ในการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐ
สิ่งแรกที่ผู้สรรหาต้องทำก็คือ ตรวจสอบงานในตำแหน่งที่จะบรรจุว่าเกี่ยวข้องกับอะไร มีความยากง่ายระดับใด และเหมาะสมกับบุคคลเช่นไร แล้วกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะสรรหาให้สอดคล้องกับงาน โดยยึดหลักบรรจุคนให้ตรงกับงานและกำหนดเงินเดือนหรือค่าจ้างให้สอดคล้องกับปริมาณงาน และความยากง่ายของงาน
แต่คุณสมบัติที่ทุกตำแหน่งจะต้องมีก็คือ คุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปกับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีการปรับ ครม.ในรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน หลายตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลเฉกเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาคือ เพื่อทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ปรากฏว่าทันทีที่มีรายชื่อ ครม.ใหม่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงมา ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นคือ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย
ต่อมาได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพิชิต ชื่นบาน เคยต้องโทษจำคุก 6 เดือนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล และคงจะมีผู้ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติหรือไม่
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปรับ ครม.ดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องและความสะเพร่าของผู้นำรัฐบาลในงานด้านบริหารบุคคลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ในกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าพิจารณาจากเนื้อหาของหนังสือลาออก เห็นได้ชัดเจนว่า เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่นายกฯ ไม่เห็นผลงาน และไม่ให้ความสำคัญแก่ผู้ที่อุทิศตนให้กับการทำงาน ซึ่งผิดหลักการงานบริหารบุคคลที่กำหนดให้ผู้เป็นนายต้องให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำงานดีมีผลงาน โดยการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นหรือให้รับผิดชอบงานเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการประกาศยกย่องให้คนในองค์กรถือเป็นแบบอย่าง
การไม่เห็นความสำคัญและลดตำแหน่งลงให้เหลือเพียงตำแหน่งที่ต่ำกว่า เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงเท่ากับเป็นการลงโทษโดยการลิดรอนอำนาจ แล้วผู้รักเกียรติ รักศักดิ์ศรีคนไหนจะทนอยู่
2. ในกรณีของพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีผู้รู้ทางด้านกฎหมายหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าขัดต่อกฎหมาย และเชื่อว่าจะต้องมีผู้ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องและวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมาย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็เข้าข่ายทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หรือไม่จะกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ได้ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ เศรษฐา ทวีสิน มีภาพลักษณ์เป็นบวกในฐานะนักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จในกิจการงานของตน
แต่หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลบริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง ภาพลักษณ์ที่เป็นบวกค่อยๆ หมดไป และติดลบเนื่องจากไม่มีภาวะผู้นำเท่าที่ควรจะเป็น
2. ในการปรับ ครม.ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่าที่ผู้นำจะพึงมีในการเลือกและไม่เลือกใครเข้ามาดำรงตำแหน่งในครม.
ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า การปรับ ครม.ในครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหา มิได้เกิดจากไม่มีคนดีให้เลือก แต่เกิดจากความไม่มีอิสระในการเลือกมากกว่า