xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือวิธีการเลือกสว.แบบง่ายๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



หลายคนได้ยินว่าจะมีการเลือก สว.กัน แต่ยังไม่เข้าใจว่าเขาจะเลือกกันอย่างไร หรือบางคนเข้าใจไปว่า ก็คงเหมือนเลือกสส.มีคนสมัครและให้ประชาชนเข้าคูหาไปเลือกตั้งนั่นเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ เขาจะให้เลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัครตามกลุ่มอาชีพต่างๆ แล้วเลือกอย่างไรผมจะอธิบายให้ฟังง่ายๆ ดังนี้

โดยจะมีการจัดแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ 2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย 3. กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา 4. กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร 5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก

6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน 8. ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม 9

11. กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม 12. ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม 13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 14. กลุ่มสตรี 15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

16. กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดง บันเทิง นักกีฬา 17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ 20. กลุ่มอื่นๆ

หากใครประสงค์จะสมัครในวิชาชีพใดจะเลือกได้เพียง 1 กลุ่ม โดยมีผู้รับรอง 1 คน และเสียค่าสมัครคนละ 2,500 บาท โดยจะต้องสมัครด้วยตัวเอง ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ห้ามผู้เป็น สว.ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันลงสมัคร และห้ามผู้ที่มีตำแหน่งในพรรคการเมืองแต่เพิ่งลาออกมาไม่ถึง 5 ปี

การเลือกตั้งจะเริ่มจากระดับอำเภอมาระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยให้ผู้ลงสมัครเลือกอำเภอหรือเขตที่ต้องการลงสมัคร โดยต้องเป็นอำเภอที่เกิด หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือทำงานในอำเภอนั้นมาไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเคยทำงานหรือมีชื่อในทะเบียนบ้านอำเภอนั้นไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอนั้นไม่น้อยกว่า 2 ปี

ผมรวบรัดไปเลยนะครับว่า เมื่อมีผู้สมัครในแต่ละอำเภอครบทั้ง 20 สาขาอาชีพแล้ว ใครอยู่กลุ่มอาชีพใดให้เลือกกันเองในกลุ่มจำนวน 2 คน เลือกตัวเองด้วยก็ได้ คนที่ได้คะแนน 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบที่สองต่อไป ถ้ากลุ่มอาชีพไหนมีไม่เกิน 5 คนก็จะได้เข้ารอบสองไปเลย

จากนั้นเมื่อได้รายชื่อทั้ง 20 กลุ่มอาชีพแล้ว เอา 20 อาชีพมาจับฉลากแบ่งสายกันเป็น 4 กลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม 1 อาจจะมีอาชีพกลุ่มข้าราชการ, กลุ่มทำสวน, กลุ่มการศึกษา, กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มสตรี เป็นต้น ผู้สมัครของแต่ละกลุ่มก็เลือกคนจากกลุ่มอื่นๆ ในสายของตัวเองได้กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกตัวเองหรือคนในกลุ่มตัวเองไม่ได้ จากนั้นก็จะเอารายชื่อผู้ได้อันดับ 1 ถึง 3 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบระดับจังหวัดต่อไป ดังนั้นรอบนี้จะมีผู้เข้ารอบอย่างน้อย 60 คน

ที่บอกว่าอย่างน้อย 60 คนก็เพราะอาจจะมีบางกลุ่มมีผู้สมัครมาไม่ถึง 3 คนตั้งแต่รอบแรก เมื่อมาถึงรอบนี้ 3 คนนั้นในกลุ่มอาชีพนั้นก็จะได้เข้ารอบระดับจังหวัดไปโดยอัตโนมัติ ตรงนี้แต่ละจังหวัดจะมีการแข่งขันที่แตกต่างกันระหว่างจังหวัดเล็กกับใหญ่ เช่นจังหวัดตรังมี 10 อำเภอ ในแต่ละกลุ่มอาชีพมีผู้เข้ารอบมา 3 คน แต่ละอาชีพจะมีผู้เข้ามาแข่งขันทั้งสิ้น 30 คน จังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ แต่ละกลุ่มอาชีพจะมีผู้เข้าแข่งกัน 96 คน กรุงเทพมหานครมี 50 เขต แต่ละกลุ่มอาชีพจะมีผู้แข่งขัน 150 คน ดังนั้นการเลือกจังหวัดเล็กหรือใหญ่ก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

เมื่อมาถึงจังหวัดคนที่เข้ารอบมาเลือกกันเองในกลุ่มตัวเองได้ 2 คน สามารถเลือกตัวเองได้ด้วย จากนั้นเอาคนที่ได้ 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเข้ารอบต่อไป จากนั้นมาแบ่งเป็น 4 สายโดยการจับฉลากเหมือนระดับอำเภอ แล้วให้เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายตัวเองได้กลุ่มละ 1 คน แต่ห้ามเลือกตัวเองและคนในสายเดียวกัน จากนั้นมาดูว่าใครได้คะแนน 2 อันดับแรกในแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบระดับประเทศต่อไป

ดังนั้นคนที่ผ่านรอบระดับจังหวัดกลุ่มละ 2 คนจาก 20 กลุ่ม ประเทศไทยมี 77 จังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร แต่ละกลุ่มก็จะมีผู้แข่งขันกันในระดับประเทศกลุ่มละ 154 คน รวมทุกกลุ่มจะมี 3,080 คน

จากนั้น 154 คนในแต่ละกลุ่มเลือกกันเองในกลุ่มคนละ 10 คน คนที่ได้คะแนน 40 อันดับของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบสองต่อไป คนที่เข้ารอบสองก็จับฉลากแบ่งสายต่อไปเป็น 4 สาย แล้วให้เลือกกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 5 คน ห้ามเลือกตัวเองและคนในกลุ่มเดียวกัน จากนั้น 10 อันดับแรกในแต่ละกลุ่มจะได้เป็น สว.จำนวน 200 คน ส่วนคนที่ได้อันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มจะเป็นรายชื่อสำรอง

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า เขาเลือกกันอย่างไร หลายคนห่วงใยว่าอาจมีการฮั้วกันได้หรือมีบางกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้พวกตัวเองเข้าสมัครเยอะๆ เพื่อเลือกพวกเดียวกัน ก็อาจจะทำได้ในระดับอำเภอนะครับหรือจังหวัดเล็กๆ ที่มีผู้สมัครไม่มาก เพราะแค่มีคุณสมบัติครบมีเงินแค่ 2,500 บาทก็สมัครได้แล้ว ก็อาจจะมีคนจ้างคนมาลงสมัครเพื่อให้เลือกตัวเองก็ได้ แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายในจังหวัดใหญ่และเมื่อไปถึงระดับประเทศ

แต่ถ้าถามว่ามีการจ่ายเงินเพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพเลือกตัวเองได้หรือไม่ ผมก็หวั่นๆ ว่าทำได้ไม่ยากนะครับ และน่าจะใช้เงินไม่มากเลย อาจจะมีการติดต่อกันไว้แต่ต้นว่าถ้าเข้ารอบแล้วให้เลือกตัวเองจะจ่ายเท่านั้น อาจจะมีการวางมัดจำล่วงหน้าแล้วถ้าได้จริงจะจ่ายยอดที่เหลือ ขึ้นชื่อว่านักการเมืองแล้วสามารถพลิกแพลงไปได้ทั้งนั้น

ผมจึงอยากเชิญชวนให้ไปสมัครกันเยอะๆ นะครับ ยอมเสียเงินคนละ 2,500 บาท เพื่อได้สิทธิ์เข้าไปเลือก สว.แม้เราจะไม่มีโอกาสได้ก็ตาม เพราะดูกติกาแล้วหากเลือกกันตรงไปตรงมาคนเด่นดังคนมีชื่อเสียงจะได้เปรียบมาก แต่ถ้าเราสมัครอย่างน้อยเราก็จะได้ช่วยกันเลือกคนดี และป้องกันคนที่ระดมคนมาลงสมัครเพื่อให้เลือกพวกเดียวกันหรือถ้าเขาจะทำอย่างนั้นได้เขาต้องระดมคนมามากๆ จริง

ไปสมัคร สว.กันเถอะครับ ถ้าใครมีคุณสมบัติครบมีเงิน 2,500 บาท เพราะเท่ากับซื้อสิทธิ์ไปเลือกคนดีเข้าสภาฯ และป้องกันไม่ให้วุฒิสภาถูกครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น