xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เพื่อไทย” พิสูจน์ “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ไฟต์บังคับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ แต่จะคุ้ม “ค่าข้าวแกง” ไหม อีกเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศไทม์ไลน์ดักหน้าไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 1 ตุลาคมนี้ โดยไม่รอมติ “คณะกรรมการไตรภาคี” เสียก่อน แม้ว่าจะมีการรับฟังเสียงค้านของภาคธุรกิจเอกชนหรือ “ฝ่ายนายจ้าง” ที่ดังระงมอยู่บ้างก็ตาม

การ **“หักดิบ”** ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว ย่อมทำให้แรงงานทั่วประเทศเบิกบานใจกันถ้วนหน้า เพราะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการที่แรงงานมีเม็ดเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ยังจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า **“ค่าแรง”** ถือเป็น **“ต้นทุนการผลิต”** ที่สำคัญ หากปรับขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและสภาวะเศรษฐกิจ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่มีสายป่านสั้น หากแบกรับต้นทุนไม่ไหวสุดท้ายก็อาจต้องปิดกิจการ และคนตกงานตามมา

อย่างไรก็ดี นี่เป็นไฟว์บังคับที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะต้องดันไปให้สุดทาง ตามคำมั่นสัญญาที่ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงานเอาไว้ว่า จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และให้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึง 400 บาทต่อวัน ตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ

**ไม่เพียงแต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และจะไต่ขึ้นไปถึง 600 บาทต่อวันในปี 2570 เท่านั้น แต่พรรคเพื่อไทยยังมีเป้าหมายการปรับขึ้นเงินเดือนคนจบปริญญาตรีและข้าราชการ เริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 อีกด้วย**

ในช่วงหาเสียงไม่ว่าจะเวทีไหน พรรคเพื่อไทย ลั่นว่า นโยบายนี้ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน แต่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก **“ทุนนิยมที่มีหัวใจ”** ซึ่งหลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation)

ในวันที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ก็พูดชัดเจนว่าจะดำเนินการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายแรงงาน และฝ่ายนายจ้าง หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการไตรภาคี” เดินหน้าปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ **“โดยเร็วที่สุด” **

ทว่า ณ บัดนี้ วันเวลาล่วงเลยมากว่า 8 เดือนแล้ว โดยเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ก็จะครบหนึ่งปี หากไทม์ไลน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท แล้วสุดท้ายทำไม่ได้ คำประกาศของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นได้แค่ **“คำสัญญาที่ว่างเปล่า”**

ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ออกแรงผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ มาแล้วสองยก

**ยกแรก** คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำด้วยสูตรใหม่ มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ให้ขึ้นค่าจ้างอีกวันละ 2-16 บาท ทำให้ค่าจ้างสูงสุดขยับมาอยู่ที่ 370 บาท โดยมีผลวันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงยกแรกนี้ ยังห่างเป้าหมายอยู่อักโข

**ยกที่สอง** คณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 10 จังหวัด (บางพื้นที่) เฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยมีผลเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นการปรับขึ้นที่ “ไม่ตอบโจทย์” เพราะเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทย คือต้องการให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน “ทั่วประเทศ” ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่และเฉพาะกิจการ

เมื่อยังไปไม่ถึงเป้าหมาย กระทรวงแรงงาน ในฐานะเจ้าภาพหลัก ก็ต้องพยายามให้หนักขึ้น โดย **พิพัฒน์ รัชกิจประการ** รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศลั่นในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ คาดว่าจะมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567

หลังสิ้นเสียงประกาศ ฝ่ายผู้ใช้แรงงานต่างออกมาสนับสนุน ขณะที่ทางฝ่ายนายจ้างต่างส่งเสียงคัดค้านระงม

**วางไทม์ไลน์ ตุลาคมปีนี้ ปรับขึ้น 400 บาท แน่นอน **

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน รายงานการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน -ตุลาคม 2567

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันหนักแน่นว่า รัฐบาลจะไม่ถอยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และจะติดตามผลกระทบเพื่อหาเยียวยาโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี โดยกระทรวงแรงงาน จะหารือผู้ประกอบการเพื่อรับฟังข้อเสนอ กระทรวงพาณิชย์ รับหน้าเสื่อดูแลผลกระทบราคาสินค้า และกระทรวงการคลัง วางมาตรการภาษีช่วยผู้ประกอบการ

นอกจากเหตุผลทางการเมืองที่รัฐบาลเพื่อไทย ต้องขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามคำมั่นสัญญาแล้ว เหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ พิพัฒน์ รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ถึงความจำเป็นต้องปรับค่าแรงฯ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือลดขนาดหรือปริมาณลง จึงสมควรทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 โดยกระทรวงแรงงาน จัดทำไทม์ไลน์ที่แน่นอนให้ทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน ดังนี้

ช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2567 สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม

ช่วงเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2567 หารือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

เดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท จะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567

**ไพโรจน์ โชติกเสถียร** ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังการประชุมพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการไตรภาคี ยืนยันไม่เป็นเครื่องมือของการเมือง จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดพิจารณาว่ากิจการใดควรขึ้นค่าจ้างเท่าใด และเห็นด้วยหรือไม่ที่ต้องขึ้นภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาต่อไป

**“....ยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอการเมือง แต่เป็นช่วงเวลาที่ควรทำ” นายไพโรจน์ กล่าว**

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติยกเลิกสูตรคำนวณปรับขึ้นค่าจ้างสูตรใหม่ ที่มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีอิสระในการเลือกสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ที่ต้องการให้ปรับขึ้น หลังจากนั้นคณะกรรมการค่าจ้าง จะนำสูตรที่จะคิดขึ้นมาใหม่มาใช้คำนวณในขั้นตอนสุดท้าย

**ฝ่ายนายจ้าง ค้าน – ฝ่ายลูกจ้าง หนุน**

**อรรถยุทธ ลียะวณิช** คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปอย่างเร่งรีบกว่าปกติ ซึ่งเดิมจะให้คณะอนุกรรมการจังหวัด เสนอภายในเดือนสิงหาคม และรอข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ที่จะออกมาในเดือนกันยายน ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรองเดือนตุลาคม และประกาศใช้เดือนมกราคม 2568

ขณะเดียวกัน ฝ่ายนายจ้าง ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567

นับเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละครั้ง ต้องพิจารณากลั่นกรอง หรือ **“สู้”** กันหลายยก กว่าจะเคาะตัวเลขสุดท้ายออกมา และที่ผ่านมาส่วนใหญ่ **“ตัวแทนฝ่ายรัฐ”** จะคำนึงถึงผลกระทบต่อ **“นายจ้าง”** มากกว่ามุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของ **“ลูกจ้าง” **


 ขณะที่คราวนี้รัฐบาลเพื่อไทยมี “ธง” ชัดเจน “ฝ่ายนายจ้าง” จึงระดมพลเกือบ 200 องค์กร เคลื่อนไหวคัดค้าน เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หอการค้าจังหวัด 76 แห่ง สมาคมการค้า 95 แห่ง สภาองค์กรนายจ้าง 16 แห่ง

ข้อเสนอของภาคเอกชน คือ คัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยต้องการให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รวมทั้งให้ยกระดับรายได้ลูกจ้างด้วยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำบางพื้นที่และบางธุรกิจ  

 เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย  ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ไม่พร้อมที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และหากปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ จะกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งตอนนี้กำลังแย่ อีกทั้งธุรกิจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ที่ไม่สามารถควบคุมได้

ประธานสภาองค์การนายจ้างฯ มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เป็นค่าแรงแรกเข้า อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อปรับคนที่เพิ่งเข้ามา คนที่อยู่ก่อนแล้วต้องปรับขึ้นด้วย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายครั้ง ผู้ประกอบการอาจปิดกิจการ เพราะรายรับไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ารายจ่าย ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ แรงงานก็จะตกงาน

ขณะเดียวกัน  เกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 โดยพบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ทางด้าน  “ฝ่ายลูกจ้าง” สาวิทย์ แก้วหวาน  ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ เพราะแรงงานต้องเจอค่าครองชีพและราคาสินค้าแพงเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ หากปรับค่าแรงต่างกันจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แรงงานในชนบทอพยพไปสู่เขตที่มีค่าจ้างสูงกว่า ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศจะส่งผลให้แรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องอพยพเข้ามาทำงานเขตกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล หรือโซนหัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะเกิดการกระจายรายได้

“... การปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทจะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ และยังสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน เพราะคนงานส่วนใหญ่ได้เงินมาก็ซื้อหมด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ต่างต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งจะสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืนด้วย” ประธาน สสรท. ให้ความเห็น

 ขึ้น “ค่าแรง” ไม่คุ้ม “ค่าแกง” ? 

รายงานผลสำรวจความเห็นของศูนย์สำรวจความเห็น  “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่องค่าแรงขึ้น…คุ้มมั๊ย กับ ค่าแกง? พบว่า ประชาชน 44.50% เห็นด้วยในการทยอยขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 1 ตุลาคม 2567 ส่วน 25.34% เห็นว่าควรขึ้นทันทีไม่ต้องรอ ขณะที่ 16.41% ไม่เห็นด้วยในการค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีนี้ แต่ที่แน่ ๆ กลุ่มตัวอย่าง 60.84% เชื่อว่าขึ้นค่าแรง ไม่คุ้มค่าอาหาร-ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยข้อมูลวิจัยหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน จะกระทบใครบ้าง และกระทบอย่างไร? พบว่า บางธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการเกิน 60% ไม่ได้มีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาท ต่อวัน หรือ 10,400 บาทต่อเดือน

ส่วนกลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า

 ข้อมูลวิจัยฯ ระบุว่า มีผู้ประกอบการราว 60% หรือประมาณ 25,000 ราย ที่น่าจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ แต่อาจจะมีผลกระทบทางอ้อมถึงลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพราะธุรกิจบางรายอาจจำเป็นต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ในบริษัทให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงผลิตภาพ หรือความสามารถที่ต่างกัน 

สำหรับจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับสูง เช่น ภูเก็ต จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำ เช่น น่าน ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะเพิ่มขึ้นถึง 18–21%

ขณะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ จากการปรับตัวของนายจ้าง ธุรกิจอาจจ้างงานลดลง ธุรกิจขนาดเล็กอาจปิดตัวลง มีการย้ายงานจากบริษัทขนาดเล็กไปบริษัทใหญ่ที่มีผลิตภาพดีกว่า การลดต้นทุนในมิติอื่น เช่น ลดสวัสดิการ รวมถึงความปลอดภัยในการทำงาน การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น

 การปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศรอบนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน ต้องลุ้นกันว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนนโยบายแจก “หมื่นดิจิทัล วอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไปไม่ถึงฝั่ง 





กำลังโหลดความคิดเห็น