xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (11)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกง (ภาพ : วิกิพีเดีย)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วังสวรรค์พิสุทธิ์ที่ไม่ “พิสุทธิ์”

พ้นไปจากเป่าเหอเตี้ยนและพระที่นั่งข้างเคียงแล้ว ต่อไปก็จะเข้าสู่วังชั้นในอันเป็นที่ประทับของจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยก่อนที่จะเข้าสู่เขตที่ว่านี้จะมีลานกว้างว่างเปล่าที่มีความยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ถัดจากลานกว้างนี้คือประตูไปสู่วังชั้นในคือ ประตูสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงเหมิน 

หน้าเฉียนชิงเหมินจะมีสิงโตขนาดใหญ่ที่หล่อด้วยทองแดงนั่งเฝ้าประตูอยู่สองตัว สิงโตตัวผู้จะมีลูกบอลอยู่ใต้อุ้งเท้า ลูกบอลนี้อาจเป็นสัญลักษณ์แทนลูกโลกเพื่อสื่อว่าสิงโตเป็นเจ้าครองโลก ส่วนสิงโตตัวเมียจะมีลูกสิงโตอยู่ใต้อุ้งเท้า ถัดจากสิงโตสองตัวจะมีโอ่งทองแดงขนาดใหญ่ตั้งอยู่สี่ใบ ในอดีตโอ่งทั้งสี่นี้จะบรรจุน้ำไว้เต็มอยู่เสมอ เวลาเกิดเพลิงไหม้หรือชำระล้างวังก็จะใช้น้ำจากโอ่งนี้ดับเพลิงหรือล้างวัง
นอกจากนี้ เคยมีจักรพรรดิชิงบางพระองค์ใช้เฉียนชิงเหมินเป็นที่ว่าราชการ โดยเสนามาตย์จะคอยรับเสด็จจักรพรรดิที่ประตูนี้ เมื่อจักรพรรดิเสด็จมาถึงและประทับบนบัลลังก์แล้ว เสนามาตย์ที่เฝ้าอยู่ก่อนแล้วก็จะถวายรายงานของตนแก่องค์จักรพรรดิ ระหว่างนี้เสนามาตย์ผู้ถวายรายงานจะคุกเข่าโดยตลอด

เวลานั้นการถวายรายงานผลการดำเนินงานโดยมากมักจะมาจากกระทรวงภาษีอากร กระทรวงรีต กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย จากนั้นองค์จักรพรรดิจะทรงวินิจฉัยและตัดสินพระทัยต่อรายงานต่างๆ กล่าวกันว่า  จักรพรรดิคังซี (ค.ศ.1654-1722)  แห่งราชวงศ์ชิงเป็นจักรพรรดิที่ขยันขันแข็งอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพิจารณารัฐกิจต่างๆ ที่ประตูนี้

ด้วยเหตุที่เป็นประตูที่เข้าสู่วังชั้นใน ประตูนี้จึงมีทหารรักษาการอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยมีขุนศึกชั้นแปดสองนายเป็นผู้บัญชาการ แต่ยามใดที่จักรพรรดิเสด็จออกว่าราชการที่ประตูนี้ การจัดเวรยามจะมีการเพิ่มจำนวนทหารให้มากขึ้น

 เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยนี้มีกฎระเบียบที่ชัดเจนว่า พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีชั้นที่ต่ำกว่าโอรสและขุนนางที่มีชั้นต่ำกว่าชั้นกง (เทียบได้กับตำแหน่ง duke ของยุโรปหรือเจ้าพระยาของไทย) หรือขุนนางชั้นสามและขุนศึกชั้นสองขึ้นไปห้ามเข้าไปยังบริเวณราชสำนักชั้นใน หากไม่มีเหตุให้ต้องเข้าไปถวายรายงานด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนเสนามาตย์ทั่วไปจะต้องรักษาระยะห่างจากประตูราว 20 เมตรอยู่เสมอ 

แม้จะเข้มงวดกวดขันเช่นนั้นก็ตาม แต่ในวันที่ 18 เดือนเก้าตามปฏิทินจันทรคติ ค.ศ.1813 อันเป็นปีที่ 18 ของจักรพรรดิเจียชิ่ง (ค.ศ.1760-1820) แห่งราชวงศ์ชิง ได้เกิดการลุกขึ้นสู้ของกบฏชาวนากลุ่มหนึ่งในกรุงปักกิ่ง กบฏกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจากขันทีคนหนึ่งจนสามารถบุกเข้ามาถึงวังชั้นในได้ โดยอาศัยความมืดบุกเข้ามาถึงบริเวณประตูนี้

แต่ด้วยความเข้มแข็งของการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว ทหารที่รักษาประตูนี้ก็สามารถต้านกลุ่มกบฏได้สำเร็จ หลังจากที่เกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดไปแล้วระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านประตูนี้เข้ามาแล้ว อาคารต่อไปก็คือ  วังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกง วังนี้มีขนาดความกว้างเก้าห้องและลึกห้าห้อง ถือเป็นอาคารที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของวังชั้นใน วังนี้มีหลังคาสองชั้นและตั้งอยู่ท่ามกลางอาคารอื่นๆ ที่รายล้อมจำนวนหนึ่ง บนหลังคานี้จะมีรูปสลักสัตว์ในตำนานตั้งประดับไว้เก้าตัว

กล่าวกันว่า จักรพรรดิทุกพระองค์ของราชวงศ์หมิงจะทรงประทับที่วังนี้ ส่วนชื่อ  “สวรรค์พิสุทธิ์”  ของวังนี้ตั้งขึ้นเพื่อสื่อว่า การปกครองของจักรพรรดิจักเป็นไปอย่างไร้ที่ติและมีแต่ความมั่นคง

นอกจากนี้ สองข้างซ้ายขวาของวังนี้ก็ยังมีวังอื่นตั้งอยู่อีกจำนวนหนึ่ง โดยวังที่อยู่ทางตะวันออกหรือทางขวาจะเรียกว่า  หกวังบูรพา หรือ ตงลิ่วหง ส่วนที่อยู่ทางตะวันตกหรือทางซ้ายจะเรียกว่า หกวังประจิม เรื่องราวของวังสองข้างซ้ายขวานี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

กลับมาที่วังสวรรค์พิสุทธิ์หรือเฉียนชิงกงอีกครั้ง วังนี้จะมีพระแท่นบรรทมอยู่เก้าองค์ ข้างใต้พระแท่นจะมีท่อส่งความร้อนสำหรับการบรรทมของจักรพรรดิในฤดูหนาว ทั้งเก้าห้องจะมีระเบียงที่เชื่อมต่อกันได้หมด แต่ละห้องจะมีสองชั้น และในห้องจะมีพระแท่นบรรทมอยู่ห้องละสามองค์ ในเมื่อมีอยู่เก้าห้องจึงทำให้มีพระแท่นบรรทมทั้งสิ้น 27 องค์

ที่สำคัญ ไม่มีใครรู้ว่า ในแต่ละคืนจักรพรรดิจักทรงบรรทมในห้องใด จะมีก็แต่ขันทีเท่านั้นที่รู้ แต่จะต้องปิดเป็นความลับ เพียงแค่นี้เราก็รู้แล้วว่านี่คือวิธีการรักษาความปลอดภัยให้แก่จักรพรรดิโดยแท้

 แต่ทั้งๆ ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกวดขัน ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยขึ้นแก่จักรพรรดิจนได้ นั่นคือ เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิงขึ้นในบริเวณวังดังกล่าว ผู้ลอบปลงพระชนม์เป็นเหล่านางใน 16 คนภายใต้การนำของหยังจินอิง เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีเหญินอิน ต่อมาจึงถูกเรียกว่า เหตุในวังเมื่อปีเหญินอิ๋น (壬寅宫变, Palace Plot of Renyin Year) มีบางที่เรียกว่า รัฐประหารเหญินอิ๋น หรือ การลุกขึ้นสู้ของนางใน (宫女起义, Palace Women's Uprising) 

เหตุการณ์นี้มีที่มาจากจักรพรรดิเจียจิ้งทรงปฏิบัติต่อเหล่านางในด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิตอยู่เสมอ พระองค์จะทรงลงโทษโบยตีเธอเหล่านี้แม้เมื่อทำผิดเพียงเล็กน้อย จนมีนางในเสียชีวิตจากการถูกพระองค์ลงโทษไปมากกว่า 20 ราย พฤติกรรมเช่นนี้ของพระองค์จึงสร้างคับแค้นใจให้แก่นางในเหล่านี้เป็นที่ยิ่ง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่แผนการลอบปลงพระชนม์เจียจิ้งในที่สุด

เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1542 โดยหยังจินอิงได้นำนางใน 15 คนบุกเข้าไปที่พระแท่นบรรทมของเจียจิ้ง จากนั้นก็ใช้เชือกที่ขึงม่านผ้าไหมในห้องนั้นมารัดพระศอของเจียจิ้งที่กำลังบรรทมหลับสนิท แต่ปรากฏว่า การรัดพระศอกลับแน่นไม่มากพอ และเป็นเหตุให้เจียจิ้งทรงตื่นจากบรรทมด้วยความตกใจสุดขีด

เมื่อเป็นเช่นนี้หยังจินอิงจึงใช้ปิ่นปักผมของเธอแทงไปยังเจียจิ้ง และในเวลาที่อันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตนี้เอง จักรพรรดินีก็ทรงบุกเข้ามาถึงห้องบรรทม แล้วเข้าทำการปกป้องชีวิตองค์จักรพรรดิในทันทีที่มาถึง แต่ถึงตอนนั้นก็ปรากฏว่า เจียจิ้งทรงเป็นลมจนหมดสติไปแล้ว

 ผลคือ แผนลอบปลงพระชนม์ล้มเหลว หยังเจียอิงพร้อมนางในอีก 15 คนถูกจับกุมได้ จากนั้นก็ถูกสั่งประหารชีวิตด้วยวิธีที่เรียกว่า หลิงฉือ หรือ เชียนเตาวั่นกว่า คำหลังนี้แปลว่า พันมีดหมื่นแล่

ภายใต้วิธีนี้ เพชฌฆาตจะใช้มีดแล่เนื้อนักโทษพันครั้งจนกว่าจะตาย หรือไม่ก็อาจตายก่อนที่จะครบพันครั้งก็ได้ วิธีนี้จึงยึดหลักให้นักโทษตายช้าที่สุด และตัวเพชฌฆาตจะรู้ดีว่าจะต้องแล่เนื้อในส่วนใดก่อนหลัง เพื่อไม่ให้นักโทษตายในทันทีทันใด วิธีนี้จึงสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่นักโทษเป็นอย่างมาก 

หลังจากนางในทั้ง 16 คนถูกประหารจนสิ้นใจแล้ว หัวของนางก็ถูกตัดเพื่อนำไปเสียบประจานไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อมาก็ได้ลามไปสู่การจับกุมนางในที่ต้องสงสัยอีก 20 คน โดยมีสิบคนถูกประหารชีวิต ส่วนอีกสิบคนถูกลดฐานะให้เป็นทาส
ว่ากันว่า การกวาดล้างจับกุมและประหารเหล่านางในในครั้งนี้ใช้เวลา 3-4 วัน ตลอดห้วงที่ว่านี้มีหมอกเข้ามาปกคลุมจนบ้านเมืองดูมืดมิด ราษฎรต่างลือกันว่า นั่นคือสัญญาณที่สื่อว่าความยุติธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว

พฤติกรรมของเจียจิ้งจึงไม่เพียงไม่ “พิสุทธิ์” เท่านั้น หากแต่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ทรราช เลยก็ว่าได้  


กำลังโหลดความคิดเห็น