xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละเส้นทาง “พี่น้อง 2 ธร” “ธนาธร” ซื้อ “บ้านปรีดี” สานต่อภารกิจ 2475 “สกุลธร” เจอ “คุก” ติดสินบนซื้อ “ที่ทรัพย์สินฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “2 พี่น้องจึงรุ่งเรืองกิจ” คือ “ธนาธร-สกุลธร” ในห้วงนี้แล้ว ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและแสวงหาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวพันโยงใยในหลากหายมิติ

กล่าวคือ ในขณะที่ “ผู้พี่” คือ “ธนาธร” ยกคณะผู้ฝักใฝ่ในการปฏิวัติ 2475 อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พรรณิการ์ วานิช ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พร้อม “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ที่ปักหลักอยู่ที่ฝรั่งเศส เพื่อเฉลิมฉลอง “บ้านอองโตนี” ซึ่งเป็นบ้านชานกรุงปารีสที่เคยเป็นบ้านพักของนายปรีดี พนมยงค์ และ “เสี่ยเอก” ควักเงิน 63,788,000 ล้านบาทซื้อเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยไทย และใช้เป็นสถานที่จัดงานของคนไทย

“ผู้น้อง” อย่าง “สกุลธร” ในฐานะ “ประธานบริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์จํากัด” กลับต้องเผชิญวิบากกรรมครั้งสำคัญ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กระทำผิด ติดสินบนเจ้าพนักงานและนายหน้า เป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จำนวน 2 แปลง ในซอยร่วมฤดีและย่านชิดลมว่า “สกุลธร” มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 84 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/5 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 84 เพียงบทเดียว จำคุก 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 1 ใน 4 คงจำคุก 6 เดือน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้มีการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นต่อไป

นัยของ 2 เหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างไร

กล่าวสำหรับ “เสี่ยเอก-ธนาธร” นั้น การที่เขาตัดสินใจซื้อ “บ้านอองโตนี” คือใบเสร็จที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า “ฝักใฝ่ในการปฏิวัติ พ.ศ.2475” ซึ่งเป็นการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ ธนาธรเคยประกาศว่า เขาจะต้องเดินหน้า “สานต่อภารกิจ 2475” ที่ยังทำไม่สำเร็จ 4 ด้านคือ 1.การปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ ยุติการผูกขาดอำนาจและงบประมาณที่กรุงเทพฯ 2.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 3.การปฏิรูปสถาบัน และ 4.การปฏิรูปกองทัพ
ธนาธรพูดชัดเจนว่า เป้าหมายของเขาหนึ่งใน 4 คือ การปฏิรูปสถาบันซึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง แต่เมื่อเรื่องนี้ร้อนแรงขึ้น ธนาธรได้อธิบายในเวลาต่อมาว่า ภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จ และพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อ คือ การสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ภารกิจ 2475 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันฯ อย่างที่ถูกใส่ร้าย
ทว่า ก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกับสังคมได้ว่า เหตุใพรรคการเมืองที่เขาดำรงสถานะเป็น “ศาสดา” ไม่ว่าจะเป็น “พรรคอนาคตใหม่” ที่ถูกยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ หรือ “พรรคก้าวไกล” ที่ส่งต่อมาสู่มือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันอย่าง “เสี่ยต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน” เพื่อนรักของเขา จึงมีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112” ซึ่งในเวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาชี้ชัดลงไปว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าวคือ “การเซาะกร่อน บ่อนทำลาย”
ดังนั้น จึงไม่ต้องพิสูจน์ว่า การที่เขายอมเสียเงินเสียทองจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อซื้อ “บ้านอองโตนี” ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การโน้มน้าวจาก “จรัล ดิษฐาอภิชัย” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” นั้น สะท้อนนัยสำคัญทางการเมืองอย่างไร เพราะเป็นปฏิบัติการที่ชัดแจ้งว่าเพื่อใช้เป็น “สัญลักษณ์” ในการทำงานทางการเมืองของตัวเขา ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคการเมืองที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง




ส่วน “สกุลธร” หลังคดีดำเนินไปแบบเงียบๆ ราว 3 ปีเศษ ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็มีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน โดยในคำพิพากษาของศาลตอนหนึ่ง ระบุว่า “สกุลธร” กรณีมีพฤติการณ์กระทำผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน และนายหน้าเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แปลงใน ซ.ร่วมฤดี และย่านชิดลม

ประเด็นที่น่าสนใจ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2560 โดยกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังเตรียมดำเนินเช่าที่ดินระยะยาวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเมื่อสืบสวนสอบสวนก็พบว่า “นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนกโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินฯ มีการปลอมเอกสารเตรียมเอื้อประโยชน์ให้บริษัทดังกล่าวได้สิทธิเช่าที่ดินแปลงงามบริเวณชิดลม

หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน นำโดย พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม (ยศขณะนั้น) ตรวจสอบพบเอกสารหลักฐานการกระทำความผิด จึงแจ้งไปยังสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้มาแจ้งความดำเนินคดีก่อนจะสรุปสำนวนส่งอัยการฟ้อง 2 ราย คือ “นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช” นายหน้าติดต่อเรื่องดังกล่าว โดยมิได้ดำเนินคดีกับ “สกุลธร” กระทั่งเมื่อปี 2562 ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 บุคคลดังกล่าว เรื่องจึงแดงออกมาและสังคมร้องเอ๊ะว่า ทำไมคดีนี้มิได้ดำเนินคดีกับผู้ให้สินบนแต่ดำเนินคดีเฉพาะผู้เรียกรับสินบน ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาระบุเอาไว้ว่า “สกุลธร” คือผู้ให้เงินแก่จำเลยทั้ง 2 ราย อย่างน้อย 3 ครั้ง รวม 20 ล้านบาท จากยอดที่อ้างว่าจะให้ทั้งหมด 500 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็น “ค่าอำนวยความสะดวก” แก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ ได้สิทธิเช่าที่ดินดังกล่าว

“ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันนำข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปแจ้งต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด ว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณที่เป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) กำลังจะหมดสัญญาเช่าและจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดินดังกล่าว โดยจะมีการทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระยะยาวเมื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริงจึงให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500,000,000 บาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน) จากนั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ตามช่องทางปกติ แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกรับเงินงวดแรกจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) จากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ และร่วมกันใช้เอกสารราชการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าวตามข้อ 1 และ 2 อ้างต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) จัดทำแจ้งว่าบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนเบื้องต้นและเชิญให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับแผนพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) มีชื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงได้จ่ายเงินงวดที่สอง จำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) และงวดที่สามอีกจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) รวม 3 งวด จำนวนงินรวมทั้งสิ้น 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ให้แก่จำเลยทั้งสองรับไว้สำหรับตนเองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ ตามกฎหมายโดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมายเพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้อผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อันเป็นคุณแก่ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อื่นและประชาชน”

คำพิพากษาเขียนบรรยายเอาไว้อย่างนั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี 2563 จึงได้รื้อคดีดังกล่าวมาสอบสวนอีกครั้ง โดยมีการเรียก “สกุลธร” มาให้ปากคำ พร้อมกับเชิญ 2 อดีตจำเลยในคดีนี้ ซึ่งพ้นโทษออกมาแล้ว มาให้ถ้อยคำประกอบด้วย กระทั่งในเวลาต่อมาได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ “สกุลธร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ฐานผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน ประกอบมาตรา 83 โดยเขาเดินทางมาเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหา ต่อพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนกล่าวหา “สกุลธร” ตามความผิดดังกล่าวส่งให้อัยการ และพนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อช่วงปี 2564 กระทั่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือนแก่ “สกุลธร” ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลังศาลมีคำพิพากษา “สกุลธร” ได้ชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ผมและคณะทำงานในขณะนั้น ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยได้ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมายตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้แจ้งกับผมและทีมงานทุกประการแต่ต่อมาภายหลัง ผมได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้หลอกลวงผม ด้วยการปลอมแปลงเอกสารของสำนักงานทรัพย์สินฯ

2. เมื่อผมได้ทราบว่าถูกเจ้าหน้าที่คนนี้หลอก ก็แสดงความบริสุทธ์ใจ โดยรีบแจ้งข้อเท็จจริงถึงเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานทรัพย์สินฯ จนเป็นเหตุทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ดำเนินคดีอาญากับบุคคลนี้ จนศาลพิพากษาลงโทษเขาพร้อมกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และคดีถึงที่สุดไปแล้ว

3. ระหว่างสอบสวนคดีดังกล่าวในช่วงปี 2562 ผมยังเคยได้รับเชิญไปให้การในฐานะผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากในขณะนั้นผมติดภารกิจสำคัญอยู่ที่ต่างประเทศจึงไม่ได้ไปให้การเป็นพยานกับพนักงานสอบสวน

4. ในช่วงระหว่างการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่หลอกลวงปลอมแปลงเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯกลุ่มนี้ ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนกระทั่งถึงในชั้นศาล พนักงานสอบสวนไม่เคยดำเนินคดีใดๆ กับผมทั้งสิ้น

5. หลังจากนั้น กลับมีนักร้องไปร้องให้ดำเนินคดีผม หาว่าผมรู้เห็นเป็นใจกับบุคคลนี้ และเป็นผู้ใช้ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวไปกระทำการทุจริต

6. ขอตั้งคำถามให้ลองพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมว่า หากผมมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าวจริงแล้ว เหตุใดผมจะต้องวิ่งไปแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าว เพื่อให้ตัวเองเดือดร้อนถูกดำเนินคดีไปด้วย ผมคือผู้เสียหายจากการหลอกลวงของเจ้าหน้าที่รัฐ สมควรได้สิทธิ์คุ้มครอง เยียวยาไม่ใช่จำเลย การที่ผมเป็นผู้เริ่มคดีขึ้นเสียเองด้วยการแจ้งเบาะแสการทุจริตไปยังสำนักงานทรัพย์สินก็เพราะไม่อยากให้สำนักงานทรัพย์สินฯได้รับความเสื่อมเสียจากการที่มีบุคลากรแอบแฝงกระทำการหลอกลวงผู้อื่นเช่นที่ผมพบเจอด้วยตนเอง ผมเคารพในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ผมขอใช้สิทธิต่อสู้คดีจนถึงที่สุด และพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อพิสูจน์ความสุจริตใจของผมตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ในคำชี้แจงข้างต้น แม้ “สกุลธร” จะอ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวง แต่ถ้าหากพิจารณารายละเอียดตามคำพิพากษาทั้ง 2 คดี ก็จะพบ “ความย้อนแย้ง” อยู่ไม่น้อย เพราะในฐานะที่ “สกุลธร” เป็นผู้บริหารกิจการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จะเป็นไปได้หรือที่จะไม่ทราบกระบวนการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการว่าต้องเปิดประมูลอย่างเปิดเผยและต้องมีคู่เทียบ และการจ่ายเงินไปก่อนสามงวด รวมยี่สิบล้านบาทโดยอ้างว่าจะนำไปให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น “สกุลธร” จะไม่ทราบเลยหรือว่าตนกำลังให้สินบนเจ้าพนักงานอยู่ จะถูกหลอกลวงอะไรได้ง่ายถึงปานนั้น?

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ถึงที่สุดแล้ว คดีของ “สกุลธร” จะลงเอยอย่างไร.


กำลังโหลดความคิดเห็น