ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิบัติการติดตามโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติของชาติที่ตกอยู่ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยอยู่ในกระแสสนใจของสังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะภายหลังจากที่ “ประติมากรรมโกลเดนบอย (Golden Boy)” และ “ประติมากรรมหญิงสาว พนมมือเหนือศีรษะ” อายุเก่าแก่กว่า 900 ถึง 1,000 ปี ที่หายไปจากปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ กลับคืนสู่มาตุภูมิก็ยิ่งจุดกระแสเรียกร้องให้นำสมบัติชาติกลับสู่มาตุภูมิมีพลังมากขึ้น เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่า ยังมีหลงเหลืออยู่ในมือฝรั่งมังค่าอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
กล่าวสำหรับ “Golden Boy” นั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ The MET สหรัฐอเมริกา ได้ส่งคืนประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้น กลับสู่ประเทศไทย เมื่อ วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยกรมศิลปากรรับมอบโบราณวัตถุสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไทย ก่อนนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีประชาชนชาวไทยเดินทางไปชมเป็นจำนวนมาก
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า Golden Boy ที่ได้รับมอบคืนมานี้เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานความรุ่งเรืองของการหล่อโลหะสำริดในดินแดนที่ราบสูงโคราช อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือมีอายุราวเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว เป็นประติมากรรมรูปบุรุษสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ คือหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน อยู่ในท่านั่งชันเข่า และยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงิน และทอง
กล่าวสำหรับประติมากรรมสำริด Golden Boy นับเป็นไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นรูปปั้นของ “พระศิวะ” อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900 - 1,000 ปีมาแล้ว สูง 129 ซม. หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง รูปแบบคล้ายประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือทวารบาล จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ. ศรีสะเกษ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ. นครราชสีมา
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยว่าลักษณะของรูปหล่อ Golden Boy มีลักษณะเหมือนรูปสลักที่ปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นโดยทั่วไป จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ ของอาณาจักรขอมโบราณ
ทั้งนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่สร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร โดยพระองค์ได้สร้างปราสาทหินพิมายขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณทั้งหมด ดังนั้น นับว่าการค้นพบ Golden Boy ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรขอมโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่เคยเชื่อว่าอาณาจักรขอมแผ่มาจากทางฝั่งกัมพูชามาสู่ที่ราบสูงโคราช แต่จากหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่าอาณาจักรขอมเคยยิ่งใหญ่อยู่บนที่ราบสูงโคราชมาก่อน แล้วจึงแผ่ไปทางฝั่งเมืองเสียมเรียบของกัมพูชาในภายหลัง
ย้อนกลับราวๆ 50 ปีก่อน ชาวบ้าน ชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ขุดค้นพบ Golden Boy และหลังจากขุดค้นได้ไปปรึกษาตำรวจท่านหนึ่งอยู่ สภ.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เพื่อต้องการหาที่ขาย โดยตำรวจได้พาตนไปที่กรุงเทพฯประกาศขายให้ชาวต่างชาติในราคา 1,600,000 บาท แต่ชาวต่างชาติต่อเหลือ 1,200,000 บาท จึงตกลงซื้อขายกัน นอกจากนี้ ชาวบ้านผู้ขุดค้นพบยืนยันว่าประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอยมีสิ่งของติดตัว ดังต่อไปนี้ 1.มงกุฎเพชร 2.ลูกตาเพชร 3.สร้องสังวาลเพชรนิล 4. กำไลแขนเป็นเพชร 5. เข้มขัดเป็นเพชรและนิล
ตามข้อมูลเปิดเผยว่าการลักลอบนำโบราณวัตถุขายต่างประเทศมีความรุนแรงในช่วงปี 2500 - 2520 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม นับเป็นยุคที่คนไทยสูญเสียศิลปวัตถุสมบัติทางวัฒนธรรมไปมากที่สุด โดยเบื้องหลังการโจรกรรมวัตถุโบราณของไทยมีตัวการใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยมาจาก 2 ชาติมหาอำนาจในยุโรป โดยมีชาวบ้าน นายทุน นักสะสม พ่อค้าตลาดมืด บริษัทประมูลโบราณวัตถุ เป็นกลไกในขบวนการที่ทำให้โบราณวัตถุออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากการทวงคืน “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ของปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์” จากสถาบันศิลปะในสหรัฐฯ ใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2516 กระทั่งกลับคืนสู่ประเทศไทยในปี 2531 นับบทเรียนสำคัญ ทำให้ประเทศไทยเริ่มหันมาอนุรักษ์ดูแลมรดกทาวัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้คนไทยเรียนรู้และรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจัง
ตลอดจนประเทศไทยสามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น อาทิ “ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว” และ “ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์” เป็นการติดตามขอทวงคืนจากสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับกลับคืนเมื่อเดือน พ.ค. 2564 จวบจนการรับมอบส่งคืน “ประติมากรรม Golden Boy” และ “ประติมากรรมหญิงสาว พนมมือเหนือศีรษะ” ของปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ The MET สหรัฐอเมริกา
สำหรับเบื้องหลังการทวงคืนสมบัติชาติ การขับเคลื่อนโดยนักวิชาการอิสระจากกลุ่มสำนึก ๓๐๐ องค์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันรัฐบาลทวงคืนสมบัติชาติโบราณวัตถุหลายต่อหลายชิ้นจากต่างประเทศ ซึ่งโบราณวัตถุสมบัติชาติชิ้นสำคัญที่ถูกลักลอบนำประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ขณะที่รัฐบาลตระหนักให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไป ปี 2560 ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2560 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศ
โดยกรมศิลปากรได้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
ขณะเดียวกันผลพวงจากการปราบปรามเครือข่ายค้าโบราณวัตถุข้ามชาติและการฟอกเงินอย่างเด็ดขาดของประเทศสหรัฐฯ เป็นกลไกสะสางปัญหาขบวนการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ อย่างเข้มข้น โดยสำนักความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ รัฐบาลสหรัฐฯ หรือ United States Department of Homeland Security ตรวจยึดโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วสหรัฐฯ พร้อมกับส่งคืนสู่มาตุภูมิทำให้หลายประเทศ
ปฏิบัติการทวงคืนสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 ณ กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงกรณีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน สหรัฐอเมริกา มีความประสงค์ส่งคืนประติมากรรมสำริด 2 รายการ ได้แก่ โกเดนบอย และสตรีนั่งพนมมือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือประมาณ 900 – 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีหลักฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
พร้อมทั้งมีการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการฯ ดังนี้ โบราณวัตถุที่ได้รับกลับคืนมาแล้ว ได้แก่ ทับหลัง 2 รายการ จากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ความคืบหน้าโบราณวัตถุที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม 35 รายการ ได้แก่ ประติมากรรม 32 รายการ พระพุทธรูปยืนเหนือพนัสบดีจากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี 1 รายการ ใบเสมาจากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ 2 รายการ ส่วนโบราณวัตถุที่จะติดตามเพิ่มเติม 2 รายการ เช่น เศียรพระพุทธรูปทวารวดี จากสาธารณรัฐเยอรมนี 1 รายการ ประติมากรรมปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย จากประเทศเบลเยียม 1 รายการ
รวมถึงความคืบหน้าในการประสานขอรับคืนเครื่องมือหินชุดสำคัญของไทยที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยาพีบอดี้ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประสานติดตามโบราณวัตถุที่ The National Gallery of Australia และตรวจสอบเพื่อดำเนินการส่งคืนกลับสู่ประเทศไทย จำนวน 11 รายการ
ในส่วนของโบราณวัตถุที่มีประวัติพบที่เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้น คณะกรรมการฯ มีมติให้ติดตามคืนจำนวน 7 รายการ โดยให้ศึกษาด้านวิชาการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงาน Homeland Security Investigation เร่งรัดการติดตามกลับคืนสู่ประเทศไทยให้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันหารือแนวทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาและข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศที่ถูกโจรกรรมและสูญหายให้กลับคืนมาสู่ประเทศไทย ควบคู่กับการควบคุมดูแลโบราณวัตถุและโบราณสถานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปลอดภัย รวมไปถึงการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการสืบค้นโบราณวัตถุของไทยเพื่อติดตามกลับคืน ซึ่งใช้ประกอบเป็นข้อมูลสำคัญในการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำหรับโบราณสถานในพื้นที่อื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม สมบัติชาติทางวัฒนธรรมของไทย อยู่ในระหว่างทวงคืนกลับคืนอีกจำนวนมาก นายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร หนึ่งในทีมผู้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ กล่าวถึงการติดตามทวงคืน “โบราณวัตถุกลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัย และปราสาทเขาปลายบัด” จากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ เป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นโบราณวัตถุที่ไม่มีภาพถ่ายยืนยัน มีเพียงคำบอกเล่า และข้อมูลของผู้ที่ลักลอบนำออกนอกประเทศไทย เลยทำให้ต้องใช้เวลานานในการสืบสวน โดยวัตถุโบราณชุดนี้ถูกลักลอบออกนอกประเทศ ตั้งแต่ประมาณปี 2500 - 2510 ช่วงที่มีการตั้งฐานทัพต่างชาติในประเทศไทย
โดยจากการไล่สืบค้นข้อมูลพบว่า โบราณวัตถุกลุ่มนี้มีการเชื่อมโยงกับ “นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด” นักสะสมวัตถุโบราณชาวอังกฤษ ที่เข้ามาจนได้สัญชาติไทย มีร้านขายวัตถุโบราณอยู่ในยุโรป ซึ่งที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาหลายคดีในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันนายดักลาส เสียชีวิตไปแล้ว
โบราณวัตถุมีการลักลอบนำออกไปจาก ปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ คือ กลุ่มประติมากรรมสำริด รูปพระโพธิสัตว์ในศาสนามหายาน มีการหล่อสำริด โดยใช้เทคนิคขั้นสูง อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 มีลักษณะผสมผสานระหว่างจินตนาการของช่างกับความเหมือนจริง
คำบอกเล่าของอดีตนักล่าขุดสมบัติโบราณผู้ค้นพบประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ระบุว่า ปี 2507 เคยขุดหาพระพุทธรูปสำริดองค์เล็กภายในปราสาทได้มากกว่า 30 องค์ และเคยขุดได้เทวรูปขนาดใหญ่ 4 กร ที่ถูกฝั่งรอบปราสาทขึ้นมาจากหลุมถึง 9 องค์ ด้วยวิธีงัดคอขึ้นมา ทำให้พระสำริดมีตำหนิที่คอตรงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริดที่ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐฯ กระทั่ง เกิดกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัย
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันมีโบราณวัตถุของไทยกระจายอยู่ในประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ และมีหลายชิ้นที่แม้พิสูจน์แล้วว่าเป็นของไทย แต่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศยังไม่ยอมส่งคืน อาทิ รูปสำริดพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร จากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีข้อมูลระบุว่าถูกขายให้กับนักสะสมชาวต่างชาติในปี 2510 และมีการเรียกร้องให้ The Met ส่งคืนตั้งแต่ปี 2559
สุดท้าย สมบัติชาติทางวัฒนธรรมของไทย ยังอยู่ในระหว่างทวงคืนกลับสู่มาตุภูมิอีกเป็นจำนวนมาก.