xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (12)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุสาวรีย์ของหลี่ จื้อเฉิง อยู่ที่บริเวณทางเข้าสุสานจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิง กรุงปักกิ่ง
 ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วังสวรรค์พิสุทธิ์ในวันที่หมิงล่มสลาย


นอกจากจะเคยเกิดเรื่องที่ไม่ “พิสุทธิ์” แล้ว วังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกงก็ยังเคยถูกกบฏยึดครองอีกด้วย นั่นคือ  กบฏหลี่จื้อเฉิง 

 กบฏหลี่จื้อเฉิงเป็นขบวนการกบฏที่เกิดขึ้นเพื่อโค่นล้มราชวงศ์หมิง ถือเป็นขบวนการกบฏที่ยิ่งใหญ่อีกขบวนการหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน คือใหญ่จนสามารถโค่นล้มราชวงศ์หมิงได้สำเร็จ แต่ด้วยเหตุที่หัวหน้ากบฏไม่มีทักษะทางการปกครอง กบฏขบวนการนี้จึงมีอายุสั้นมาก  

หัวหน้ากบฏมีชื่อว่า หลี่จื้อเฉิง (ค.ศ.1605?-1645) ตอนที่หลี่จื้อเฉิงจัดตั้งขบวนการกบฏของตนขึ้นนั้น ในจีนได้เกิดกบฏขึ้นแล้วหลายขบวนการ และขบวนการกบฏของหลี่จื้อเฉิงก็มิได้มีเขาเป็นผู้นำเมื่อแรกตั้ง หากแต่ตัวเขาเป็นหนึ่งในแกนนำที่มีอยู่หลายคน

กบฏได้ก่อการขึ้นที่มณฑลสั่นซีและซันซีก่อน จากนั้นจึงขยายการบุกไปยังที่ราบภาคกลางใน ค.ศ.1633 ครั้นถึง ค.ศ.1635 แกนนำกบฏที่มาจาก 13 ตระกูลรวม 72 ค่ายก็จัดให้มีการประชุมกันขึ้น ที่ประชุมมีมติให้แบ่งกองกำลังออกเป็นกองประจำการตามข้อเสนอของหลี่จื้อเฉิง

กองประจำการนี้มีอยู่ห้าสาย ต่อมาผู้นำในสายที่หลี่จื้อเฉิงสังกัดถูกกองกำลังของทางการจับได้และถูกประหารชีวิต เขาจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน แต่การศึกที่มณฑลสั่นซี เหอหนัน และหูกว่าง กองกำลังของหลี่จื้อเฉิงถูกโจมตีอย่างหนักจนเขาต้องหนีไปซ่อนตัวในเขตป่าเขา พร้อมกันนั้นก็ฟื้นฟูกองกำลังขึ้นมาใหม่

อนึ่ง หูกว่างที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นมณฑลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1279-1368) มีพื้นที่ครอบคลุมมณฑลหูเป่ยในส่วนที่อยู่ด้านใต้แม่น้ำเหลือง หูหนัน กว่างซี และกุ้ยโจวในปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์ชิง หูกว่างถูกปรับพื้นที่ให้อยู่ในบริเวณมณฑลหูเป่ยและหูหนัน จนเรียกกันว่า เหลี่ยงหู ที่แปลว่า มณฑลสองหู ด้วยชื่อของสองมณฑลนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า หู

กล่าวโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า ตลอดทศวรรษ 1630 กองกำลังกบฏของหลี่จื้อเฉิงแม้จะมิได้เข้มแข็งมากนัก แต่ก็มิได้หยุดการเติบโต จากเหตุนี้ พอลุล่วงสู่ทศวรรษ 1640 กองกำลังของเขาก็แข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ต้น ค.ศ.1644 หลี่จื้อเฉิงได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์ซุ่นขึ้นที่มณฑลซันซี จากนั้นก็บุกตีเมืองต่างๆ เรื่อยมาจนถึงชานเมืองหลวง ถึงตอนนี้ราชสำนักหมิงก็รู้ถึงจุดจบของตน ในชั้นแรก จักรพรรดิฉงเจิน (ค.ศ.1611-1644) แห่งราชวงศ์หมิงทรงปฏิเสธคำแนะนำที่จะให้พระองค์เสด็จหนีลงไปทางใต้ และยืนยันที่จะต่อสู้กับฝ่ายกบฏ โดยพระองค์ทรงม้าเสด็จออกจากวังเพื่อไปยังทำเนียบของมหาอำมาตย์ แต่ยามที่เฝ้าทำเนียบไม่ยอมเปิดประตูให้พระองค์เข้าไปพบมหาอำมาตย์ผู้นั้น พระองค์จึงเสด็จกลับมาที่เฉียนชิงกงอีกครั้ง
เมื่อมาถึงจักรพรรดิฉงเจินจึงทรงสั่งให้ตีกลองและระฆังเพื่อเรียกประชุมฉุกเฉินเหล่าเสนามาตย์ แต่ก็ไม่มีเงาของผู้ใดมาปรากฏให้เห็น ถึงตอนนี้พระองค์ก็ทรงรู้แล้วว่า ราชวงศ์หมิงถึงกาลอวสานแล้ว พระองค์ทรงคิดปลอมตัวเป็นขันทีเพื่อหนีออกจากวังหลวง แต่ก็ไม่สำเร็จ

แต่จนถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้พระองค์ก็ยังคงไม่ยอมรับว่า ที่ราชวงศ์ต้องล่มสลายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพระองค์ ได้แต่โทษว่าเป็นความผิดของเหล่าเสนามาตย์ พระองค์ตรัสว่า  “ตัวเรามีคุณธรรมความสามารถอยู่น้อย ร่างกายก็อ่อนแอ สวรรค์จึงลงทัณฑ์ ความผิดทั้งมวลอยู่ที่เหล่าเสนามาตย์”  

จากนั้นพระองค์ก็เสด็จขึ้นสู่เนินเขาจิ่ง (จิ่งซัน) ที่อยู่ท้ายวังพร้อมขันทีที่จงรักภักดีจำนวนหนึ่ง แล้วผูกพระศอสิ้นพระชนม์ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1644 ปิดฉากจักรพรรดิองค์สุดท้ายของหมิงในที่สุด

เช้าตรู่วันเดียวกันกับการสิ้นพระชนม์ของฉงเจิน ทัพของหลี่จื้อเฉิงได้กรีธาเข้ากรุงปักกิ่งในฐานะผู้ชนะ และเข้าจัดการกับกลุ่มโจรที่ฉวยโอกาสปล้นสะดมราษฎรในขณะที่เมืองหลวงกำลังวุ่นวาย ด้วยการให้ประหารชีวิตโจรเหล่านี้ หลี่จื้อเฉิงไปถึงวังหลวงในช่วงบ่าย และให้รู้สึกเสียใจเมื่อรู้ว่าจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ด้วยเกรงจะถูกตำหนิว่าเป็นผู้แย่งชิงราชบัลลังก์ จากเหตุนี้ หลี่จื้อเฉิงจึงเลื่อนเวลาที่จะตั้งตนเป็นจักรพรรดิออกไป แล้วคงไว้ซึ่งฐานะกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซุ่นที่เขาตั้งตนขึ้นมาเมื่อ ค.ศ.1643

แต่ความหวาดหวั่นที่จะขึ้นครองบัลลังก์เพื่อบริหารประเทศเป็นเรื่องที่รอช้ามิได้ ด้วยยังมีขุนนางและเจ้าพนักงานด้านธุรการอีกหลายพันคนยังคงอยู่ที่เมืองหลวง คนเหล่านี้กำลังรอการอนุมัติงานรัฐกิจจากเขาเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ และต่างก็คือบุคลากรของหมิงมาแต่เดิม ซึ่งก็หมายความว่า คนเหล่านี้พร้อมที่จะรับใช้ราชวงศ์ใหม่ แต่ก็หวังที่จะได้เงินเดือนเพื่อการดำรงชีพพร้อมกันไปด้ว

 เหตุผลอย่างหลังนี้เป็นปัญหาที่หลี่จื้อเฉิงต้องเผชิญและแก้ไขให้ได้ เพราะทรัพย์สมบัติที่เขาวาดหวังว่าจะมีอยู่มหาศาลในท้องพระคลังกลับไม่มีอยู่จริง และนั่นก็คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดที่ช่วงเดือนสุดท้ายของฉงเจินจึงไม่มีเงินเดือนมานำจ่ายให้แก่กองทัพได้ หลี่จื้อเฉิงแก้ปัญหานี้ด้วยการยึดเอาทรัพย์สินจากขุนนางกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับกุม แล้วนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่คนเหล่านี้แทน โดยเฉพาะไพร่พลในกองทัพ แต่ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้นักโทษในคุกเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย 

การแก้ปัญหาดังกล่าวของหลี่จื้อเฉิงเกิดผลก็แต่คนเฉพาะกลุ่มและแค่ชั่วคราว ภาวะไม่ปกติจึงเกิดตามมาและครอบคลุมไปทั่วปักกิ่ง จากนั้นก็นำไปสู่วินัยที่หย่อนยานของไพร่พลในกองทัพ ไพร่พลเหล่านี้พากันปล้นสะดมร้านค้าและบ้านเรือนราษฎรแม้ในตอนกลางวัน

หลี่จื้อเฉิงพยายามที่จะจัดระเบียบไพร่พลของตนขึ้นใหม่ แต่ไม่สำเร็จ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อทัพของเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือถูกทัพหมิงตีแตก ทัพนี้นำโดยขุนศึกจีนชื่อ  อู๋ซันกุ้ย (ค.ศ.1612-1678)  โดยร่วมมือกับขุนศึกชาวแมนจูชื่อ  ดอร์กอน (ค.ศ.1612-1650)  

ตราบจนวันที่ 3 มิถุนายน ท่ามกลางความคลุ้มคลั่งเมามายและการปล้นสะดมอย่างนองเลือดดังกล่าว หลี่จื้อเฉิงก็ตัดสินใจทำพิธีตั้งตนเป็นจักรพรรดิอย่างเร่งรีบ พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ควบขี่ม้าออกจากปักกิ่งมุ่งสู่เมืองซีอัน เพื่อเตรียมทำศึกกับกองกำลังหมิงที่ยังหลงเหลืออยู่

ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน ดอร์กอนก็ยกทัพมาถึงชานกรุงปักกิ่ง พอตกบ่ายเขากับคณะผู้ติดตามก็เข้าไปพักผ่อนในวังต้องห้าม เป็นอันสิ้นสุดการต่อสู้ของแมนจูที่เพียรพยายามมานานถึง 30 ปี กว่าที่จะได้ครองแผ่นดินจีนในที่สุด

หลังจากนั้นไม่นานดอร์กอนก็ส่งทัพไปทางตะวันตกเพื่อไล่ล่าหลี่จื้อเฉิง ส่วนชะตากรรมของหลี่จื้อเฉิงเมื่อออกจากปักกิ่งไปแล้วไม่มีความแน่ชัด รู้เพียงว่าเขาถูกสังหารใน ค.ศ.1645 แต่จะถูกสังหารโดยใครยังเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าโดยทหารองค์รักษ์ของเขาเอง ในขณะที่เขากำลังหนีเอาตัวรอดจากการไล่ล่าของทัพแมนจู บ้างก็ว่าเขาหนีไปบวชโดยไม่ได้ระบุว่าบวชในศาสนาใด และเสียชีวิตใน ค.ศ.1674

ส่วนเรื่องราวของฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของหมิงที่กล่าวไปแล้วนั้น มีเฉียนชิงกงหรือวังสวรรค์พิสุทธิ์ร่วมอยู่เป็นฉากสุดท้ายอยู่ด้วยเช่นกัน แต่บทบาทของวังนี้ก็ยังมิได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะพอแมนจูสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นมา วังนี้ก็ยังคงแสดงบทบาทของตนเรื่อยมาแทบไม่ขาดเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น