xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ผันน้ำโขง” พลิกชลประทานอีสาน แก้ภัยแล้ง กอบกู้พื้นที่เกษตร หรือแค่เรื่อง “ขี้ตั๋ว” ได้ไม่คุ้มเสีย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  “โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”  นับเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่เกิดขึ้นมา 30 กว่าปีแล้ว โดยแนวคิดเพื่อจัดการปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชีลุ่มน้ำมูล โดยเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ภาคอีสาน แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหาสะท้อนหลากมิติ ทั้งผลกระทบต่อชุมชน ระบบนิเวศเปลี่ยนไป การเทงบประมาณและความคุ้มค่าของโครงการ

 นายนิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สะท้อนว่าวาทกรรมอีสานแล้งเป็นเสมือนเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่า ที่มักก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนทั่วไปเกี่ยวกับสภาพเชิงนิเวศของภาคอีสานว่า อีสานนั้นแห้งแล้งกันดารอยู่เสมอ ซึ่งในข้อเท็จจริงสภาพภูมิอากาศความร้อนแล้ง เป็นเพียงฤดูกาลหนึ่งของอีสานที่มีลักษณะเฉพาะเชิงนิเวศหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยน ทั้งฤดูร้อนที่แล้ง ฤดูหนาวที่เยือกเย็น และฤดูฝนที่มีน้ำท่วม - น้ำหลาก อยู่เป็นปกติ แต่ไม่มีผลกระทบรุนแรงยาวนาน

ทั้งนี้ สภาพปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งของภาคอีสานเป็นปัญหาเรื่องการจัดการน้ำต้นทุนให้มีเพียงพอกับการใช้น้ำทั้งในการอุปโภค-บริโภค หรือในภาคเกษตรกรรมในแต่ละปี ซึ่งจะเห็นว่าภายหลังการก่อสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำทั้งในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี พบว่าในฤดูฝนภาคอีสานทั้งลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี เกิดสภาพน้ำท่วมตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ ในขณะที่พอถึงฤดูหนาว และฤดูร้อน อีสานกลับแล้งจนแม่น้ำบางจุดตื้นเขินเดินข้ามได้ ซึ่งยืนยันว่านี่คือปัญหาการบริหารจัดการน้ำ

ขณะที่บทเรียนกว่า 30 ปี จากโครงการโขง ชี มูล สะท้อนความไม่เข้าใจในบริบทเชิงนิเวศ และความหลากหลายของระบบลุ่มน้ำอีสาน ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำ สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบความเชื่อ ซึ่งยึดโยงกันไว้ในฐานะฐานทรัพยากรที่เป็นหัวใจของระบบรวมทั้งหมดของชุมชนท้องถิ่น โดยโลกทัศน์การมองน้ำแบบแยกส่วนของหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก่อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เกี่ยวกับการกักเก็บน้ำ ตลอดจนความพยายามในการผันน้ำโขงมาสู่ลุ่มน้ำในภาคอีสาน

สิ่งที่รัฐกำลังถูกตั้งคำถามก็คือ เหตุใดจึงผลักดันเมกะโปรเจกต์ ทั้งที่มีงานวิจัยสะท้อนเรื่องผลกระทบ อาทิ กรณีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม กรณีเขื่อนราษีไศล และกรณีเขื่อนหัวนา ในแม่น้ำมูล รวมถึงกรณีเขื่อนร้อยเอ็ด กรณีเขื่อนยโสธร-พนมไพร และกรณีเขื่อนธาตุน้อย ในแม่น้ำชี ซึ่งผลการศึกษาต่างก็ชี้ชัดว่า โครงการ โขง ชี มูล นั้นมีปัญหาทำให้เกิดผลกระทบ ถึงขั้นว่าต้องฟื้นฟูเยียวยาระบบนิเวศ และผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ขณะที่การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ รวมถึงข้อกังวลข้อคำถามถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน หลักประกันความเสี่ยงและความสูญเสียทั้งในระยะสั้น และระยะยาวก็มิได้มีสิ่งยืนยันว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างชัดเจนหากโครงการดำเนินต่อไป

ด้าน  นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์  อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 30 ปี ของโครงการโขง-ชี-มูลว่า โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ฝืนธรรมชาติทั้งหมด ปัญหาใหญ่คือบางจุดใช้วิธีสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นมาที่สูงโดยการกั้นฝาย แล้วสูบทอยเป็นช่วงๆ นี่ก็ฝืนแรงโน้มถ่วง แล้วต้องปิดปากแม่น้ำ ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา หรือไปทำอ่างเก็บน้ำโดยถมคันดินขึ้นมารอบหนอง บึง หรือรอบพื้นที่ป่าที่ลุ่มต่ำ บริเวณนั้นกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นป่าบุ่งป่าทามมาก่อน เช่น ที่ราษีไศล สูญเสียป่าบุ่งป่าทามไปสองแสนกว่าไร่ จึงตามมาด้วยปัญหามากมาย ทำให้ระบบนิเวศสูญเสียตามที่ราบริมน้ำ

นอกจากประเด็นเรื่องกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เชื่อมโยงกันคือ น้ำมาในช่วงที่คนไม่ต้องการน้ำ เช่น ฤดูฝนที่มีน้ำเยอะอยู่แล้ว ส่งผลให้น้ำเยอะเกินไปจนไหลไปขังนอกคันดินจนท่วมนาชาวบ้าน สิ่งที่สืบเนื่องกันคือทำให้ชาวบ้านทำนาปีไม่ได้ ต้องหันมาทำนาปรัง ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องหาพื้นที่ใกล้ๆ ที่สามารถเอาน้ำมาใช้ได้ จนนำไปสู่การต้องบุกรุกป่าบุ่งป่าทาม

สำหรับแนวคิดผันน้ำพลิกระบบชลประทานนับเป็นโครงการเป็นโครงการใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางบริหารจัดการน้ำระยะยาวเพื่อความยั่งยืน สำหรับ “โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” แบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทบทวนและศึกษาเพิ่มเติม รายงานการศึกษาฉบับของกรมชลประทาน และจัดทำรายงานผลการประเมินผลกระทบประเมินโครงการบริหารจัดการโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 เสนอต่อคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ การพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

โดยโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จากปากแม่น้ำเลย ไปสิ้นสุดที่ จ.อุบลราชธานี ระยะทาง ระยะทางกว่า 850 กม. เป็นโครงการที่นำเอาน้ำโขงเข้ามาโดยที่ไม่ต้องสูบ เพราะความสูงของปากแม่น้ำเลย อยู่ที่ 210 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อผันน้ำไปตามแรงโน้มถ่วง ไปลงที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ความสูงอยู่ที่ 182 เมตร รทก. ส่วนเขื่อนปากมูลความสูงอยู่ที่ 108 เมตร

อนึ่ง ช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำเลยราว 15 กิโลเมตร แต่หากเป็นฤดูแล้ง จะไหลย้อนเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีแผนจะทำคลองชักน้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำเลย ระยะทางประมาณ 900 เมตร จากนั้นจะผันน้ำด้วยระบบท่อ ตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านหนองบัวลำภู อุดรธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระยะทางของเฟสแรก จะมีการเจาะอุโมงค์ยาว 60 กว่ากิโลเมตร

ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสาทไปยัง เค-วอเตอร์ (K-water) จากเกาหลี จำลองโมเดล 3 มิติ ด้วยการต่อท่อส่งน้ำยาว 1 กิโลเมตร วัดอัตราการไหลตั้งแต่ต้นอุโมงค์ ไปยังท้ายอุโมงค์ พบว่า อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 120-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นไปตามแบบวิศวกรรมที่ออกแบบไว้ หากจะทำคลองส่งน้ำเต็มศักยภาพ จะต้องสร้างถึง 16 อุโมงค์ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้มากถึง 31 ล้านไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ในเขตชลประทาน 30 กว่าล้านไร่ แต่เมื่อมันเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงได้ศึกษาความเหมาะสมไปทีละอุโมงค์ ซึ่ง 1 อุโมงค์จะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านไร่

ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการฯ โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว กสม. ขอให้ สทนช. ชะลอการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และให้ไปแก้ไขปรับปรุงอีไอเอ ภายใน 180 วัน เพราะการเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ สทนช. และบริษัทที่ปรึกษา ที่ผ่านมาชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรภาคเอกชน มองว่ายังเปิดรับฟังผู้ได้รับผลกระทบไม่เพียงพอ

 ดร.มณีรัตน์ มิตรประสาท  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปลายปี 2564 และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อร้องเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ที่ไม่ครอบคลุมและไม่รอบด้าน

จากการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน คุยกับหน่วยงานผู้ถูกร้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามแนวโครงการ คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคประชาสังคม พบว่า โครงการจัดเวทีให้ข้อมูล (ปฐมนิเทศ และปัจฉิมนิเทศ) ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นภาคราชการ ส่วนภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย มีบ้านเรือนประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ประมาณ 1,000 คน แต่บริษัทที่ปรึกษาส่งเอกสารไปให้ประชาชนตอบแบบสอบถาม 900 กว่าคน ร้อยละ 50 เห็นด้วย และอีกร้อยละ 43 ไม่เห็นด้วย

เมื่อครั้งที่ กสม. ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนหลายคนสะท้อนถึงความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะเขามองว่า ไม่อยากสูญเสียแผ่นดินของเขาไป เพราะนี่มันเป็นแผ่นดินในการฝังรกรากของเขา มิตินี้ไม่ใช่แค่มิติทางเศรษฐกิจ แต่มันคือรากฐานทางวัฒนธรรมของคนอีสาน

“ข้อสรุปจากการลงพื้นที่พูดคุย ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มติ กสม. มีความเห็นว่า โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลระยะที่ 1 เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านการมีส่วนรวม คือ มีการกระทำ หรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ดร.มณีรัตน์เปิดเผย

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ กสม. ไปยัง สทนช. และ คชก. คือให้ชะลอการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และให้ สทนช. กลับไปทบทวนกลไกของรัฐที่มีอยู่ ทั้ง SEA EIA และ พ.ร.บ.น้ำปี 2561 ใช้กลไกนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ข้อสำคัญต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น