนที่เป็นลูกค้าน้ำมันหอมกลั่นจากดอกมะลิที่ปลูกที่อียิปต์ด้วย

จากรายงานการสอบสวนถึงการแอบใช้แรงงานเด็กในการเก็บดอกมะลิที่อียิปต์ จัดทำโดยผู้สื่อข่าวบีบีซีที่แอบปลอมตัวเข้าไปถ่ายทำถึงไร่ดอกมะลิที่อียิปต์ ทั้งไร่ที่เป็นของบริษัทกลั่นน้ำมันหอมมะลิเอง และไร่อิสระที่ปลูกในขนาดเล็กกว่าของบริษัทกลั่นน้ำมันหอม

พบว่า การเก็บดอกมะลิจะทำตอนกลางคืนดึกสงัด เพราะดอกมะลิจะบานช่วงดึก และจะมีปริมาณน้ำมันหอมสูงสุดในเวลาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะสาดแสงแรงกล้ามาเผาน้ำมันหอมให้ระเหยไปหมด

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีที่ปลอมเข้าไปเก็บข้อมูลและเก็บภาพเด็กจำนวนมากเริ่มทำงานในไร่มะลิช่วงตี 3 ซึ่งแสดงว่า เด็กๆ จะต้องตื่นก่อนตี 3 และใช้เวลาเดินทางก่อนมาช่วยแม่ของเขาทำงาน

แม่ๆ ชาวอียิปต์ที่รับจ้างเก็บดอกมะลิ จะปลุกลูกๆ ของตนตั้งแต่ตี 2 เพื่อเตรียมลูกๆ ที่อายุตั้งแต่ 5 ขวบจนถึง 15 ปี เพื่อเดินทางไปพร้อมแม่ไปที่ไร่มะลิที่มีขนาดใหญ่โต

แม่จะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีไฟฉายคาดที่ศีรษะ เพื่อส่องให้เห็นดอกมะลิที่กำลังบานยามดึก ส่วนลูกๆ ก็จะอาศัยแสงไฟของแม่ที่บางทีมองไม่เห็นชัด แต่ก็ต้องรีบเก็บ

หญิงอียิปต์ที่บีบีซีแอบทำรายงานนี้ ชื่อ ฮีบ้า (Heba) เธออาศัยอยู่ที่หมู่บ้านในเขตการ์เบีย (Garbia) ซึ่งเป็นเขตใจกลางของดงปลูกมะลิที่ใหญ่สุดของอียิปต์

เธอมีลูก 4 คน อายุ 5, 10, 12, 15 โดยเธอเป็นผู้เก็บดอกมะลิชนิดอิสระ (คือจ่ายซื้อไฟฉายเอง) และเป็นแรงงานที่เก็บดอกมะลิให้กับฟาร์มมะลิขนาดเล็กๆ ไม่ใช่ฟาร์มขนาดใหญ่ 3 เจ้าที่เป็นผู้กลั่นน้ำหอมมะลิเอง

ตั้งแต่ตี 3 ถึง 6 โมงเช้า ทั้งเธอและลูกทั้ง 4 จะเก็บดอกมะลิได้ประมาณ 1 กิโลหรือ 1 กิโลครึ่ง โดยเธอจะไปชั่งน้ำหนักดอกมะลิ และทำให้เธอได้เงินมาแค่ 1 ดอลลาร์ 50 เซ็นต์ (ประมาณ 55 บาทต่อ 1 คืน หรือเดือนละ 1,600 บาท) ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนในอียิปต์…ขณะที่เงินเฟ้อกำลังพุ่งขึ้นตลอดเวลา

3 โรงงานยักษ์ที่ (ผูกขาด) ผลิตน้ำมันกลั่นดอกมะลิคือ A Fakhry and Co…Hashem Brothers…Machalico ซึ่งจะมีไร่มะลิของตนเอง ซึ่งก็จะใช้แรงงานเด็กๆ เล็กๆ ที่ตามแม่มาช่วยเก็บดอกมะลิยามวิกาลเช่นกัน และได้ค่าจ้างแรงงานต่ำมากพอๆ กับผู้เก็บมะลิแบบอิสระ

โรงงานกลั่นน้ำมันหอมดอกมะลินี้เป็นผู้กำหนดราคาในการซื้อขายดอกมะลิ โดยกดราคาต่ำมากๆ และมีแรงงานในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันหอมดอกมะลิที่อียิปต์อยู่ 3 หมื่นคน ซึ่งผู้เก็บดอกมะลิส่วนใหญ่ต้องอาศัยแรงงานจากลูกตัวน้อยๆ ให้มาช่วยเก็บในท่ามกลางความมืดมิดที่มีผลต่อสายตาของเด็กๆ ซึ่งบีบีซีพบว่า ลูกสาวอายุ 10 ขวบของนางฮีบ้ากำลังมีปัญหาที่ดวงตาอีกเสบ จากการเพ่งเก็บดอกมะลิทุกๆ คืนในแสงสว่างที่ไม่พอเพียง และหมอตากำลังเป็นห่วงสายตาของเด็กน้อยผู้นี้

บีบีซีได้นำคลิปที่เขาแอบถ่ายทำภาพของเด็กๆ ตัวน้อยๆ ต้องทนทรมานเก็บดอกมะลิตอนตี 3 ถึง 6 โมงเช้าทุกๆ คืน แล้วส่งไปให้บริษัทน้ำหอมยักษ์ 2 แห่งของโลก ที่รับซื้อน้ำมันหอมดอกมะลิจาก 3 บริษัทที่อียิปต์

2 บริษัทยักษ์คือ ลอรีอัล และเอสเต ลอเดอร์ จะเป็นปลายทางที่ซื้อน้ำมันหอมต่อจากบริษัท กีโลดอง (Givaudan) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัท (แทบผูกขาด) รับซื้อน้ำมันหอมกลั่นดอกมะลิ

ทั้งลอรีอัล และเอสเต ต่างยืนยันว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการใช้แรงงานเด็กตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการกดค่าแรงในการรับซื้อดอกมะลิ...โดยในใบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทจะเน้นเรื่องการใส่ใจด้านคุณธรรมและจริยธรรมในการผลิตน้ำหอมทุกขั้นตอน...และยังยืนยันด้วยว่า ได้ว่าจ้างบริษัทตรวจสอบอิสระเพื่อเข้าไปตรวจสอบทุกขั้นตอนขบวนการผลิตว่า อยู่ในหลักการที่ใส่ใจด้านจริยธรรม

และกฎหมายแรงงานของอียิปต์ก็เน้นห้ามใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในช่วง 19.00-7.00 น. ด้วยซ้ำ

ซึ่งบีบีซีก็สรุปจากข้อมูลการสอบสวนด้วยว่า มีการละเมิดกฎหมายแรงงานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมเก็บดอกมะลิ และการจ่ายค่าตอบแทนต่ำมาก รวมทั้งการใช้แรงงานเด็กอย่างสาหัสจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ...ทั้งนี้เพราะบริษัทผลิตน้ำหอมที่เป็นผู้ซื้อสุดท้าย เป็นผู้กดราคาอย่างสุดๆ โดยอ้างว่า ต้องลดต้นทุน ทั้งๆ ที่ตนเองได้กำไรมโหฬารจากการขายน้ำหอมแต่ละขวดที่ราคาแพงสุดๆ

บีบีซียังรายงานด้วยว่า บริษัทอิสระที่รับจ้างไปตรวจสอบขบวนการผลิตว่ามีการละเมิดการจ้างงานหรือไม่ จะทำรายงานสวยหรูไปให้แก่บริษัทน้ำหอมซึ่งเกิดจากมีการแจ้งล่วงหน้าแก่เจ้าของไร่มะลิ ถึงวันเวลาที่จะไปตรวจสอบขบวนการเก็บดอกมะลิ! นี่เองเป็นข้อมูลที่บริษัทผลิตน้ำหอมทำประชาสัมพันธ์ว่า น้ำหอมของตนทำมาจากดอกไม้ที่ทุ่มแรงกายแรงใจในการผลิตอย่างมีจริยธรรมเต็มเปี่ยม! โดยบริษัทน้ำหอมปลายทางทั้งกดขี่ค่าแรงและราคาสำหรับน้ำมันหอม ซึ่งทำให้เกิดการกดราคาค่าแรงในการเก็บดอกมะลิตั้งแต่ต้นทาง จนทำลายสุขภาพของเด็กๆ ที่ไม่มีวันจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้ตลอดชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น