xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บุ้ง ทะลุวัง “เหยื่อ” ทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ก็เกิดขึ้นจนได้ กับการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” เนติพร เสน่ห์สังคม ผู้ต้องหาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 (ม.112) ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ก่อนเสียชีวิต “บุ้ง” อยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาตัวในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วเกิดหมดสติ และหัวใจหยุดเต้น แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พยายามปั๊มหัวใจ แต่ไม่เป็นผล จึงส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่ไม่เป็นผล และเสียชีวิตในที่สุด

กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า “บุ้ง-เนติพร” เสียชีวิตอย่างในเวลา 11.22 นาฬิกา ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2567

ความตายของ “บุ้ง” ทำให้เกิดคำถามสำคัญที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะต้องตอบก็คือ อะไรที่ปลูกฝังให้ “บุ้ง” รวมถึงเพื่อนๆ มีแนวคิดที่สุดโต่ง จนเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง-ไปแลก ถึงขนาดนี้

บรรดา “คน” ที่อยู่เบื้องหลัง และทำให้เธอเดินไปบนเส้นทางสายดังกล่าวจะรับผิดชอบอย่างไรกับความตายของ “บุ้ง”

ที่ผ่านมาได้เคยห้ามปราม หรือกระตุกต่อมความคิดของเธอบ้างหรือไม่

 บุ้ง ทะลุวัง
ดังเช่นที่ “ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์ข้อความหลังการเสียชีวิตของ “บุ้ง” ระบุว่า “ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการ และอารมณ์ที่รุนแรง คือผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก เพราะพวกเขาใช้อนาคต และชีวิตของเยาวชนเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยพวกเขาเท่านั้นคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง”

และอีกข้อความหนึ่งระบุว่า “แก้ ม.112 เพื่อช่วยเยาวชนผู้ต้องหาเป็นการแก้ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ-ผู้ให้ข้อมูลบิดเบือน”

สำหรับ “บุ้ง” วัย 28 ปีเป็นนักกิจกรรมการเมืองร่วมกับเครือข่าย “ม็อบ 3 นิ้ว” มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มแรกเคลื่อนไหวกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” ก่อนจะเริ่มมีชื่อเป็นที่รู้จัก และขยับขึ้นมาอยู่แถวหน้า ในช่วงปลายของการชุมนุมมามีบทบาทสำคัญกับกลุ่ม “ทะลุวัง” ที่มีประเด็น และรูปแบบการชุมนุม ที่ “ฮาร์ดคอร์” มากกว่ากลุ่มอื่นในเครือข่าย

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า “บุ้ง” ถูกดำเนินคดีรวมถึง 7 คดี จำนวนนี้เป็นคดี ม.112 จำนวน 2 คดี และเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 2 ครั้ง

โดยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน “บุ้ง” กับ “ใบปอ ทะลุวัง” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ คู่หูที่ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน จากคดีทำโพลขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565

จากนั้น “บุ้ง” ถูกคุมขังครั้งที่ 2 สืบเนื่องมาจากกรณีที่เธอมีคำสั่งถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่เดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ผู้ต้องหาคดีความผิด ม.112 จากพฤติการณ์ปราศรัยพาดพิงสถาบันเบื้องสูง ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 โดย ศาลอาญากรุงเทพใต้ สั่งจำคุก “บุ้ง” เป็นเวลา 1 เดือนในคดีละเมิดอำนาจศาล และต่อเนื่องมาในคดี ม.112 ทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567

โดยในการถูกคุมขังทั้ง 2 ครั้ง “บุ้ง” ได้ประกาศอดอาหารทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกอดอาหารร่วมกับ “ใบปอ” เป็นเวลากว่า 94 วัน ก่อนไชด้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังทนายพยายามยื่นขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว “บุ้ง-ใบปอ” รวม 8 ครั้ง ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายของ “บุ้ง” เป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ขณะที่ในการถูกคุมขังครั้งที่ 2 “บุ้ง” ที่ถูกถอนประกันตัวเพียงคนเดียวในกลุ่ม เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า “บุ้ง” เข้าร่วมชุมนุม และพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอด เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) (ขณะนั้น) ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566

เพียง 1 วันหลังถูกนำตัวเข้าคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ อีกครั้ง “บุ้ง” ได้ประกาศอดอาหาร-น้ำ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 เพื่อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 2.จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
ผลจากการอดอาหาร ทำให้ต้องส่งตัว “บุ้ง” ไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 และเมื่อเธอเริ่มฟื้นตัว กรมราชทัณฑ์จึงนำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนจะเสียชีวิต


 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

  ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

 ส.ศิวรักษ์
ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่ “บุ้ง” ถูกคุมขัง และอดอาหารประท้วง ได้มีรายงานจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง - Thaluwang” ที่มีโอกาสเข้าเยี่ยมเป็นระยะๆ โดยช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ทางเพจได้โพสต์ถึงอาการของ “บุ้ง” ที่ไม่สู้ดีนัก

โดยวันที่ 1 เมษายน 2567 ระบุว่า “วันนี้เป็นวันที่ 65 ที่บุ้งอดอาหาร ซึ่งมากกว่าจำนวนวันที่อดอาหารในครั้งก่อนแล้ว แต่ร่างกายบุ้งผอมลงมากกว่าครั้งก่อน เนื่องจากในช่วงแรกบุ้งอดน้ำร่วมด้วย

ทุกวันจันทร์บุ้งจะได้ชั่งน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักวันนี้ลดลงเหลือ 62 แล้ว จากก่อนเข้าเรือนจำน้ำหนัก 84 และความดันยังคงต่ำเช่นเดิม ไม่ว่าพยาบาลจะวัดกี่รอบ ก็ยังความดันต่ำอยู่ แต่หมอไม่ได้ให้บุ้งกินยาถ่ายแล้ว เพราะบุ้งปวดท้องมาก และแทบไม่มีอะไรขับถ่ายออกมาเลย

บุ้งแจ้งว่า เมื่อวันอาทิตย์ บุ้งนอนทั้งวัน เพราะเหนื่อยมาก ไม่มีแรงจะทำอะไรเลย แม้แต่จะพูดก็ไม่มีแรง รู้สึกตื่นมาก็เหนื่อยขึ้นทุกวันอยู่แล้ว แต่บางวันจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ

ขณะที่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 โพสต์ว่า “บุ้งบอกว่ามีอาการท้องเสียตั้งแต่เมื่อคืน จนวันนี้ก็ยัง มีอาการท้องเสียอยู่ แพทย์บอกว่าน่าจะท้องเสียเพราะกินโพแทสเซียม แต่กินแล้วท้องเสียแบบนี้ต้องกินซ้ำใหม่ แพทย์จึงให้กินโพแทสเซียมพร้อมกับเกลือแร่ วันนี้มือชาเท้าชาทั้งวัน และเหนื่อยมากเพราะต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย

ค่าโพแทสเซียมลดลงกว่าเดิมอีกจากอาการท้องเสีย เดี๋ยวรอผลเลือดใหม่ในวันพรุ่งนี้อีกที่

บุ้งถามถึงอาการของตะวันกับแฟรงค์ตลอดและบอกว่าเป็นห่วงน้องทั้งสองคนมาก”

นั่นคือ 2 โพสต์สุดท้ายถึงอาการของ “บุ้ง” โดยคาดว่าหลังจากนั้น “บุ้ง” ได้ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำให้ทางเพจไม่มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเหมือนปกติ แบะหาก “บุ้ง” ยังคงอดอาหารจนถึงวันที่เสียชีวิต เท่ากับว่า เธออดอาหารมาถึง 108 วัน

แม้ถึงวันนี้ผลการชันสูตรพลิกศพจะยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็เชื่อว่า ผลกระทบจากการอดอาหารจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอต้องจากโลกนี้ไป ในขณะที่ยังไม่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองพยายามเรียกร้องว่า จะสำเร็จหรือไม่ และจะถูกชักพาไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะจาก “ฝ่ายหรือกลุ่มการเมือง” ที่มีแนวทางในการเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน

ทั้งนี้ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “พรรคก้าวไกล – Move Forward Party” ได้โพสต์ข้อความในลักษณะแถลงการณ์ระบุว่า “พรรคก้าวไกลขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของคุณเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง

ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับประเด็นและวิธีการที่คุณบุ้งแสดงออกในช่วงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลขอยืนยันหลักการว่าในสังคมประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรอง ไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกผลักให้ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตและที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี การเร่งพิจารณากระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง และฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคน”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 พรรณิการ์ วานิช

ปิยบุตร แสงกนกกุล

 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นอกจากนี้ สส.และสมาชิกพรรคก้าวไกล หลายคนก็ได้โพสต์อาลัยต่อการจากไปของ “บุ้ง” ขณะที่ “สส.โรม” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ที่เติบโตมาจากการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ได้ไปร่วมกิจกรรมจุดเทียนแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “บุ้ง” ที่หน้าศาลอาญารัชดา ที่จัดขึ้นช่วงค่ำในวันที่ “บุ้ง” เสียชีวิตด้วย

แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยที่ยังไม่พบความเคลื่อนไหว “ทางสาธารณะ” ใดๆ จาก 2 คีย์แทนก้าวไกล ทั้ง “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และอดีตหัวหน้าพรรค แต่อย่างใด

โดยหลังจากวันที่ “บุ้ง” เสียชีวิต ทั้ง “หัวหน้าต๋อม-หัวหน้าทิม” กลับใช้พื้นที่โซเชี่ยลโพสต์รำลึกถึงวันครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 หนักกว่านั้นเมื่อ “แด๊ดดี้ทิม” ใช้พื้นที่เดียวกันในการโปรโมทอีเวนท์ “ก้าวไกล Bigbang” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคมที่หอประชุมไบเทค บางนา

ต้องไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่งพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ “แด๊ดดี้ทิม” ออกตัวสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “เด็กๆ” กลุ่มทะลุวัง อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพียงใดก็ตาม

ครั้งหนึ่ง “พิธา” เคยเป็นทั้ง “นายประกัน” หรือที่เจ้าตัวว่าเป็นเพียง “ผู้ควบคุมดูแล” ให้กับ “ตะวัน ทะลุวัง” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาในคดี ม.112 อีกทั้งยังนำไปอภิปราย “หล่อๆ” ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า “ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวัน และคุณแบม (อรวรรณ ภู่พงษ์ แกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี ม.112) ผมมองตาตะวันแล้วเห็น พิพิม ลูกสาวของผมอยู่ในนั้น”

ทว่า มีเพียงระยะหลังที่ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ดูจะพยายาม “เอาตัวออกห่าง” ทั้ง “บุ้ง-ตะวัน-แบม” รวมถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ ของกลุ่มทะลุวัง รวมทั้งปัดความรับผิดชอบ-ความมีส่วนร่วมในหลายกรณี

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พรรคก้าวไกลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบที่นำพา “เด็กๆ” มาถึงจุดนี้ไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่า หลักการ-แนวทางของ “ค่ายสีส้ม” ทั้งพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ โดย 3 บิ๊กเนม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” ถือเป็น “หัวเชื้อ” ที่บ่มเพาะ “ม็อบเด็ก” ให้มาไกลถึงระดับ “ทะลุวัง”

และยังมีความสุดโต่งแบบ “ซ้ายตกขอบ” ทั้งประเด็นข้อเรียกร้อง และรูปแบบการเคลื่อนไหว

มีข้อมูลด้วยว่า เดิมที “บุ้ง” ที่มีพื้นฐานครอบครัวด้านกฎหมาย มีพ่อเป็นผู้พิพากษา พี่เป็นทนายความ เคยมีอุดมการณ์ในอีกขั้ว โดยเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และยังเคยยอมรับว่า เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

“ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าสมัยมัธยมปลายบุ้งเคยเป็นสลิ่ม เคยไปร่วมม็อบ กปปส. มาก่อน เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่นั้น เราอัปเดตข้อมูลมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราตาสว่างเพราะ คุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) ตอนนั้นคุณช่อเอารายชื่อคนที่ตายจากการเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 มาให้ดูว่ามีใครบ้าง แล้วปรากฏว่าหนึ่งในนั้นเป็นแค่คนไร้บ้านที่ถูกสไนเปอร์ยิง” คำสัมภาษณ์ของ “บุ้ง” ถึงที่มาที่ไปในการเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่เพียงแต่จุดประกายทางความคิดเท่านั้น เพราะก็มีกระแสข่าวหนาหูว่า การเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม-คณะราษฎร-นักเรียนเลว หรือ “ทะลุฟ้า-ทะลุแก๊ส-ทะลุวัง” นั้นมี “ไอ้โม่ง” ชักใยอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลก็มีความชัดเจนในเรื่อง ม.112 มาโดยตลอด และเมื่อมีผู้ถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี สส.พรรคก้าวไกล ก็มักให้ความช่วยเหลือด้วยการเป็นนายประกันให้

ความเชื่อมโยงดังกล่าว ถูกหยิบยกมาระบุในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยว่า การกระทําของ “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

และมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล และ “พิธา” เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 74

กระนั้นก็ดี ในระยะหลังต้องยอมรับว่า “ม็อบทะลุวัง” ที่เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ยังมีความเคลื่อนไหวที่ไปไกลสุดกู่ จนบางครั้ง พรรคก้าวไกลหรือผู้นำจิตวิญญาณอย่าง “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” เองก็คงลำบากใจในการเข้าไปดึงแนวทางให้กลับมาเข้าลู่เข้าเลนที่พอจะออกตัวให้การสนับสนุนได้ จึงเริ่ม “เว้นระยะ” ไม่เข้าไปใกล้กลุ่มเด็กๆ โดยเฉพาะ “ก๊วนทะลุวัง” มากเกินไป

ทว่า ก็คงไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก

อย่างไรก็ดี หากจะหาผู้มีส่วนต่อการจากไปของ “บุ้ง” หรือคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีในเรื่องที่มีลักษณะเดียวกันนี้ ก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกฝ่ายว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยเพื่อยุติความสูญเสียไม่ให้มากไปกว่านี้

ที่สำคัญคือ เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พวกที่เห็นต่างทางการเมืองระดับตัวเอ้ ไม่มีใครต้องติดคุกเพราะรู้แง่มุมกฎหมายที่จะหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่บรรดาเด็กและเยาวชนกลับต้องเผชิญกับคดีความต่างๆ มากมายาและต้องติดคุกติดตะราง

และแน่นอนว่า บรรดา “ผู้ใหญ่” ที่ขับเคลื่อนแนวคิดในฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมในทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ส.ศิวรักษ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรณิการ์ วานิช ปิยบุตร แสงกนกกุล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฯลฯ คงต้องเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้ว่าจริงหรือไม่ อย่างไร




กำลังโหลดความคิดเห็น