คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี
ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ในหมวดที่หนึ่ง ได้แก่มาตรา 1 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน
ผู้เขียนได้กล่าวถึงที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองภูฏานที่บัญญัติไว้ในหมวดที่เจ็ด ที่มีทั้งหมด 23 มาตราไปแล้ว และถ้าเปรียบเทียบหมวดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองของรัฐธรรมนูญภูฏาน พ.ศ. 2551 กับหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จะพบว่า ของภูฏานมี 23 มาตรา ส่วนของไทยมี 25 มาตรา ผู้อ่านน่าจะลองเปรียบเทียบสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทยกับของภูฏานดู
ได้กล่าวถึงหมวดหน้าที่พลเมืองในรัฐธรรมนูญภูฏานไปแล้วว่ามีทั้งหมด 11 มาตรา เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญไทยในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของพลเมือง ของไทยมี 12 มาตรา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมายได้ (มาตรา 2.16 (d)) ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์จะต้องลงพระปรมาภิไธย หากร่างกฎหมายได้รับการเสนอกลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า ในกระบวนการนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญภูฏานให้อำนาจสภาเป็นอำนาจสูงสุดสุดท้าย นอกจากพระมหากษัตริย์ภูฏานจะมีพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติแล้ว ตามมาตรา 2.19 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ หลายตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-25 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)
เพื่อให้เห็นภาพรวมของหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ของภูฏาน ก่อนที่จะกล่าวถึงมาตรา 20-25 จะขอนำเสนอทุกมาตราในหมวดนี้
มาตรา 1 องค์สมเด็จพระราชาธิบดี (the Druk Gyalpo) เป็นประมุขแห่งรัฐและสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพแห่งราชอาณาจักรและของประชาชนภูฏาน
มาตรา 2 ธรรมะและการเมือง (Chhoe-sid-nyi) ของภูฏานจะเป็นเอกภาพในองค์สมเด็จพระราชาธิบดี ผู้ซึ่งในฐานะที่ทรงเป็นชาวพุทธจะส่งเสริมธรรมะ
มาตรา 3 สิทธิ์ในราชบัลลังก์ภูฏานจะตกอยู่แก่รัชทายาทอันชอบธรรมของสมเด็จพระราชาธิบดีโอกยัน วังชุก (รัชกาลที่หนึ่งแห่งราชวงศ์วังชุก/ผู้เขียน) ที่ทรงเป็นที่สักการบูชาฯ (โดยสิทธิ์ในราชบัลลังก์ภูฏาน/ผู้เขียน) จะ
(a) ตกแก่พระราชโอรส พระราชธิดาจากการอภิเษกสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย
(b) สืบทอดผ่านการสืบราชสันตติวงศ์ไปยังทายาทสายตรงในกรณีที่สมเด็จพระราชาธิบดีสละราชสมบัติหรือสิ้นพระชนม์ โดยตามลำดับอาวุโส และให้พระราชโอรสก่อนพระราชธิดา หากตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ไม่มีพระราชโอรสที่อาวุโสกว่า ให้เป็นพระราชภาระของสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเลือกและประกาศให้พระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่เหมาะสมที่สุดเป็นองค์รัชทายาท
(c) สืบทอดไปยังพระราชโอรส พระราชธิดาของสมเด็จพระราชินีที่ทรงพระครรภ์ในขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีสิ้นพระชนม์ ถ้าไม่มีทายาทภายใต้ (b)
(d) สืบทอดไปยังสายโลหิตที่ใกล้ชิดที่สุดในบรรดาทายาทของสมเด็จพระราชาธิบดีตามหลักทายาทสายตรง โดยให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า ในกรณีที่สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ทรงมีทายาทสายตรง
(e) จะไม่สืบทอดไปยังผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสมองจนไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้ และ
(f) ไม่สืบทอดไปยังผู้ที่สมรสกับบุคคลที่ไม่ใช่ชาวภูฏานโดยกำเนิด
มาตรา 4 ผู้สืบราชบัลลังก์จะได้รับเครื่องสัญลักษณ์ (dar) จากองค์ลามะ และได้รับการสวมมงกุฎบนราชบัลลังก์
มาตรา 5 ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ บรรดาสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งในมาตรา 19 ในหมวดนี้จะทำการสาบานตนต่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดี
มาตรา 6 เมื่อพระชนมายุ 65 พรรษา องค์สมเด็จพระราชาธิบดีจะสละราชสมบัติและมอบให้แก่องค์มกุฎราชกุมารหรือมกุฎราชกุมารี หากองค์รัชทายาทเจริญพระชันษาแล้ว
มาตรา 7 ตามที่กำหนดไว้มาตรา 9 ในหมวดนี้ จะต้องมีการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแทนพระองค์ขึ้น เมื่อ
(a) ผู้สืบราชบัลลังก์มีพระชนมายุไม่ถึงยี่สิบเอ็ดพรรษา
(b) องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศสละการใช้พระราชอำนาจเป็นการชั่วคราว
(c) สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดลงมติว่า องค์สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ทรงสามารถใช้พระราชอำนาจด้วยเหตุผลของความบกพร่องชั่วคราวทางร่างกายหรือทางสมอง
มาตรา 8 สภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะใช้พระราชอำนาจร่วมกันและพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจแห่งองค์สมเด็จพระราชาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้และสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบไปด้วย
(a) สมาชิกอาวุโสพระองค์หนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกเสนอชื่อโดยคณะองคมนตรี
(b) นายกรัฐมนตรี
(c) ประธานศาลแห่งภูฏาน
(d) ประธานรัฐสภา
(e) ประธานสภาแห่งชาติ และ
(f) ผู้นำฝ่ายค้าน
มาตรา 9 ในกรณีที่กำหนดไว้ภายใต้มาตรา 7 (b) หรือ 7 (c) ผู้สืบเชื้อสายสมเด็จพระราชาธิบดี ผู้ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทโดยสันนิษฐาน (heir presumptive) จะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากองค์รัชทายาทโดยสันนิษฐานมีพระชนมายุยี่สิบเอ็ดพรรษาแล้ว
มาตรา 10 สมาชิกของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องสาบานตนต่อรัฐสภาว่าทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต
มาตรา 11 เมื่อผู้สืบราชบัลลังก์มีพระชนมายุครบยี่สิบเอ็ดพรรษาหรือเมื่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงกลับมาปฏิบัติพระราชภารกิจตามมาตรา 7 (a) และ 7 (b) ในหมวดนี้ จะต้องมีการแจ้งโดยการประกาศ อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงสามารถใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 (c) จะต้องมีการแจ้งและผ่านการลงมติของรัฐสภา
มาตรา 12 สมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์หรือเคยทรงครองราชย์ รวมทั้งสมเด็จพระราชินีและพระราชโอรสและพระราชธิดาตามกฎหมายของทุกพระองค์ดังกล่าว
มาตรา 13 องค์สมเด็จพระราชาธิบดีและสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์จะได้รับ
(a) เงินปีจากรัฐตามกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐสภา
(b) สิทธิ์และอภิสิทธิ์ทั้งหลายรวมทั้งการจัดหาพระราชวังและสถานที่พักอาศัยทั้งสำหรับการใช้ทางการและส่วนพระองค์
และ (c) การยกเว้นการถูกเก็บภาษีจากเงินปีและทรัพย์สินต่างๆตามมาตรา 13 (a) และ 13 (b) ในหมวดนี้
มาตรา 14 ให้มีคณะองคมนตรี ประกอบไปด้วยสมาชิกสองคนที่แต่งตั้งโดยองค์สมเด็จพระราชาธิบดี อีกหนึ่งคนเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และอีกหนึ่งคนเสนอชื่อโดยสภาแห่งชาติ คณะองคมนตรีรับผิดชอบ
(a)เรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับอภิสิทธิ์ขององค์สมเด็จพระราชาธิบดีและพระบรมวงศานุวงศ์
(b) เรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระบรมวงศานุวงศ์
(c) ให้คำแนะนำต่อองค์สมเด็จพระราชาธิบดีในเรื่องราวเกี่ยวกับราชบัลลังก์และพระบรมวงศานุวงศ์
(d) เรื่องใดๆ ก็ตามที่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงสั่งการ
มาตรา 15 องค์สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ต้องทรงให้การในศาลในสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำและองค์สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นที่เคารพสักการะละเมิดมิได้
มาตรา 16 องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงใช้พระราชอำนาจในการ
(a) มอบตำแหน่ง เครื่องอิสริยาภรณ์ อันได้แก่ เครื่องสัญลักษณ์ (dar) แก่รัฐมนตรีตามจารีตประเพณี
(b) รับรองสถานะความเป็นพลเมือง สิทธิ์ในที่ดินและสิทธิ์อื่นๆ
(c) นิรโทษ อภัยโทษ และลดโทษ
(d) เสนอร่างพระราชบัญญัติและกฎหมายอื่นๆเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา
(e) ใช้พระราชอำนาจที่เกี่ยวกับเรื่องที่มิได้กำหนดภายใต้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ
มาตรา 17 องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงส่งเสริมสันถวไมตรีและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆโดยทรงรับอาคันตุกระของรัฐและทรงเสด็จเยือนประเทศอื่นๆในฐานะประมุขของรัฐ
มาตรา 18 องค์สมเด็จพระราชาธิบดีทรงปกป้องรักษารัฐธรรมนูญนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดและสวัสดิภาพของประชาชนภูฏาน
มาตรา 19 (ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว)
ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงมาตรา 20-25 อันเกี่ยวกับเงื่อนไขที่องค์สมเด็จพระราชาธิบดีต้องสละราชสมบัติ