การลาออกของ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.เศรษฐา 1/1 เพียง 4 ชั่วโมง เป็นแค่จังหวะและโอกาส เพราะความจริงปานปรีย์มีความคับข้องใจ มีแผนจะลาออกอยู่แล้ว ทั้งเรื่องคนของ ‘นาย-พรรค’ ผนวกกับเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ที่ต้องรับรู้ในฐานะรองนายกฯ บางโครงการสอดไส้เข้ามาอีก ต้องแก้เกมด้วยการยกเลิกประชุม จับตา ‘เศรษฐา’ จะบริหารสมดุลกับ 3 แรงกดดันอย่างไร เชื่อนายกฯ พลาดไม่เข้าใจ ‘การทูตระหว่างประเทศ’ ลือ ‘มาริษ-ทักษิณ’ ใครคือ รมว.การต่างประเทศตัวจริง? แจงเกาะติดการเมือง ชี้หลังตุลาฯ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง!
เรื่องของ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ หรือ ดร.ตั๊ก โบกมือลาตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศและทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ครม.เศรษฐา 1/1 เพียง 4 ชั่วโมง
โดย ‘ปานปรีย์’ ถูกปรับพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มีทั้งเสียดายคนดีมีฝีมือ ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยึดผลประโยชน์ชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ แต่มีกระแสติเตียนไปในทำนอง น้อยใจ ติดยึดกับตำแหน่ง แค่ไม่ได้เป็นรองนายกฯ แบบนี้ลาออกไปก็สมควรไปได้แล้ว อีกทั้งยังเขียนจดหมายลาออกโอ้อวดว่ามีผลงานมากมายซึ่งไม่ต่างกับนักการเมืองทั่วไป
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งมีทั้งบวกและลบ ทำให้มีการตั้งปุจฉา-วิสัชนา ของกลุ่มเพื่อนสนิทปานปรีย์ ที่รู้และเข้าใจตัวตนของ ดร.ตั้ก เป็นอย่างดี แถมยังมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตั้งคำถามว่า ‘นาย’ จะทนอีกนานแค่ไหน แต่คำตอบในเวลานั้นคาดว่าจะอีกระยะหนึ่งอาจจะ 1-2 ปี หรือเร็วกว่านั้น แต่น่าจะไปก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแน่นอน
ดังนั้น การที่ ดร.ตั๊ก ตัดสินใจลาออกทันทีเมื่อเหลือเพียงตำแหน่งเดียว กลุ่มเพื่อนสนิทบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกใจ แถมยังขยายถ้อยคำที่ ดร.ตั้ก อธิบายกับสื่อด้วยว่า ในการทำงานในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศนั้น ส่วนมากจะมีตำแหน่งรองนายกฯ พ่วงด้วย เพื่อที่เวลาเดินทางไปปฏิบัติราชการหรือเจรจาใดๆ ในต่างประเทศ จะได้มีเกียรติและสามารถดำเนินการได้ราบรื่นมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ที่พ่วงกับ รมว.ต่างประเทศ แต่เมื่อเหลือเพียงตำแหน่งเดียว อาจทำให้งานไม่รวดเร็ว หรือราบรื่นเท่าที่ควร
“ตั๊ก ไม่ได้น้อยใจเรื่องไม่ได้เป็นรองนายกฯ และนายกฯ เศรษฐาไม่เข้าใจทำไมยังต้องมีตำแหน่งรองนายกฯ เรื่องนี้ให้ไปถาม ทักษิณ เขารู้ดีว่าทำไมต้องมีพ่วง ขีดเส้นใต้ไว้เลยนะ นี่คือ ระบบการทูตระหว่างประเทศใช่หรือไม่? ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเศรษฐา กี่ 10 กี่ 100 ครั้ง ที่ ตั๊ก ไปพบผู้นำประเทศต่างๆ ในฐานะรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหากไปพบผู้นำโดยตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียวโดยไม่เป็นรองนายกฯ ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือถ้าจะยังนั่งควบรองนายกฯ ซึ่งจำนวนคนใน ครม.ไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะไม่มีการเพิ่มจำนวนคน โดยนายเศรษฐา สามารถแบ่งงานความรับผิดชอบกันใหม่ แล้วเอางานต่างๆ ที่เคยอยู่ในมือของ ดร.ตั๊ก ที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ ก.พ. กพร. สภาพัฒน์ การท่องเที่ยวและกีฬา หรือกองทุนต่างๆ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ไปให้รองนายกฯ คนอื่นย่อมทำได้
“เรารู้ว่าตั๊กยินดีมากๆ จะได้โฟกัสที่งานต่างประเทศเพียงอย่างเดียว”!
ที่สำคัญการที่ ดร.ตั๊ก ตัดสินใจลาออกจริงๆ ไม่ใช่เพราะหลุดรองนายกฯ เพียงแต่ว่าการหลุดรองนายกฯ เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการลาออกจนทำให้ใครต่อใครเข้าใจว่าน้อยใจ จนดูเสมือนเป็นคนยึดติดกับตำแหน่ง แต่ความจริงก็คือความจริง
เนื่องเพราะ ดร.ตั๊ก เป็นตัวของตัวเองมาตลอด และยึดหลักการในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ หรือพรรคส่งคนมาทำงานด้วย ซึ่งเราเชื่อว่า ดร.ตั๊กจะทำงานได้กับทุกคน ยกเว้นว่าคนที่ส่งมาเป็นดังนี้
1.มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องและจะทำให้ ดร.ตั๊ก เสียหาย
2.คนคนนั้นแอบไปทำอะไร หรือสั่งการอะไรโดยพลการ หรือข้ามหัว ทำให้เสียหายต่อราชการ จะทำให้ ดร.ตั๊กไม่ไว้ใจ และจะไม่ให้ช่วยงานเช่นกันแต่ยังคงให้อยู่ด้วย เหมือนสายลมแสงแดดนั่นเอง
3.หากเป็นคนมีคุณธรรม เมตตาธรรม หวังดีต่อบ้านเมือง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดร.ตั๊ก จะมอบหมายงานให้ทำเพราะในที่สุดผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งของพรรคและประเทศชาติต่อไป
4.ดร.ตั๊กจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ ที่ไม่ชอบ เพียงเพื่อให้ ‘นาย’ เมตตา และได้อยู่กับตำแหน่งนั้นๆ ต่อไป เพราะคนที่ยึดติดกับตำแหน่งก็ปรากฏให้เห็นต้องติดคุกไปแล้วก็มี
ทั้งนี้ สังคมจะได้เห็นว่าคนที่นายกฯ หรือพรรคส่งมาไม่ว่าจะอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ หรือตรงไหนก็ตามที่ ดร.ตั๊ก ไม่ไว้วางใจ จะไปทำงานเหมือนเดิม แต่เลือกที่จะเดินตามหรือขึ้นตรงไปที่นายกฯ เศรษฐา โดยตรง?
“ที่เรารับรู้ข้อมูลมาตลอด กระทรวงการต่างประเทศไม่มีผลประโยชน์เหมือนตำแหน่งรองนายกฯ หรอก เพราะตั๊กกำกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเรื่องกองทุน เท่าที่รู้ เช่น กองทุนดิจิทัล หลายโครงการ จำนวนเงินมหาศาล ดร.ตั๊ก ตีตกไปเยอะ สั่งให้ไปทำมาใหม่ บางโครงการมีการลักไก่กันเข้ามา ตั๊ก รู้ทันสั่งให้ยกเลิกการประชุม ยังมีกองทุนอื่นๆ อีกนะที่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง”
ว่าไปแล้วการอยู่ในตำแหน่งรองนายกฯ ที่กำกับดูแลหน่วยงานสำคัญๆ ของ ดร.ตั๊ก จึงดูเสมือนไปขวางผลประโยชน์ของบางกลุ่มทั้งในพรรคและนอกพรรค โดยเฉพาะถ้าไปขวางมากจะออกข่าวโจมตีให้เสียชื่อเสียง นี่อาจเป็นเหตุผลที่คนในพรรคเองต้องการให้ ดร.ตั๊กหลุดจากตำแหน่งนี้
“ถ้าตั๊กไม่ขวาง ก็จะเสียผลประโยชน์ชาติ ตั๊กจึงต้องระมัดระวัง ไม่ว่าจะเลือกขวางหรือไม่ขวางในสิ่งที่เสนอเข้ามา แว่วๆ มีนักธุรกิจใหญ่ยังเคยมาพบประเด็นสำคัญๆ ด้วย”
ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ดร.ตั๊ก ต้องรับคำสั่งอะไรมาและไม่อยากจะดำเนินการคืออะไรในกระทรวงการต่างประเทศ จะเกี่ยวข้องกับเจ้าของพรรคเพื่อไทย หรือการที่ต้องการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าวลือสะพัดนั้นคืออะไร ซึ่งไม่มีเพื่อนคนใดหรือใครสามารถง้างปากให้ ดร.ตั๊ก เผยออกมาได้ นอกจากตั้งประเด็นสงสัยไว้เท่านั้น
กลุ่มเพื่อนปานปรีย์ บอกว่า อยากให้ทุกคนมองไปที่พรรคเพื่อไทย และการปรับ ครม.ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในพรรคนั้นแบ่งเป็นก๊ก เป็นก๊วน ทั้งคนของ ‘นายใหญ่-ชินวัตร’ คนของ ‘ยิ่งลักษณ์ -เศรษฐา’ และคนของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ที่วันนี้ต้องถือว่าคนของอุ๊งอิ๊ง ยังโตไม่ทันรอการบ่มเพาะอีกระยะหนึ่งจึงต้องพึ่งคนของ ‘อาปู’ ไปก่อน
ส่วนคนของยิ่งลักษณ์ ที่ส่งเป็นทีมหนุนนายกฯ เศรษฐา มีบทบาทในพรรคมากดูแค่การสลับเจ้ากระทรวงระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับกระทรวงวัฒนธรรม ก็เห็นแล้วว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ได้มาอยู่เพราะลูกชาย คือ ร.ท.ปรีชาพล อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เป็นคนของยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญทำให้มีการโยกสลับเก้าอี้ครั้งนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า นายเศรษฐาจะสร้างสมดุลในการบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้เพราะนายเศรษฐา กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน 3 อย่างจากความเป็นนักธุรกิจเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1.แรงกดดันในเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในพรรคและนอกพรรค
2.แรงกดดันจากเจ้าของพรรคตัวจริง
3.แรงกดดันจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลักสำคัญ
“ถ้าเศรษฐา จัดสมดุล 3 อย่างได้ไม่ดี คือมีผลประโยชน์มากเกินไป เขาก็จะเสี่ยงมาก เรื่องดิจิทัลก็เหมือนกัน เขาสาหัสกว่า ตั๊ก มาก และเขาก็พลาดที่ทำให้ตั๊กหลุดจากรองนายกฯ ซึ่งทักษิณ น่าจะคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าหากเหลือตำแหน่งเดียวตั๊กต้องลาออก เพราะมันคือวิธีการทูตระหว่างประเทศ เพราะเมื่อหลุดรองนายกฯ ก็เข้าสู่แรงกดดันที่ 1+2 ต้องเดินตามนายใหญ่ และผลประโยชน์บางอย่างในการตั้ง ครม.เศรษฐา 1/1”
ประเด็นสำคัญที่สังคมต้องติดตามจากนี้ไปคือภารกิจของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ คนใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศมายาวนานในฐานะทูตหลายประเทศ และเข้ามามีบทบาททางการเมืองในพรรคเพื่อไทย มีเสียงร่ำลือถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้เป็นที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศสมัยนายปานปรีย์ มาก่อน ซึ่งมักปรากฏภาพ นายมาริษ ในการเดินทางไปต่างประเทศกับนายกฯ เศรษฐา เช่นกัน
“ทูตมาริษ เป็นคนเก่ง สุภาพ พูดจาไพเราะ ดูแลการเมืองได้ดี ทำให้มีเสียงลือและวิพากษ์วิจารณ์แบบติดตลกว่าคงต้องดูต่อไปรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ตัวจริงจะชื่อทักษิณ หรือมาริษ กันแน่จริงมั้ย?”
พร้อมกันนั้น ก็ยังมีเสียงสนับสนุนให้สังคมต้องติดตามคาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้เช่นกันภายหลังการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ที่ปรากฏให้เห็นกันแล้ว!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j