xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีของสมาพันธรัฐศรีวิชัยแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1) แหลมมลายู 2) เกาะสุมาตรา 3) เกาะชวา และ 4) นอกเขตสมาพันธรัฐศรีวิชัย

ในแหลมมลายูมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยในหลายจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ใน จ.สุราษฎร์ธานีมีแหล่งโบราณคดี 2 แหล่งใหญ่ๆคือ ครหิ (ไชยา) และปัน-ปัน (แม่น้ำตาปี) ในไชยามี วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นโบราณสถานสมัยศรีวิชัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วัดแก้ว วัดหลง วัดหัวเวียง และคลองพุมเรียงและแหลมโพธิ์ อ.ไชยารอบบริเวณเมืองครหิ จอห์น มิกซิคเชื่อว่าหลักฐานในแหลมโพธิ์ที่บอกว่าแหลมโพธิ์เป็นท่าเรือของไชยาได้ถูกแทนที่โดยนครศรีธรรมราช เขาศรีวิชัยใน อ.พุนพินและอ.เวียงสระรอบบริเวณเมืองปัน-ปัน ในจ.นครศรีธรรมราช มี อ.เมือง และมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยที่บ้านไทยสำเภา วันราง อ.ท่าศาลา อ.สิชล มีการค้นพบพระพุทธรูปศิลปะมอญปนเขมรปนอินโดนีเซียแสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม (Multicultural) อยู่รอบบริเวณเมืองตามพรลิงค์ จารึกหลักที่ 28 และ และจารึกหุบเขาช่องคอยที่บูชาพระศิวะ เป็นต้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ที่เกาะคอเขาและเมืองโบราณบ้านทุ่งตึกและจารึกภาษาทมิฬที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีการพบลูกปัดอินเดียและโรมัน ที่ควนลูกปัดอ.คลองท่อม จ.กระบี่ และจ.ตรังอยู่รอบบริเวณเมืองตักโกละ ในจ.สงขลา ที่อ.ระโนด อ.สทิงพระและอ.สิงหนครเป็นบริเวณเมืองรักตมฤติกา (ดินแดง) ในจ.ปัตตานี ที่อ.ยะรัง และที่จ.ยะลา เป็นบริเวณเมืองลังกาสุกะ จารึกสด๊ก ก๊อกธมที่จ.สระแก้วและจารึกซับบากที่จ.นครราชสีมาแสดงถึงการที่ศรีวิชัยรุกรานกัมพูชา การค้นพบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยที่ จ.อุทัยธานีและจ.นครปฐมแสดงถึงการค้าระหว่างทวารวดีกับศรีวิชัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13-15 จารึกวิหารโพธิ์ลังกาที่เป็นภาษามอญและพม่าโบราณโดยใช้อักษรมอญในวัดมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราชที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ 23 แสดงถึงการที่พุกามรุกรานศรีวิชัยในแหลมมลายูตั้งแต่ปีพ.ศ.1739-1745 เพราะอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน

ในประเทศมาเลเซียมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยที่สุไหงบาตูใกล้เมืองเคดาห์ และมีภาพเขียนไทยที่บ่งชี้ถึงการรุกรานของอาณาจักรโจฬะจากอินเดียใต้ สุไหงมาส บูกิต เมเรียม และกัวลา เซอลินซิงทางใต้ของเคดาห์ มีแหล่งขุดค้นที่หุบเขากลังและกัมปุง สุไหง ลัง ในเขตกัวลาลางสาตมีการขุดค้นโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยที่สุไหงเปรัก รัฐเปรัก ปาเลาเกตาริมกลาง เกเลย์ ในรัฐเซลังงอร์ กัมปงชินโปนตันเบย์ กัมปงซิเรห์ ในรัฐเคดาห์ ที่สุไหงกลันตัน รัฐกลันตัน โบราณวัตถุในรัฐเปรัก ที่เลงกอง การค้นพบบาตู บูรูคในรัฐตรังกานูซากโบราณสถานที่โกตาเกลังงีในรัฐยะโฮร์ที่ถูกค้นพบในปีพ.ศ.2548 แสดงถึงร่องรอยของศรีวิชัย การตรวจคาร์บอน-14 พบว่าโบราณสถานเลมบะห์บูจันว่าเก่าแก่กว่า 3 พันปีเป็นหลักฐานล่าสุด

ในอินโดนีเซียนอกจากจารึกสิทธิยาตราหลายหลักที่เมืองปาเล็มบังแสดงถึงการก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยและวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดที่จัมบิอันเป็นแหล่งโบราณคดีหลักบนเกาะสุมาตราแล้ว มีแหล่งโบราณคดีที่ ลามูรี สมุดรา ปาไน บารุส ทาเมียง โกตา จีนา มัวร่า ตากุส ปาดัง ลาวาส มัวร่า จัมบิ ธรรมศรายา ปาดัง โรโค ปาลาส ปาเซมาห์ โกตา กะปูร์บนเกาะบังกา ปาซีร์ ปันจังและคัมไปที่อ่าวอารุแสดงถึงร่องรอยของศรีวิชัยในอินโดนีเซีย การค้นพบจารึกโลบู ทัว (พ.ศ.1631) ที่บารุสและจารึกปาดัง ลาวาส เป็นภาษาทมิฬที่เมืองอาเจะห์บ่งบอกถึงการรุกรานสมาพันธรัฐศรีวิชัยของอาณาจักรโจฬะ มีการขุดค้นจันฑิกัมปุงที่จัมบิ (Candi Gumpung) ในปีพ.ศ.2521 ภาพถ่ายทางอากาศในปีพ.ศ.2527 เหนือบริเวณที่กลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สมาพันธรัฐศรีวิชัยในปัจจุบันใกล้กับปาเล็มบังแสดงให้เห็นร่องรอยของคลองขุดโบราณ คูเมืองโบราณสระน้ำและเกาะเทียมส่อถึงชุมชนเมืองศรีวิชัย มีการค้นพบเศษจารึก พระพุทธรูปลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้องจีนยืนยันว่าเคยมีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น มีการค้นพบจารึกปาลัง ปาเซมาห์ใกล้ช่องแคบซุนดาและมีการค้นพบเรือยาวประมาณ 26 เมตรที่ ซัมบิเรโจ (Sambirejo)

รูป 1.จันฑิระตูบากาที่ปรัมบานันในเกาะชวา แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Srivijaya#/media/Files:006_step_to_Gate_(28938933061).jpg
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ชวากลางโดยเฉพาะบนที่ราบสูงเกดู เกวูและเดียงแสดงถึงวังของราชวงศ์ไศเลนทร์และสัญชัย มีแหล่งโบราณสถานต่างๆเช่นบรมพุทโธและจันฑิปาวนที่มาเกลัง จันฑิเมนดุท จันฑิซารีและจันฑิกลาสันที่โยกยาร์การ์ต้า โบราณสถานระตูโบโกประกอบด้วย โกปุระ (ประตู) ฐานเสาที่เป็นหินสระน้ำ ปะรำเล็กๆที่เปิดโล่ง ปะรำใหญ่ที่ใช้เป็นท้องพระโรงที่อาบน้ำของผู้หญิงและห้องที่ทำเป็นถ้ำสำหรับวิปัสสนากรรมฐาน

จารึกโจฬะในอินเดียใต้ จารึกจามปาที่โพธิ์นาคา ญาจางและจารึกที่ฮานอยในเวียดนามที่กล่าวถึงทั้งความสัมพันธ์อันดีและการสู้รบกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยอีกด้วย ในกัมพูชามีการค้นพบโบราณวัตถุแบบชวาที่หมู่บ้านร่อลวย ซึ่งเคยเป็นเมืองหริหราลัยเมืองหลวงของกัมพูชาแห่งหนึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งยืนยันว่าครั้งหนึ่งศรีวิชัยเคยมีอิทธิพลเหนือกัมพูชา การค้นพบทางโบราณคดีล่าสุดในฟิลิปปินส์ทำให้ทราบว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ทำการค้าขายกับอาณาจักรต่างๆในหมู่เกาะฟิลิปปินส์มานานแล้วก่อนที่สเปนจะเข้ามา มีอาณาจักรบูตวนซึ่งราชาบายัน ได้สลักจารึกบนผ่านทองแดงลากูน่า ในปีพ.ศ.1443 มีอาณาจักรหม่าอี้ที่มีความสัมพันธ์กับเมดัง ศรีวิชัยและทอนโด

การค้นพบจารึกที่กล่าวถึงศรีวิชัยที่วัดเทียนชิ่งในประเทศจีน ธันจาวูร์ประเทศอินเดีย หลักฐานตั้งการถิ่นฐานของพ่อค้าต่างชาติในเมืองฉวนโจว(泉州) มณฑลฝูเจี้ยน (福建)และเมืองกว่างโจว (广州) มณฑลกว่างตงหรือกวางตุ้ง (广东) ทำให้ทราบว่ามีพ่อค้าจากศรีวิชัยได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมืองดังกล่าว นอกจากนี้เอกสารจากหอจดหมายเหตุที่เมืองฉวนโจวและกว่างโจวได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคณะพ่อค้าที่มาจากศรีวิชัย สินค้าที่ทางจีนสั่งซื้อจากศรีวิชัย เป็นต้น บันทึกของพ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียบ่งบอกถึงความร่ำรวยของสมาพันธรัฐศรีวิชัย เอกสารของอาณาจักรมัชปาหิตในเกาะชวาอธิบายถึงช่วงท้ายของสมาพันธรัฐศรีวิชัยก่อนล่มสลาย การค้นพบทางโบราณคดีใต้น้ำและพฤกษศาสตร์บริเวณหมู่เกาะทางชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาและทดสอบดีเอ็นเอของชาวมาดากัสการ์ ทำให้ทราบว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ขยายเครือข่ายทางการค้าไปยังบริเวณนั้นด้วย หลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารที่ค้นพบใหม่ๆเหล่านี้ทำให้นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์มองเห็นภาพสมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ชัดเจนขึ้นจนสามารถวิเคราะห์ระบอบเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง นโยบายการค้าต่างประเทศและยุทธศาสตร์ในการขยายเครือข่ายการค้าของศรีวิชัยได้ชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป ส่วนเอกสารแปลจากเอกสารศรีวิชัยปัจจุบันมีอยู่ที่ทิเบตและจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการค้นพบร่องรอยของศรีวิชัยในอาณาบริเวณมะริด-ตะนาวศรียังไม่คืบหน้า มีแต่การค้นพบกำแพงอารยธรรมเมืองมอญแบบทวาราวดีที่ทวาย มะริด และตะนาวศรีในเมียนมาร์แต่การขุดค้นยังมีน้อยเลยพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยแผ่อิทธิพลเข้าไปในอาณาบริเวณนั้นเพื่อขยายเครือข่ายทางการค้าตามหลักฐานจากอินเดียหรือไม่ เพราะการเคลื่อนย้ายกำลังทางเรือจากช่องแคบมะละกาไปยังทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียทำได้รวดเร็วเนื่องจากอยู่ใกล้ ยังต้องทำการขุดค้นอีกมากในเมียนมาร์

รูปที่ 2 แผ่นจารึกพบแถวแม่น้ำบาตังฮารี ที่กล่าวว่า มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะอยู่ที่จัมบิ แหล่งที่มาhttps://www.facebook.com/photo/?fbid=334337795930185&set=a.159570033406963

รูปที่ 3 แผ่นจารึกซื้อสัญญาซื้อขายศรีวิชัยพบแถวแม่น้ำมุสิ แหล่งที่มา regional.kompas.com

รูปที่ 4 แม่พิมพ์เหรียญศรีวิชัย พบแถวแม่น้ำมุสิ เกาะสุมาตรา แหล่งที่มา regional.kompas.com
เอกสารอ้างอิง

ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. พ.ศ.2535. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.

Bosch, Frederik David Kan. 1961. Selected Studies in Indonesia Archeologies. Amsterdam: Springer.

Jocano, Felipe Landa. 1998. Filipino Prehistory: Rediscovering Precolonial Heritage. Quezon City: Panlad Research House.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.

Miksic, John Norman. 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Moore, Elisabeth. 2004. "Ancient Knowledege and the Use of Landscape Walled Settlement in Lower Myanmar." In Tradition of Knowledge in Southeast Asia Part 1, 1-28. Yangon: Myanmar Historical Commission, Ministry of Education.

Patanñe, E. P. 1996. The Philippines in the 6th to the 16th Century. Manila: LSA Press.

Soejono, Raden Panji. 2009. "The Genesis of Indonesian Archeology." In The Indonesia Reader: History, Culture, Politics, by Tineke Hellwig and Eric Fagliacozz, 27-33. Durham, NC: Duke University Press.

Soekmono, Drs. R. 1995. The Javanese Candi: Function and Meanings. Leiden: E. J. Brill.



กำลังโหลดความคิดเห็น