ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” หรือ “Cashless Society” อย่างน่าจับตา โดยมีส่วนสำคัญจากนโยบายรัฐตั้งแต่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ในปี 2563 ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของคนไทย หรือล่าสุดกับแอปฯ “ทางรัฐ” เพื่อรองรับใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาท
สำหรับนโยบายที่น่าจับตาผลักดันให้ประเทศไทยเคลื่อนสู่สังคมไร้เงินสด ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากของรัฐบาลคงไม่พ้น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ปี 2563 การใช้จ่ายเงินดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยมีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน นับเป็นจิทัลแพลทฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแอปฯ “เป๋าตัง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของรัฐบาล ผ่านโครงการ “คนละครึ่ง”
ล่าสุด รัฐทำคลอดแอปฯ “ทางรัฐ” สำหรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัลผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดรายละเอียดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ โดยจะใช้แอป “ทางรัฐ” ในการใช้จ่าย
สำหรับ “ทางรัฐ” วางตำแหน่งเป็น Super App เริ่มต้นพัฒนาขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับหลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการปกครอง, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ทำให้ประชาชนสามารถรับบริการจากภาครัฐกว่า 149 รายการ เรียกว่าเป็นแอปฯ ที่รวมบริการสำคัญของภาครัฐครบจบในที่ดียว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสาเหตุที่เลือกใช้แอปฯ ทางรัฐ ไม่ใช่แอปฯ เป๋าตัง ในการใช้จ่ายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากทางรัฐเป็นแอปฯ ของรัฐจริงๆ แต่เป๋าตังเป็นของแบงก์ (ธนาคารกรุงไทย) อย่างไรก็ตาม เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบข้างหลัง ไม่ได้เป็นด้านหน้า เนื่องจากเป็นระบบควบคุมแบบเปิด หรือ Open Loop ซึ่งหมายความว่า เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป๋าตังอาจจะไปเชื่อมต่อตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ เคพลัส และแม่มณี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ดีจีเออยู่ระหว่างการพัฒนา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลไทยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ส่งเสริมผลักดันให้เกิดการชำระค่าสินค้าและบริการแบบไร้เงินสดภายในประเทศ รวมทั้ง ผลพวงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศในด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นแรงผลักให้ไทยเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด
ที่ผ่านมา ภาครัฐมีความพยายามในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment ที่สนับสนุนให้เกิดโครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ 1. การชำระเงินแบบ Any ID 2. การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 3. การพัฒนระบบภาษีและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และ 4. โครงการ e-Payment ภาครัฐ
ทั้งนี้ โครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อาทิ การชำระเงินแบบ Any ID อย่างโครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เอื้อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถโอนเงินระหว่างกันด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ เลขบัตรประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
เรียกว่ารัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้า e-Commerce และ การใช้ Digital Banking นับเป็นก้าวสำคัญของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทย อาทิ
1. โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง
2. โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
3. Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิมช้อปใช้ เป็นต้น
4. การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี
และ 5. โครงการขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ที่ทำให้การซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีความสะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศลำดับแรกๆ ในแถบอาเซียนที่มีกฎหมายธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการนำแม่บทกฎหมาย e-Commerce Law ของสหประชาชาติมาปรับใช้และร่างเป็นกฎหมายของประเทศไทยชื่อว่า พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน Internet & Mobile Banking เป็นช่องทาง digital payment ที่ได้รับความนิยมและเติบโตสูงสุดโดยมีจำนวนบัญชีถึง 136.1 ล้านบัญชี (ข้อมูล เดือน ธ.ค. 2566) โดยในปี 2566 การใช้ Internet & Mobile Banking มีปริมาณการใช้งานสูงถึง 29.4 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 105.3 พันล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ รายงานของ Digital 2021 Global Overview Report ระบุว่าประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ใช้ Mobile Banking มากที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปี ขณะที่ในการใช้ Mobile Banking ของไทยยังได้รับความนิยมสูง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนไทย ที่มีความคุ้นชินกับการใช้ digital payment ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ข้อมูลจากวีซ่า เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2567 (Visa Consumer Payment Attitudes Study) พบว่าคนไทย 80% ใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดโดยเฉลี่ยนานถึง 9 วัน สะท้อนให้เห็นว่าถึงเทรนด์การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในเมืองไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โดยผลการศึกษาของ วีซ่า พบว่า 8 ใน 10 ของผู้บริโภค (81%) พยายามจะใช้จ่ายโดยไม่พึ่งพาเงินสด โดยผู้นำเทรนด์เป็นผู้บริโภคจากกลุ่มเจน Z (85%) (อายุระหว่าง 18-23 ปี) และเจน Y (85%) (อายุระหว่าง 24-39 ปี) โดยที่ 4 ใน 5 ของผู้บริโภคสามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวัน กล่าวคือผู้บริโภคชาวไทยมีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านโดยถือเงินสดในมือลดลง โดยเกือบครึ่ง (47%) เลือกที่จะถือเงินสดในกระเป๋าสตางค์น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
เทรนด์ดังกล่าวดกิดขึ้นจากช่องทางการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดของผู้บริโภค อาทิ คิวอาร์โค้ด บัตรชำระเงิน อีวอลเล็ต ฯลฯ นอกจากนี้ผู้ ยังรวมถึงช่องทางการรับชำระเงินแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นในหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (79%) การค้าปลีก (67%) การจับจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ (67%) ซุปเปอร์มาร์เก็ต (64%) และบริการขนส่ง อาทิ แท็กซี่และบริการใช้รถเดินทางร่วมกัน เป็นต้น (60%)
ในประเด็นนี้ นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าเทรนด์การใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดในประเทศไทยมาแรงมากสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของ e-Commerce ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองต่างให้ความสำคัญกับความสะดวก ปลอดภัย และการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่จะปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่า การเข้าสู่ยุคไร้เงินสดนับเป็นปรากฎการณ์ที่ต้องจับตา.