ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่ชัดเจนแน่นอนแล้วว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินหน้าเต็มสูบในการดึง “กัญชา” กลับสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง สนองรับคำสั่งของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เอากัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด ประเภท 5 และให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ เท่านั้น โดยให้เวลาถึงสิ้นปีนี้
“สิ่งที่ผมต้องทำคือ กฎกระทรวง ได้แก่ การปลูก การเก็บ การรักษา คนที่มีธุรกรรมทางกัญชาอยู่ ต้องมาคุยกัน หากไม่คุยกันแล้วทำกฎกระทรวงไปเขาจะเสียหายมาก และประกาศตามคำสั่งที่จะให้แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และวิธีการวิจัยต่าง ๆ นั้น ต้องคุยกันอย่างจริงจัง ให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งตนดำเนินการไปในฐานะรัฐบาล มันจะเสียหายได้ ถึงขอให้เข้ามาคุยกัน” สมศักด์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดเพชรบุรี
สะท้อนว่าการกลับลำนำกัญชามาสู่บัญชียาเสพติด ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะส่งผลกระทบเกี่ยวพันกันไปในหลายส่วน ทั้งในแง่ธุรกิจที่มีนักลงทุนแห่เข้ามาปลูกและขายผลิตภัณฑ์กัญชาเชิงพาณิชย์ การรักษา การวิจัย รวมถึงวิสาหกิจชุมชน และชาวบ้านที่ลงทะเบียนปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน จะถูกไล่จับว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเมืองไทยนี้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการใช้ “ดุลยพินิจ” เอาผิดประชาชนเป็นเนืองนิจ
แต่ที่แน่ ๆ ท่าทีของ “เสี่ยหนู” - อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งขับเคลื่อนเรื่อง “กัญชาเสรี” ตีปี๊บใหญ่โตในช่วงหาเสียงสมัยเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา กลับมีท่าที “ยอมงอ” หรือ “ยอมหงอ” ไม่แสดงท่าที “ยอมหัก” กับพรรคเพื่อไทย ที่กำลังจัดการกับเรื่องกัญชา คล้ายบ่งบอกว่า “มันจบแล้วครับ (ครูใหญ่) เน”
“เสี่ยหนู” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ผลักดันกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แสดงท่าทีว่า ไม่ขัดข้อง กระทรวงสาธารณสุข ต้องไปศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้าน ต้องมีข้อมูลวิชาการมาประกอบ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์ รวมถึงต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ใช้กัญชา และไม่ใช้กัญชา ซึ่งทั้งหมดต้องมีขั้นตอนและกระบวนการเพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อถือมากที่สุด
“ขออย่าจำกัดความว่า นโยบายกัญชา เป็นนโยบายประจำตัวบุคคล ขอให้มองที่ประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งการร่วมรัฐบาลต้องรักษามารยาทและกฎหมายควบคู่กันไป รวมถึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ยืนยันว่า การออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ผ่านมา เป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” อนุทิน กล่าว
กระนั้น หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่า “มันเป็นเรื่องของการเมือง พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนเสียงที่บอกว่าเราต้องทำกัญชาต่อไป ขอกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข แต่เสียงเราไม่พอ ในขณะที่เรากำกับดูแล กระทรวงสาธารณสุข กฎหมายเราก็ส่งเข้าสภาแล้ว แต่ว่าถูกหักหลัง”
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีข้อเสนอด้วยว่า “ผู้ประกอบการที่เริ่มลงทุนเปิดตลาดไปแล้ว และชาวบ้านที่ใช้กัญชา รักษาตัวตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ก็จะได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้เทรนด์โลกเป็นไปในทางที่เปิดประตูให้กับพืชสมุนไพรกัญชามากขึ้น จึงไม่ควรไปปิดโอกาส เรามีทางเลือกที่ดีกว่า อย่างการออก พ.ร.บ.กัญชา”
อย่างที่รู้กันดีว่า การนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 เจอทั้งแรงหนุนและแรงต้านไม่น้อย และความเห็นต่างดังกล่าวยังคุกรุ่นมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ประกอบกับช่วงรอยต่อระหว่างการผลักดันร่างกฎหมายกัญชา กัญชง เพื่อนำมากำกับควบคุมกัญชา กัญชง มีปัญหา เพราะมีรายการ “หักหลัง” โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย โหวตคว่ำร่างกฎหมายในสภาฯ และถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะมีประกาศออกมากำกับควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ระหว่างรอทำคลอดกฎหมายออกมาบังคับใช้ แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่าไม่ครอบคลุมและบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่
ยิ่งตอนนี้พรรคภูมิใจไทย ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรกับพรรคเพื่อไทย หรือ “ทักษิณ ชินวัตร” ต่างกับช่วงก่อนเลือกตั้ง หรือช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ จะอยู่หรือไปไม่มีปัญหา ก็ยิ่งทำให้ท่าทีแข็งกร้าวเอา “กัญชาเสรี” ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่งแผ่วลงจนเงียบหายไป นาทีนี้ พรรคภูมิใจไทย มีเป้าหมายเพียงแค่รักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อให้ได้ร่วมรัฐบาลต่อไปก็เท่านั้น
เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หมอพื้นบ้าน เจ้าของสูตรสกัด “น้ำมันกัญชา ตำรับหมอเดชา” ตั้งคำถามกับพรรคภูมิใจไทยว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีพรรคเดียวที่แสดงจุดยืน สนับสนุนกัญชาอย่างเต็มที่ นั่นคือพรรคภูมิใจไทย ที่หาเสียงด้วยข้อความสั้นๆว่า “พูดแล้วทำ” ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องกัญชาเพราะพรรคภูมิใจไทย “พูด” ว่าจะเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด “แล้วทำ” ได้สำเร็จ กัญชาพ้นจากการเป็นยาเสพติด (ตามกฎหมาย) ทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565
ด้วยผลงานดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (2566) พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. เพิ่ม ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันทั้งหมด มีพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว ที่สนับสนุนกัญชา เมื่อรัฐบาลชุดนี้จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จึงคาดว่าพรรคภูมิใจไทย จะไม่ยินยอม คงจะออกมาแสดงความเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ ถ้าค้านไม่สำเร็จ ก็คงลาออกจากรัฐบาล
แต่เมื่อฟังคำพูดของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็เข้าใจได้ชัดว่าพรรคภูมิใจไทย “ไม่ขัดข้อง” ในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่อย่างใดทั้งสิ้น แถมยังเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีว่า “เป็นการทำเพื่อประชาชน” อีกด้วย ก็ไม่มีอะไรจะพูดถึงพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค (คุณ อนุทิน ชาญวีรกูล) แล้ว
“ผมจะรอดูการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่าพรรคภูมิใจไทย จะหาเสียงว่าอย่างไร และผลการเลือกตั้ง จะออกมาแบบที่ประชาชนลงโทษพรรคภูมิใจไทย สาหัสแค่ใหน” หมอพื้นบ้าน “เดชา ศิริภัทร” กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชี้ให้เห็นอันตรายระหว่างบุหรี่ แอลกอฮอล์ และกัญชา ว่าพอค้นคำว่า 'บุหรี่และแอลกอฮอล์' รักษาสุขภาพอย่างไร ไม่มีข้อความขึ้น แต่พอค้นคำว่า อันตรายจากบุหรี่และเหล้าคืออะไร งานศึกษาวิจัยหรือการบันทึกสถิติและอธิบายความร้ายของ บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เต็มไปหมด
เช่น ......ผลวิจัยล่าสุดเผยบุหรี่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 8 ล้านรายในปี 2019 พบนักสูบหน้าใหม่ถึง 90% ติดบุหรี่เมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี (www.prd.go.th) ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2560 คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 72,656 ราย (www.hfocus.org)........
น
หรือ ......คนตายจากแอลกอฮอล์ 3 ล้านคนต่อปีทั่วโลก อุบัติเหตุและบาดเจ็บ 9 แสนคน เมาแล้วขับเกิดอุบัติรถชนกว่า 3.7 ล้านคน ไม่รวมดื่มแล้วทำร้ายตัวเองก่อคดีฆาตกรรม ก่อโรคมะเร็งกว่า 4 แสนคน โรคทางเดินอาหารและภาวะตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเส้นเลือดและอีกนับแสนที่เสียชีวิตจากภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (www.thaihealth.or.th)......
แต่พอค้นคำว่ากัญชารักษาโรค มีงานวิจัย บทความเต็มไปหมด เช่น กัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ลดอาการปวด ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม ช่วยควบคุมอาการลมชัก ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหินป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ คลายความวิตกกังวล การรักษามะเร็ง (pharmacy.mahidol.ac.th)
“เมื่อยึดหลักข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เราควรนำสิ่งใดกลับสู่ยาเสพติด พวกหมอในกระทรวงสาธารณสุข คงมีสติปัญญาคิดได้หากไม่เกรงกลัวอำนาจของรัฐมนตรี แต่ในกระทรวงนี้คงหาหมอยืนยันในข้อเท็จจริงของกัญชาแสนยาก เพราะภูมิปัญญาไทยกลายเป็นของแปลกของพวกหมอแผนปัจจุบัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
ทางด้าน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวกับไทยพีบีเอส ว่า สิ่งที่ทางเครือข่ายฯ ต้องการคือให้กระทรวงสาธารณสุข ทำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงระหว่างกัญชา กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหล้า บุหรี่ เพราะสังคมอยู่กับความเสี่ยงจากสองสิ่งนี้มานานแล้วกัญชาก่อภัยร้ายอะไร ทำไมจึงจะกลับไปเป็นยาเสพติด
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงเรื่องข้อถกเถียงกรณีการดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด ว่าแนวคิดการนำนโยบายกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ว่าอะไรคือปัญหาของนโยบายกัญชาที่แท้จริง อะไรคือ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการแพทย์ โอกาสของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอะไรคือ ผลกระทบที่จะตามมา ต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุปัญหา และการแก้ไขที่ถูกจุด เพราะนโยบายกัญชา หลังถูกประกาศใช้ไปแล้วก็มีประโยชน์ทางการแพทย์ และทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง มีผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษา มีคนปลูกกัญชาขาย แล้วเขาทำถูกต้อง พวกนี้ จะรับผิดชอบเขาอย่างไร
ปัญหานโยบายกัญชาอยู่ที่มาตรการควบคุม การบังคับใช้ให้มีการใช้อยู่ในวงจำกัดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในทางลบทางสังคม เด็ก และเยาวชน ต้องพิจารณาในมุมนี้ ไม่ใช่ตัดสินใจปิดจบนโยบายเอาง่าย ๆ เพราะความไม่พอใจบางจุด ซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นตามมา ทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจกัญชาไปแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชารักษาการเจ็บป่วย และกัญชาทางการแพทย์ หากจะแก้ปัญหากัญชาสมควรที่ต้องออกกฎหมายควบคุมการบังคับใช้ไม่ใช่ยกเลิก ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นต้องพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดที่สุด และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก ในฐานระบบการขออนุญาต 3,510 แห่ง รวมพื้นที่ขอปลูกไม่น้อยกว่า 11 ล้านตารางเมตร คิดเป็นจำนวนกว่า 1.8 แสนต้น มีร้านจำหน่ายกัญชา อีกกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ “กลับลำ” นำกัญชาสู่บัญชายาเสพติด ประเภท 5 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกัญชากัญชงที่ลงทุนไปแล้วแบบชนิดที่เรียกว่ารอวัน “เจ๊ง” สถานเดียว โดยเฉพาะบรรดา “ร้านขายกัญชา” ที่ออกไปในแนวเพื่อสันทนาการ ซึ่งต้องยอมรับว่า ใน “ยุคเสี่ยหนู” นั้น เปิดกว้างในเรื่องนี้อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ จนก่อให้เกิดผลกระทบกับภาพใหญ่ของการใช้กัญชาทางการแพทย์
จิระ ภูพาทพลอย อายุ 29 ปี ผู้จัดการร้านคาเฟ่กัญชาสโตเนอร์ 420 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งควักเงินลงทุนร่วมหุ้นกับเพื่อนนับล้านบาทเปิดคาเฟ่กัญชา ในช่วงที่รัฐบาลเปิดให้มีการขอใบอนุญาตเปิดร้านขายกัญชา แสดงความกังวลต่อนโยบายที่จะดึงกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง
“รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่กล้าลงทุนอะไรเพิ่ม สับสนไปหมด ลำพังแค่ตอนนี้กระแสกัญชาก็เริ่มไม่ดีอยู่แล้ว ลูกค้าหายไปเกือบหมด เพราะกลัวจะผิดกฎหมาย ตอนนี้เงินที่ลงทุนไปยังไม่ได้คืนเลย” เจ้าของคาเฟ่กัญชาสโตเนอร์ 420 กล่าว
เขายังบอกว่า หากรัฐบาลประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดแล้ว ร้านก็ต้องปิดไป ทุกคนคงจะตกงานกันหมด แล้วใครจะมาช่วยรับผิดชอบเยียวยา เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้มาจากนโยบายของรัฐบาลทั้งนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้แค่ปรับกฎหมายควบคุม ร้านคาเฟ่กัญชาต่าง ๆ ที่ได้ใบอนุญาตแล้วก็ให้สามารถเปิดได้ตามปกติ ภายใต้กฎหมายควบคุมเข้มงวดมากขึ้นจะดีกว่า
มนตรี เยี่ยมสูงเนิน ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนคนโคราชรักกัญช์ ซึ่งลงทุนโครงสร้างฟาร์มกัญชาเกือบ 10 ล้านบาท มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม 435 ราย ขณะนี้ทุกคนหมดหวัง ปลูกแล้วหาที่ขายไม่ได้ จึงลดพื้นที่ปลูกกัญชาลง 90% ทิ้งพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ว่างเปล่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาบ้าง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของรัฐบาล การดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดจะทำให้ปริมาณการปลูกกัญชาลดลง ราคาคงกลับมาฟื้นตัวบ้าง แต่ขอให้รัฐบาลช่วยหาตลาด เพราะลำพังแต่พวกตนที่เป็นเกษตรกรคงเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะตลาดทางการแพทย์ และตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ
ชิษณุพงศ์ ภูรีโรจน์ เจ้าของธุรกิจร้านขายกัญชา Impara 64 ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 11 ย่านท่องเที่ยวชื่อดังในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองเดียวกันว่าจังหวัดเชียงใหม่มีร้านกัญชาเกือบ 1,000 ร้าน เงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ก็คือลูกจ้างตกงาน ส่วนผู้ประกอบการก็เตรียมตัวเจ๊งอย่างเดียว
วิธวินท์ วิทยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตยาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เผยผ่านสื่อว่า มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศ คาดว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 20,000-25,000 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยว มีการจ้างงาน 70,000-80,000 ตำแหน่ง หากนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดทั้งหมดคาดว่าจะกระทบค่อนข้างมาก ทั้งผู้ขายอุปกรณ์ ขายเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ แต่เห็นด้วยหากเป็นเพียงแค่ออกกฎระเบียบควบคุมดูแลมากขึ้น และบริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก และจะยังลงทุนด้านการวิจัยเพื่อนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ฟากฝั่งฝ่ายสนับสนุนให้นำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด มีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ ภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด รวม 63 รายชื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เรื่อง การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า การแพร่ระบาดของกัญชาส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง มีผู้เสพกัญชามากขึ้นทั่วประเทศ และการนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด ประเภท 5 อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อยู่แล้ว
สำหรับการสนับสนุนเศรษฐกิจกัญชาทางการแพทย์ ทำได้โดยการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องและพัฒนาการบริหารจัดการการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น การปลดดอกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งเป็นผลให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ เป็นการขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 ฉบับแก้ไข ซึ่งขณะนี้ยังคงอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ในทางการแพทย์เท่านั้น
ไม่ว่าบทสรุปจะลงเอยเช่นใด งานนี้มีผลกระทบที่ตามมาอย่างกว้างขวางในหลากหลายมิติอย่างแน่นอน แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น “เสี่ยหนู” - อนุทิน ชาญวีรกูล และ “เสี่ยนิด” - เศรษฐา ทวีสิน ช่วยกันตอบมาให้ชัดเจ