xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“จีดีพี” ไทย โตต่ำสุดในอาเซียน เครื่องยนต์เศรษฐกิจ “เก่า-พัง” เหลือแค่ท่องเที่ยว รับบท “เดอะแบก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หลังสภาพัฒน์ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวแค่ 1.5% โดยเติบโตต่ำที่สุดในประเทศอาเซียน และแนวโน้มทั้งปีหั่นเหลือแค่ 2.5% จากสารพัดปัจจัยรุมเร้า ทำเอา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงกับร้อนรุ่ม และโพสต์ข้อความบน X นัดหมายประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ทันทีในวันที่ 27 พฤษภาคมหลังเสร็จสิ้นภารกิจทัวร์ต่างประเทศ 

จะไม่ให้ไม่ร้อนรุ่มได้อย่างไร เพราะจีดีพีของไทย ไตรมาส 1/2567 ถือว่าโตต่ำสุดในอาเซียน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 5.7%, เวียดนาม 5.66%, อินโดนีเซีย 5.11%, มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ 2.7%

 พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่พรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือให้มาพลิกฟื้นสถานการณ์ในการปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมายอมรับว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวอยู่ที่ 1.5% จาก 1.7% ในไตรมาส 4 ปี 2566 ถือว่าเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะศักยภาพของไทยน่าจะเติบโตได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

มาตรการเฉพาะหน้าที่งัดออกมา แน่นอนย่อมเป็นการแจก “หมื่นดิจิทัล”  โดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อนำมาเป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการแจกดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล โดยรายละเอียดทั้งหมด สำนักงบประมาณ จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง พิจารณารายละเอียด และคาดว่าจะเสนอ ครม.อีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 จากนั้นจึงเสนอกฎหมายเข้าสู่ขั้นตอนรัฐสภาต่อไป

“เชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ หลังจากได้รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2567 โตต่ำกว่าที่คิดไว้ แต่รัฐบาลก็ยังต้องหาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ของเศรษฐกิจ” ขุนคลัง คนล่าสุด ให้สัมภาษณ์สื่อ

 เศรษฐา ทวีสิน
 ชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ครม. ว่ารัฐบาลอยากเห็นเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ขยายตัวได้เกินกว่า 2.5% โดยควรหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวให้มากกว่านี้
สอดคล้องกับ **อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต** รองประธานสภาอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ขอให้รัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก แบบทำทันที เห็นผลเร็ว และต้องเร่งใช้งบประมาณ 2567 ควบคู่กับการจัดทำงบประมาณ 2568 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ เช่น งบประมาณที่ล่าช้า หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยสูง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานโลก

 เครื่องยนต์เศรษฐกิจ เก่า-พัง-ดับ 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี การขยายตัวมาจากการบริโภคภายในประเทศ ขยายตัว 6.9% และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง 24.8% ขณะที่การลงทุนรวมหดตัว 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ หดตัวถึง 27.7% จากงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ในไตรมาสแรกของปีนี้

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.6% สาขาการขนส่ง ขยายตัว 9.4% สาขาภาคก่อสร้าง หดตัว 17.3% การส่งออก หดตัว 1% ซึ่งเป็นผลจากเดือนมีนาคม ที่การส่งออกหดตัวถึง 10% ขณะที่ภาคเกษตร หดตัว 3.5% จากสภาพอากาศร้อนแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลง

เลขาธิการสภาพัฒน์ ให้ภาพว่า ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทย 9.370 ล้านคน คิดเป็น 92.01% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อน โควิด-19 เพิ่มขึ้น 43.5% ส่งผลให้มูลค่าบริการรับการท่องเที่ยวอยู่ที่ 371,000 ล้านบาท ขณะที่คนไทยเที่ยวไทย 67.99 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 232,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายรับ รวมจากการท่องเที่ยว 603,000 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 75.27 % สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้ จะขยายตัว 2.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 2.0-3.0%) ลดลงจากเดิม 2.7% (ช่วง 2.2-3.2%) โดยมองข้อดีของการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล ซึ่งหากออกมาทันไตรมาส 4 ของปีนี้ จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 0.25%

ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ สภาพัฒน์มองไปยังเรื่องหนี้ของครัวเรือนที่มีระดับสูง และผลกระทบของสภาวะอากาศต่อภาคการเกษตร ความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเรื่องดอกเบี้ยที่ยังมีระดับสูง ผลของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนด้านการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไทย ปี 2567 การใช้จ่ายภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% สอดคล้องความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ การใช้จ่ายรัฐบาลจะขยายตัว 1.7% ตามการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ดีขึ้นหลังงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ การลงทุนรวมปี 2567 จะขยายตัว 1.9% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่การลงทุนรวมภาครัฐหดตัว 1.8% จากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง

สำหรับการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์จะขยายตัว 2% ขณะที่ปริมาณการส่งออกขยายตัว 1.5% ซึ่งลดลงจากครั้งก่อนที่ สศช.คาดว่าปริมาณขยายตัว 2.4% โดยปรับลดให้สอดคล้องการค้าโลกที่ลดลงเหลือ 2.8% จากครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 3%


สศช.คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน 2.7% เป็น 2.9% โดยสหรัฐฯ จาก 1.8% เป็น 2.4% สหภาพยุโรป 0.6% ญี่ปุ่น 0.8% เท่าเดิม ส่วนจีน เพิ่มจาก 4.3% เป็น 4.5%

 อาการโคม่า น่าเป็นห่วง 

 อมรเทพ จาวะลา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง และมีโอกาสขยายตัวระดับต่ำต่อ เพราะภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง การส่งออกยังกลับมาไม่เต็มที่ ส่วนภาคการบริโภคยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มอื่นยังชะลอตัว และยังมีประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ทั้งสงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมัน ซึ่งจะกระทบภาคการผลิตและการส่งออก

 พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าที่คาดไว้มาจากการบริโภคเอกชนที่เติบโตเกือบ 7% โดยหลักๆ มาจากการภาคการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด แต่หากดูการบริโภคในประเทศยังแผ่ว ส่วนครึ่งปีหลังภาพรวมน่าจะดีจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีขึ้น การผลิตและส่งออกจะกลับมาดีขึ้น ท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามา 35 ล้านคน จากเป้าเดิม 28 ล้านคน

ขณะที่  Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย  ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.7% สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ที่ประเมิน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้มีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่อาจเติบโตได้ต่ำจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดต่ำลง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มขึ้น

ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ออกมาประกาศหั่น คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ 2.8% จากปัจจัยการลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด แม้จะเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้แต่ไม่มากพอจะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้

ขณะเดียวกัน การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง และมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง

ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน ส่วนผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง อีกทั้งหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ มีผลต่อการจ้างงานและลงทุนในประเทศ มาตรการกระตุ้นทางการคลังยังไม่มีความแน่นอน

 บุรินทร์ อดุลวัฒนะ 
กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค สะท้อนว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยทยอยถดถอยและปรับลดลงต่อเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศค่อนข้างมาก

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กสิกรฯ ยังชี้ว่า หากมองไปข้างหน้าศักยภาพการเติบโตในระดับ 3% ถือว่าทำได้ยากขึ้น ภายใต้ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัย และเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เริ่มเก่าและพัง ทั้งในเรื่องภาคการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ดี แต่สร้างรายได้หรือการใช้จ่ายต่อหัวไม่สูง

ส่วนการส่งออกเริ่มชะลอจากสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก หรือการผลิตรถยนต์ที่คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพี เผชิญปัญหาอยู่จากการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากไม่ทำอะไรเลยภาคธุรกิจจะล้มหายตายจากไป เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลง เช่น ปัจจุบันศักยภาพการเติบโตอยู่ที่ 3% อีก 10 ปีอาจเหลือแค่ 1- 2% ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งหาอุตสาหกรรมใหม่ ดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน แรงงานเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น ปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกฎหมายและกติกาที่เป็นอุปสรรค

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กสิกรฯ มองว่า ไทยมีปัญหาที่สะสมมานานและมีปัญหาเยอะขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงภายในมากกว่าภายนอก หากเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างภายในต่อให้เศรษฐกิจโลกดีเราก็ไม่ได้รับอานิสงค์ เศรษฐกิจเราจะค่อยๆ ซึมลงเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยติดหล่ม

 พิชัย ชุณหวชิร
 สื่อนอก-แบงก์ต่างชาติ มองยังดี ชี้โตเกินคาด 

ในมุมมองของสื่อนอกและนักวิเคราะห์ต่างชาติ ผลสำรวจของสำนักข่าว Bloomberg คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกของปีนี้จะโตแค่ 0.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเท่ากันกับสำนักข่าว Reuters ที่สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 19 รายในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ของ HSBC ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างช้าๆ แต่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขที่สร้างความประหลาดใจ คือ ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะขัดกับดัชนีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำไว้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงก็ตาม

 ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 นั้นทำให้ HSBC มองว่าแบงก์ชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ตลอดทั้งปี และชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ V Shape หลังจากนี้ จากมาตรการของรัฐบาล เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ปัจจัยดังกล่าวเองก็อาจส่งผลลบต่อ GDP ไทย ถ้าหากการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าที่คาด 


ขณะที่บทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs มองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตกว่าที่คาดไว้ โดยปัจจัยภายนอกเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวเลขการส่งออก

อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำสุดในอาเซียนยังไม่น่าห่วงเท่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน  “ไตรมาส 2 และไตรมาส 3”  เพราะเป็น 2 ไตรมาสที่ไม่ได้รับผลเชิงบวกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในช่วง  “โลวซีซั่น”  ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยจะหนักหนาสาหัสไปกว่านี้ ยิ่งถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โอกาสที่ตัวเลขตัว GDP จะลดลงต่ำกว่านี้ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่ง ด้วยเห็นๆ กันอยู่ว่า ปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกรุมเร้ารอบด้าน ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจติดๆ ดับๆ ทั้งการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชน การบริโภค การท่องเที่ยว การส่งออก เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เวลาแก้ไขมานานหลายเดือนแล้วยังไม่ได้ผล

 ขณะที่การแจก “หมื่นดิจิทัล” ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วยปั่นตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังมีหลักรับประกันใดๆ ว่าจะได้ผลสักกี่มากน้อย 



กำลังโหลดความคิดเห็น