xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภูฏาน (7)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
 
 ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี**

ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ในหมวดที่หนึ่ง ได้แก่ มาตรา 1 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน

ผู้เขียนได้กล่าวถึงที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองภูฏานที่บัญญัติไว้ในหมวดที่เจ็ด ที่มีทั้งหมด 23 มาตราไปแล้ว และถ้าเปรียบเทียบหมวดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองของรัฐธรรมนูญภูฏาน พ.ศ. 2551 กับหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จะพบว่า ของภูฏานมี 23 มาตรา ส่วนของไทยมี 25 มาตรา ผู้อ่านน่าจะลองเปรียบเทียบสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทยกับของภูฏานดู

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญภูฏานมีหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของพลเมืองด้วย โดยกำหนดไว้ในหมวดที่แปด มี11 มาตรา
ในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่พื้นฐานพลเมืองของภูฏาน (Fundamental Duties) ซึ่งเป็นหมวดที่แปดในรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ดังนี้คือ

 มาตรา 1 (หมวดที่แปด) พลเมืองภูฏานจะต้องรักษา ปกป้องและพิทักษ์อำนาจอธิปไตย บูรณการของอาณาเขต และความเป็นเอกภาพของภูฏาน และจะต้องรับใช้ชาติเมื่อรัฐสภามีมติออกมา
มาตรา 2 พลเมืองภูฏานมีหน้าที่รักษา ปกป้องและเคารพต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และมรดกของชาติ

มาตรา 3 พลเมืองภูฏานจะต้องส่งเสริมขันติธรรม การเคารพซึ่งกันและกันและภราดรภาพของชาวภูฏานทั้งมวล โดยก้าวข้ามความหลากหลายทางภูมิภาค ภาษาและศาสนา

มาตรา 4 บุคคลจะต้องเคารพธงชาติและเพลงชาติ
มาตรา 5 บุคคลจะต้องไม่นิ่งเฉยหรือมีส่วนรวมในการกระทำที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การทรมาน หรือการฆาตกรรมบุคคลอื่น การก่อการร้าย การละเมิดต่อสตรี เด็กหรือบุคคลอื่นใด และจะต้องหาทางใดที่จำเป็นในป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำเหล่านี้

มาตรา 6 บุคคลต้องมีความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ต่อเหยื่อของอุบัติเหตุและในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ


มาตรา 7 บุคคลจะต้องมีความรับผิดชอบในการปกป้องสมบัติสาธารณะ

มาตรา 8 บุคคลจะต้องมีความรับผิดชอบในการเสียภาษีที่กฎหมายกำหนด


มาตรา 9 ทุกคนมีหน้าที่รักษาความยุติธรรมและต่อต้านการคอร์รัปชั่น

มาตรา 10 ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 11 ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบให้ความเคารพและยึดมั่นในบทบัญญัติต่างแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 

เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญไทยในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของพลเมือง ของไทยมี 12 มาตรา
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ไม่ควรจะยึดติดกับข้อความในมาตราในลักษณะนี้โดยลำพัง แต่ควรจะพิจารณามาตราอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เพราะรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือ มาตรา 2 ก็กำหนดให้อำนาจรัฐเป็นชองประชาชน (ARTICLE 2. The state power of the D.P.R.K. belongs to the people. www.hrnk.org/uploads/pdfs/DPRK_Constitution.pdf) และเช่นกันในรัฐธรรมนูญฉบับแรกเริ่มของประเทศที่เข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเช่น สวีเดน (ค.ศ. 1809) เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ (ค.ศ. 1814) และเดนมาร์ก (ค.ศ. 1849) ต่างกำหนดให้อำนาจเป็นของกษัตริย์ แต่ก็ควรต้องพิจารณามาตราอื่นๆประกอบด้วย
 
อย่างในกรณีของภูฏานที่กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมายได้ (มาตรา 2.16 (d)) ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์จะต้องลงพระปรามาภิไธย หากร่างกฎหมายได้รับการเสนอกลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า ในกระบวนการนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญภูฏานให้อำนาจสภาเป็นอำนาจสูงสุดสุดท้าย

นอกจากพระมหากษัตริย์ภูฏานจะมีพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติแล้ว ตามมาตรา 2.19 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ หลายตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้น พระมหากษัตริย์ จะลงพระปรมาภิไธยในฐานะประมุขของรัฐมากกว่าจะทรงแต่งตั้งเองโดยลำพังพระองค์จริงๆ อย่างเช่น ในกรณีการแต่งตั้งสมาชิกของศาลสูงสุด พระมหากษัตริย์จะทรงหารือกับคณะตุลาการแห่งชาติ หรือในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานและคณะกรรมการต้านคอร์รัปชั่น พระมหากษัตริย์จะทรงพิจารณาแต่งตั้งตามรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมหารือร่วมกันระหว่าง นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาแห่งชาติ (the National Council) และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งอื่นๆที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่พระมหากษัตริย์จะต้องรับฟังคำแนะนำของสภา ตำแหน่งดังกล่าวนี้ได้แก่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ

นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ภูฏานยังทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้โดยมีพระราชวินิจฉัยที่อิงกับคำแนะนำของสภา เช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ และหัวหน้าคณะทูต พระมหากษัตริย์ทรงเลือก เจ เคนโป (พระสังฆราช)  ให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาติตามคำแนะนำของพระสงฆ์อาวุโส จากนั้น เจ เคนโป ก็เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการการศาสนาทั้งเจ็ดคนขึ้น
 
ส่วนคณะองคมนตรีซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสี่คนที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสองคนจากสี่คน อีกหนึ่งคนได้รับการเสนอชื่อจากคณะรัฐมนตรี ส่วนคนสุดท้ายได้รับเลือกโดยสภาแห่งชาติ (มาตรา 2.14)

 รัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์รวมของชนในชาติ พระองค์ทรงจำเป็นจ้องยึดหลักการ Chhoe-Sid นั่นคือศาสนา (Chhoe) คู่กับการเมือง (Sid) ในฐานะคุณค่าของสันติภาพ ความสามัคคี และความมั่งคั่ง และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกและทรงเป็นผู้บัญชาการทหารในเชิงสัญลักษณ์ (แม้ประเทศจะมีกองกำลังที่เล็ก) รัฐสภาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัตินี้เองได้ ยกเว้นผ่านการทำประชามติ (มาตรา 2.26) 

ข้อกำหนดนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา

 และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆ ต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ  

ในตอนต่อไป จะได้กล่าวถึงมาตรา 20-25 อันเป็นเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์


กำลังโหลดความคิดเห็น