xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวียงวังหมื่นปี (10) ในเวียงวังย่อมมีบุ๋นและบู๊

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

พระที่นั่งพิทักษ์บรรสานหรือเป่าเหอเตี้ยนคือพระที่นั่งองค์สุดท้ายจากสามพระที่นั่งใหญ่ของวังแห่งนี้ และสามพระที่นั่งใหญ่นี้ก็ถือเป็นแกนกลางของวัง โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะถึงสามพระที่นั่งใหญ่นั้น ทางด้านตะวันออกของประตูบรมบรรสานหรือไท่เหอเหมินคือที่ตั้งของ พระที่นั่งเรืองวัฒนะ (เหวินฮว๋าเตี้ยน, Hall of Literary Brilliance) และทางด้านตะวันตกจะเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งเสนาเสถียร (อู่อิงเตี้ยน, Hall of Military Strength) 

เหวินฮว๋าเตี้ยนมีขนาดใหญ่ห้าห้อง ในต้นราชวงศ์หมิงเป็นวังสำหรับเจ้าชายผู้เป็นราชโอรสของจักรพรรดิ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนให้เป็นสถานที่ที่จักรพรรดิทรงใช้สำหรับพบปะบัณฑิตในลัทธิขงจื่อ ราชกิจนี้จะมีขึ้นในฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วง และเป็นราชกิจที่มีตลอดสมัยราชวงศ์หมิงและชิง

การพบปะนี้จักรพรรดิจะทรงฟังเหล่าบรรดาบัณฑิตในลัทธิขงจื่อบรรยายประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏใน  จตุคัมภีร์เบญจปกรณ์ (ซื่อซูอู่จิง)  ที่เป็นตำราสำคัญของลัทธินี้ที่มีอยู่เก้าเล่ม ตำราทั้งเก้าเล่มนี้ถือเป็นความรู้พื้นฐานหรือวิชาที่ใช้สอบบัณฑิต มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

 อนึ่ง จตุคัมภีร์ หรือ ซื่อซู ประกอบด้วย หลุนอี่ว์ (บทสนทนา, The Analects) เมิ่งจื่อ (Mencius) จงยง (มัชฌิมาปกรณ์, The Doctrine of the Mean) และต้าเสีว์ย (อภิสิกขา, The Great Learning) ส่วนเบญจปกรณ์ หรือ อู่จิง ประกอบด้วย ซือ (กาพย์, Books of Poetry) ซู (ตำนาน, Books of History) หลี่ (รีต, Books of Rite) อี้จิง (อนิจ, Books of Change) และ ชุนชิว (วสันตสารท, Spring and Autumn) 

โดย จตุคัมภีร์ ในปัจจุบันมีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้วทั้งสี่เล่ม แต่  เบญจปกรณ์ มีผู้แปลเพียงบางบทของบางเล่มเท่านั้น นั่นคือ กาพย์  ส่วนที่เหลืออื่นๆ มีการกล่าวถึงหรือแปลเพียงบางส่วนแบบกระจัดกระจายจนจับเค้าเป็นตัวเล่มไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การฟังการบรรยายหรือสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างจักรพรรดิและเหล่าบัณฑิตของลัทธินี้ ถือเป็นราชกิจที่สำคัญที่พึงมีอยู่เสมอ เพื่อให้จักรพรรดิได้มีความรู้แตกฉานในลัทธิขงจื่อ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปกครองบ้านเมืองของพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของลัทธินี้ในระบอบการเมืองการปกครองของจีน ว่ามีอยู่มากมายเพียงใดไปด้วย

การที่เหวินฮว๋าเตี้ยนมีหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่แปลกที่ที่ข้างพระที่นั่งนี้จะมีหอสมุดตั้งอยู่ หอสมุดนี้มีชื่อว่า  เหวินหยวนเก๋อหรือหอเรืองปัญญา (the Pavilion of Literary Profundity)  ถือเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดของราชสำนัก โดยมีความยาวห้าห้องและลึกสามห้อง หลังคาปูด้วยกระเบื้องขัดเงาสีดำและตัดขอบด้วยสีเขียว

ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ครองราชย์ ค.ศ.1735-1796) พระองค์ได้ทรงสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งคือ  คลังสมุดจตุรคดี (ซื่อคู่เฉีว์ยนซู, Complete Library of the Four Treasuries)  โดยทรงให้รวบรวมหนังสือหรือตำรับตำราต่างๆ มากกว่า 36,000 เล่มมาไว้ในคลังสมุดนี้

หนังสือเหล่านี้รวบรวมมาจากทั่วประเทศและถูกแบ่งออกเป็นสี่หมวดคือ ปกรณ์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดี คลังสมุดนี้ถือเป็นอนุสรณ์ที่น่าประทับใจของเหล่าบัณฑิต และบัณฑิตเหล่านี้ได้แสดงความเห็นเป็นบทคัดย่อรวมแล้ว 10,230 บท

ที่สำคัญ หนังสือเหล่านี้ยังถูกคัดลอกเป็นสำเนาไว้อีกเจ็ดชุด แล้วนำไปเก็บไว้ยังภาคต่างๆ ของจักรวรรดิจีนอีกด้วย และตอนที่การจัดทำและรวบรวมตำราต่างๆ แล้วเสร็จนั้น จักรพรรดิเฉียนหลงทรงให้จัดงานเฉลิมฉลองที่หอสมุดแห่งนี้อีกด้วย

เมื่อมีหอสมุดแล้วก็ย่อมมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ดังกล่าว อาคารที่ว่านี้คือ พระที่นั่งสืบสานใจหรือฉวนซินเตี้ยน (the Hall of Mind Transmission)  โดยกลางพระที่นั่งจะเป็นที่สักการะบรรพชนและปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้วของจีน กล่าวเฉพาะบรรพชนนี้ได้รวมถึงบุคคลในยุคตำนานที่อยู่ในความคิดความเชื่อของชาวจีนว่ามีตัวตนจริง เช่น  ฝูซี เสินหนง เหยา หรือซุ่น  เป็นต้น

ชื่อบุคคลในยุคตำนานที่ยกมานี้คือ บุคคลผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้แก่สังคมจีน เช่น ความรู้ด้านการเกษตร การประมง เภสัช หรือระบบการปกครองที่ดี เป็นต้น

นอกจากนี้ พื้นที่ในส่วนตะวันออกของพระที่นั่งจะเป็นที่สักการะอดีตมหาอำมาตย์ผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โจว (ก.ค.ศ.1046-256) นั่นคือ โจวกงตั้น  บุคคลผู้นี้คือผู้วางรากฐานการปกครอง จริยธรรม และรีตอันเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมจีน และเป็นบุคคลที่นักปราชญ์นามอุโฆษของจีนคือ  ขงจื่อ (ก.ค.ศ.551-479)  ให้ความเคารพยกย่องเป็นที่ยิ่ง

หลักคิดที่สำคัญของลัทธิขงจื่อนั้น ส่วนหนึ่งได้อ้างอิงผลงานของโจวกงตั้นผู้นี้

ส่วนพื้นที่ในส่วนตะวันตกของพระที่นั่งจะเป็นที่สักการะปรมาจารย์ของลัทธิขงจื่อที่มีชื่อเสียงในอดีต โดยก่อนที่จักรพรรดิจะเสด็จมาพบปะกับเหล่าบัณฑิตในเหวินหยวนเก๋อนั้น พระองค์ทรงให้เหล่ามหาอำมาตย์ที่เกี่ยวข้องกับราชพิธี มาทำการสักการะบรรพชนและปรมาจารย์ยังพระที่นั่งองค์นี้ แต่ก็มีจักรพรรดิบางพระองค์ของราชวงศ์ชิงที่ทรงมาทำพิธีสักการะด้วยพระองค์เอง

ส่วนพระที่นั่งเสนาเสถียรหรืออู่อิงเตี้ยนที่อยู่ทางด้านตะวันตกนั้น ด้านหน้าจะเป็นที่ไหลผ่านของธารทอง โดยมีสะพานหินเพื่อข้ามธารทองอยู่สามสะพาน ในสมัยราชวงศ์หมิงพระที่นั่งองค์นี้จะใช้เป็นที่ทรงพักผ่อนอิริยาบถและพบปะมหาอำมาตย์ของจักรพรรดิ

โดยในช่วงปลายราชวงศ์หมิงเคยเป็นที่ที่กบฏชาวนาที่นำโดย หลี่จื้อเฉิง (ค.ศ.1606-1645)  ใช้เป็นที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ หลังจากเข้ายึดพระราชวังต้องห้ามทำการโค่นล้มหมิงได้สำเร็จ

ที่สำคัญ ตอนที่ชนชาติแมนจูบุกเข้ายึดกรุงปักกิ่งโดยขับไล่กบฏหลี่จื้อเฉิงได้สำเร็จนั้น ผู้นำแมนจูคือ  ดอร์กอน (ค.ศ.1612-1650)  ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นสำนักงานของตน ครั้นถึงสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง พระองค์ทรงใช้เป็นสถานที่ที่ทำการบรรณาธิกรณ์ (editing) หนังสือต่างๆ จนพระที่นั่งองค์นี้ถูกเรียกว่า  ราชบรรณาคาร (เตี้ยนปั่น, court edition) 

 จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ทั้งเหวินฮว๋าเตี้ยนและอู่อิงเตี้ยนคือภาพสะท้อนหลักการเมืองการปกครองของจีน ที่ให้ความสำคัญกับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารในฐานะองคาพยพหนึ่งของระบบ โดยฝ่ายพลเรือนจะเรียกว่า เหวิน และฝ่ายทหารเรียกว่า อู่ ดังปรากฏคำทั้งสองนี้ในชื่อของพระที่นั่งสององค์

คำว่า เหวิน ก็คือคำว่า บุ๋น และคำว่า อู่ ก็คือคำว่า บู๊ ที่ไทยเรารู้จักผ่านภาษาจีนแต้จิ๋ว  

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันนี้จะหาคนรุ่นใหม่ที่รู้จักคำทั้งสองนี้ได้ยาก ยกเว้นคนที่ได้เรียนภาษาจีนมาก็อาจจะรู้จักผ่านภาษาจีนกลาง บางคนก็รู้ว่าภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอะไร บางคนก็ไม่รู้ และที่ไม่รู้ก็เพราะครู (จีน) ผู้สอนจะสอนผ่านภาษาจีนกลาง โดยที่ไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งในสังคมไทยเคยรู้จักสองคำนี้ผ่านภาษาจีนแต้จิ๋วมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การที่สังคมจีนให้ความสำคัญกับข้าราชการฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊นั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นไปโดยสม่ำเสมอตลอดเวลานับพันปีไม่ ดังจะเห็นได้ว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ให้ความสำคัญกับฝ่ายบุ๋นมากกว่าฝ่ายบู๊ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์นี้ล่มสลายในกาลต่อมา

 กล่าวอีกอย่างก็คือ ราชวงศ์ซ่งไม่สามารถบริหารจัดการให้ฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ให้ “บรรสาน” กันได้ด้วยดีนั้นเอง 


กำลังโหลดความคิดเห็น