xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทุเรียนไทย” แพ้ “เวียดนาม” หลุดแชมป์ส่งออก “จีน” ระยะทางขนส่งปัจจัยหลัก - “ภัยแล้ง” ซ้ำเติมปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ประเทศไทยส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่าปีละมากกว่าแสนล้านบาท โดย “จีน” ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยมากกว่า 90% เรียกว่า “ทุเรียนไทย” ครองแชมป์ส่งออกตลาดจีนมาอย่างยาวนานก็ว่าได้ 

ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะรัฐบาลจีนเปิดกว้างการนำเข้าทุเรียนสดมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ต่างได้รับสิทธิ์ส่งออกทุเรียนสดส่งออกไปยังจีนเช่นเดียวกัน กระทั่งในที่สุด  “ทุเรียนไทย”  ก็มาถึงวันที่ต้องเพลี่ยงพล้ำให้  “ทุเรียนเวียดนาม” เบียดส่งออกตลาดจีนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าไปเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับนำมาซึ่งคำถามว่า  “เกิดอะไรขึ้น” และ  “ปัจจัยสำคัญ”  แห่งความพ่ายพ่ายนั้นอยู่ที่ตรงไหนบ้าง ด้วยพิเคราะห์ดูแล้วคงไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว หากแต่สถานการณ์อาจจะดำเนินไปในลักษณะนี้ยาวนานเลยทีเดียว

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีน ระบุว่า ปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบ 95% ต่อมาปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่า 30% ภายในหนึ่งปีและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ประเทศจีนนำเข้าทุเรียนสด จำนวนรวมทั้งสิ้น 53.110 ตัน คิดเป็นมูลค่า 283.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.4% ในด้านปริมาณ แต่มูลค่าลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2566) โดย เวียดนามแซงหน้าไทย ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกทุเรียนไปจีน ด้วยปริมาณ 32.750 ตัน มูลค่า 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดย มาร์เก็ตแชร์ของทุเรียนเวียดนามในจีน คำนวณโดยมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 57% ในปี 2567จากเดิม 32% ในปี 2566

ขณะที่ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีน เป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม โดยมีปริมาณ 19.016 ตัน มูลค่า 120.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 50.3% ในแง่ปริมาณ และ 45.2% ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ทุเรียนสดจาก ฟิลิปปินส์ ที่เข้าสู่ตลาดจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 ที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่งก็คือ ปัจจุบันเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกเพียงทุเรียนสดไปยังจีนอย่างเดียว หากอนาคตได้รับอนุญาตทุเรียนสดแช่แข็ง และทุเรียนสดแปรรูปไปยังจีนได้ ยอดรวมของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 

ข้อมูลจาก  บริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด  เปิดเผยว่าก่อนปี 2566 นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่ในปี 2567 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง ซึ่งบริษัทเลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคจีน อีกทั้งการปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนาดใหญ่ รวมถึงข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น และเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน

อย่างไรก็ดี ความนิยมบริโภคทุเรียนของตลาดจีน กำลังดึงดูดใจให้เกษตรกรประเทศเวียดนามจำนวนมากหันมาปลูกทุเรียนแทนกาแฟ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้นกาแฟลดน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดตามไปด้วย ทั้งนี้ เพราะแบกรับต้นทุนการเพาะปลูกกาแฟโรบัสตาที่สูงขึ้น และให้ผลผลิตน้อยจากภัยแล้งไม่ไหว

สำหรับเวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก สถานการณ์ที่ตามมาหลักเกษตรกรเวียดนามหันไปปลูกทุเรียนแทนกาแฟ คือ ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าก็เพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด อ้างอิงรายงานของ Nikkei Asia พบว่าช่วงเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 ราคากาแฟโรบัสต้าทำนิวไฮพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เลยทีเดียว แตะระดับ 4,500 ดอลลาร์ต่อตัน

โดย 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเวียดนามหันมาปลูกทุเรียนแทนกาแฟ คือ สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟออกผลน้อย การบริโภคทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และความนิยมบริโภคทุเรียนในจีน

ขณะเดียวกัน ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศจีน โดยเวียดนามได้เริ่มเข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาดทุเรียนจีนทันทีที่ได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนเข้าจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 และได้ส่งทุเรียนเข้าจีนลอตแรกในวันที่ 19 กันยายน 2565 โดยในปี 2566 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปจีนจะเติบโตต่อไปในปี 2567

สำหรับสถานการณ์ทุเรียนของไทย ปี 2567 เรียกว่าเผชิญหน้ากับปัจจัยลบโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญทำให้ผลผลิตน้อยลงแล้ว รวมทั้งกรณีของทุนจีนที่เข้ามาตั้งล้งใน จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ทุเรียนไทย ซึ่งมีล้งที่ผ่าน
มาตรฐาน GMP เพียง 827 แห่ง แต่ล้งที่เข้ามารับซื้อทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัด ระยอง ตราด และ จันทบุรี จำนวนกว่า 1,200 ล้ง ผลที่เกิดขึ้นคือความต้องการจากจีนที่เยอะขึ้น แต่สวนทางผลผลิตที่น้อยลง ทำให้ราคาขายหน้าสวนพุ่งสูง

อ้างอิงสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การออกดอกติดผลของผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) ประจำปี 2567 พบว่า ผลไม้ทั้ง 4 ชนิด มีปริมาณผลผลิตรวม 1,114,070 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน (เพิ่มขึ้น 67,816 ตัน หรือ 6.48%)

สำหรับผลไม้ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ มังคุด 42% รองลงมา เงาะ เพิ่มขึ้น 8% ลองกอง เพิ่มขึ้น 3% และทุเรียน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% โดยผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมด

 นส. นริศรา เอี่ยมคุ้ย  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี สศก. ระบุว่า หากดูเฉพาะทุเรียน ผลไม้ยอดนิยมพบว่า ปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% โดยมีเนื้อที่ยืนต้น 687,140 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 635,984 ไร่ (เพิ่มขึ้น 51,156 ไร่ คิดเป็น 8.04%) และมีเนื้อที่ให้ผล 424,724 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 390,177 ไร่ (เพิ่มขึ้น 34,547 ไร่ คิดเป็น 8.85%)

เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมีต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น จำนวน 38,849 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,843 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,991 กิโลกรัม (ลดลง 148 กิโลกรัม คิดเป็น 7.43%) เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มต้น ได้น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง

ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ผลผลิตรวม 782,874 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน (เพิ่มขึ้น 5,960 ตัน คิดเป็น 0.77%) ภาพรวมปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่

โดยสวนทุเรียนบางพื้นที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดแต่งจำนวนผลต่อต้นลดลง ความสมบูรณ์ของผลทุเรียน ขนาดและรูปทรง ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 53.20 ของผลผลิตทั้งหมด


ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2567 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 สายพันธุ์ เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) รวมทั้ง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ได้มีแนวทางการบริหารจัดการตลาดผลไม้รองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดไว้เรียบร้อยแล้ว

สำนักงานเกษตรจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ได้ทำการประเมินสถานการณ์และปริมาณผลผลิตทุเรียน ครั้งที่ 3/2567 คาดว่าปี 2567 จะมีผลผลิตทุเรียนรวมออกมาประมาณ 782,874 ตัน จากปี 2566 ที่มี 776,914 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5,960 ตัน หรือ 0.77 % แบ่งเป็น จันทบุรี 554,833 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 538,461 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 16,372 ตัน หรือ 3.04%, ตราด 91,217 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 89,511 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 1,706 ตัน หรือ 1.91% และระยอง 136,824 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มี 148,942 ตัน ลดลง 12,118 ตัน หรือ 8.14%

โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเดือนเมษายนประมาณ 125,051 ตัน หรือ 15.97% พฤษภาคม 427,646 ตัน หรือ 54.63% มิถุนายน 185,230 ตัน หรือ 23.66% และกรกฎาคม 39,063 ตัน หรือ 4.99%

ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการส่งออกทุเรียนเต็มกำลัง  นายพีรพันธ์ คอทอง  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนที่มีมากขึ้น และปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งได้มากขึ้น จากปริมาณความต้องการทุเรียนส่งผลให้เกษตรกร

และนอกจากจะผลิตทุเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแล้ว ยังต้องรักษาคุณภาพมาตรฐาน กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดให้ก่อนวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2567 ขอความร่วมมือให้เกษตรกรและมือตัดทุเรียนต้องเก็บตัวอย่างทุเรียนที่ไม่มีร่องรอยการเปิดกรีด จำนวน 1 ผล นำมาตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ณ จุดบริการตรวจก่อนตัดที่กำหนดไว้ ก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน

ทั้งนี้ ฤดูกาลผลิตปี 2567 ได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก โดยพันธุ์กระดุม วันที่ 15 เมษายน 2567 ส่วนพันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 และพันธุ์หมอนทองวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

 นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ายอดการส่งออกทุเรียนไทยขยายตัวต่อเนื่อง จนปัจจุบันทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ยกิโลละ 160 บาท และจะเดินหน้าสู่เป้าในการส่งออกให้ได้ 130,000 ล้านบาท โดยเป็นผลผลิตจากภาคตะวันออกของไทยที่ออกสู่ตลาดแล้วกว่า 50% โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ชะนี และพันธุ์ก้านยาว

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงสถานการณ์ผลผลิตทุเรียนไทยในภาคตะวันออกที่เติบโตต่อเนื่อง โดยราคาทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 160 บาทต่อกิโลกรัม ทุเรียนเกรดตกไซส์ส่งออก ราคาเฉลี่ย 120 บาทต่อกิโลกรัม และทุเรียนตกไซส์ ราคาเฉลี่ย 100 - 110 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่ถือเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ล่าสุด พบว่าราคาเฉลี่ยของทุเรียนไทยในตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว ในช่วงวันที่ 1 - 30 เมษายน 2567 (ข้อมูลจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว) มีราคาเฉลี่ยที่ 52.83 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 9.33% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเดิมมีราคาเฉลี่ยที่ 48.32 หยวนต่อกิโลกรัม

ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับแนวทาง และมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนชาวสวนทุเรียน ตั้งแต่ต้นทางการรองรับผลผลิต ผ่านมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 ทั้ง 6 มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ส่งเสริมการผลิตและการแปรรูป ส่งเสริมตลาดภายในประเทศ ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า, อำนวยความสะดวกทางการค้า กำหนดมาตรการทางกฎหมาย เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง และจับเจ้าของบัญชีถอนเงินเว็บพนันออนไลน์ แค่เดือนเดียวเงินเข้าหลายล้าน

ขณะที่ ปลายทางด้านการส่งออก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือและเจรจากับทางจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้จากไทยโดยตรงไปยังแต่ละมณฑลของจีน ผ่านเส้นทางส่งออกสินค้าทางบก เช่น การขยายเวลาทำการของด่าน การเพิ่มช่องทางเข้า – ออกของรถบรรทุก การเพิ่มตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นฤดูผลไม้ของไทย โดยปัจจุบันมีด่านทางบกที่กำหนดให้เป็นจุดนำเข้า - ส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีน จำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่ถือเป็น King of fruits ของไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าทุเรียนจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการผลักดันผลไม้ไทยชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ มีรสที่ต่างชาตินิยมเช่นกัน ให้ได้รับความนิยมในตลาดโลกด้วย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มความหลากหลายให้กับอุตสาหกรรมผลไม้ของไทย เพื่อในที่สุดจะเพิ่มโอกาส ช่องทาง และรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการในระยะยาว” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

 สุดท้ายคงต้องติดตามกันว่า “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จะกอบกู้ให้ “ทุเรียนไทย” กลับมาผงาดในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนเบอร์ 1 มาอย่างยาวนาน ได้หรือไม่? อย่างไร?  




กำลังโหลดความคิดเห็น