xs
xsm
sm
md
lg

“แดง-ส้ม” ระดมคนชิง ส.ว. เผยเลือกตั้งระบบ ‘ผลัดกันเกาหลัง’ ใช้แค่ 1 พันล้านคุมได้ทั้งวุฒิสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาเลือกตั้ง ส.ว.ให้ผู้สมัครเลือกกันเอง เหมือน ‘ผลัดกันเกาหลัง’ เปิดช่องนักการเมืองแทรแซงได้ง่าย ด้วยการระดมคนของตัวเองลงสมัคร เพื่อบล็อกโหวตเลือกคนที่ตัวเองต้องการ โดยขณะนี้มีเพียง 2 พรรคที่มีศักยภาพทำได้คือ เพื่อไทยและก้าวไกล กกต.คาดมีคนลงสมัคร 1 แสนคน ใช้เงินเพียง 1 พันล้านบาทก็คุมทั้ง ส.ว.ได้แล้ว



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แทน ส.ว.ชุดเดิมว่า เป็นวาระทางการเมืองที่หลายฝ่ายกำลังจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นการเข้ามาทำหน้าที่แทน ส.ว.จากการสรรหาชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค.นี้

แม้ ส.ว.ชุดใหม่ จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนชุดเดิม แต่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองเช่นกัน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 คน จาก ส.ว.ทั้งหมด 200 คนในการให้ความเห็นชอบ จึงไม่แปลกที่เริ่มมีการระแคะระคายว่าฝ่ายการเมืองจากทุกสีและจากทุกด้อมจะเกณฑ์คนเข้ามาในกระบวนการเลือก ส.ว.


ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีการประเมินว่า น่าจะมีผู้สมัคร ส.ว.ในกลุ่มอาชีพที่กำหนดไว้ 20 กลุ่ม รวมกันประมาณ 1 แสนคน โดย 20 กลุ่มนั้นประกอบไปด้วย

1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เป็นต้น

3. กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

4. กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร เป็นต้น

5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก เป็นต้น

6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง เป็นต้น

7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน

8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน เป็นต้น

9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย เป็นต้น

10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9

11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม เป็นต้น

12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม

13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม

14. กลุ่มสตรี

15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา เป็นต้น

17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์

18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม เป็นต้น

19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ

20. กลุ่มอื่นๆ


ซึ่งกระบวนการคัดเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 มีระดับและขั้นตอนที่ซับซ้อนพอสมควร โดยแบ่งการเลือก ส.ว.ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1.การเลือกระดับอำเภอ ปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งหมด 928 อำเภอ ผู้สมัครรับเลือก ส.ว. สามารถเลือกสมัครได้ 1 กลุ่มอาชีพ และ 1 อำเภอเท่านั้น โดยจะมีการเลือกด้วยกัน 2 รอบ

รอบที่ 1 จะเป็นการเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน เลือกตัวเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับการเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบที่ 2 ต่อไป

การเลือกระดับอำเภอ ในรอบที่ 2 จะเป็นการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตัวเองไม่ได้ โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับการเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น หรือคิดเป็นจำนวนทั้งหมด 55,680 คน จาก 928 อำเภอ

2.การเลือก ส.ว.ระดับจังหวัด ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 77 จังหวัด(รวมกรุงเทพมหานคร) โดยมีการเลือก 2 รอบเช่นกัน ได้แก่

รอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้สมัครจะเลือกกันเองในกลุ่ม เลือกตัวเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นและเข้าไปในรอบที่ 2 เท่ากับว่าเหลือกลุ่มละ 5 คน

การเลือก ส.ว. ระดับจังหวัดใน รอบที่ 2 เป็นการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้สมัครมีสิทธิเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตัวเองไม่ได้ โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้นเท่ากับว่าจะได้ผู้สมัครเข้ารอบต่อไปจำนวน 3,080 คน

3.การเลือก ส.ว. ระดับประเทศ จะเป็นการเลือกสองรอบเช่นกัน กล่าวคือ

รอบที่ 1 เป็นการเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน เลือกได้ไม่ได้เกิน 10 คน เลือกตัวเองได้แต่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 ของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบที่ 2 ต่อไป

การเลือก ส.ว. ระดับจังหวัด รอบที่ 2 เป็นการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1- 10 เป็น ส.ว. รวมกัน 200 คน(ส่วนลำดับที่ 11-15 จำนวน 100 คน เป็น ส.ว สำรอง)

กระบวนการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ที่ซับซ้อนตามที่ปรากฏข้างต้น เจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีความต้องการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายและปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองมากที่สุด

แต่กระนั้นเอาเข้าจริงระบบที่ว่านี้ก็ยังดูเหมือนว่ามีช่องโหว่ให้เห็นพอสมควร ซึ่งเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นการเลือก ส.ว.รูปแบบ ‘ผลัดกันเกาหลัง’

หมายความว่า ถ้าพรรคการเมืองจะกินรวบวุฒิสภาก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยเพียงแค่ระดมผู้สมัครที่มีคุณสมบัติให้ได้มากที่สุดประมาณ 2 หมื่นถึง 3 หมื่นคน เข้าไปในกระบวนการเลือก ส.ว. ตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมาจนถึงระดับประเทศด้วยการผลัดกันเลือกคนของพรรคตัวเองที่อยู่ในแต่ละกลุ่ม โดยทำอย่างนี้ไปจนถึงการเลือกระดับประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ ส.ว. ที่มีเสื้อสีแดงและเสื้อสีส้ม เกินครึ่งวุฒิสภา


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้พรรคการเมืองที่พอจะมีศักยภาพที่ทำเช่นนี้ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันเกิน 50 %

ประกอบกับที่สองพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองที่มีฐานนักการเมืองท้องถิ่นหรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่แข็งแรงพอสมควร เพียงแค่นี้ก็เพียงพอต่อการบล็อกโหวตและล็อกผลให้คนของฝ่ายการเมืองแต่ละสีเข้าไปทำงานในสภาสูง โดยไม่จำเป็นต้องคุม ส.ว. ได้ 100% เพราะแค่มีคนที่ไว้ใจได้ประมาณ 60-70% หรือคิดเป็นจำนวน ส.ว. ราว 120-140 คน ก็พอกับการทำงานใหญ่ในอนาคตอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

แน่นอนว่าการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบแม้จะได้ ส.ว. จากหลากหลายอาชีพก็จริง แต่เป็นความหลากหลายที่อยู่ภายใต้สีเสื้อของฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นคำถามว่าสภาพของวุฒิสภาแบบนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

แต่ไม่ทันจะเปิดรับสมัครก็ปรากฏเรื่องแดงออกมาว่า มีกระบวนการเคลื่อนไหวในการล็อกผลการเลือก ส.ว. กันแล้ว เริ่มตั้งแต่

1.ส่งทีมงานจัดตั้งของพรรคและคณะลงสมัครเป็น Voter(โดยจ่ายเงิน ค่าสมัคร 2,500 บาท และมีเบี้ยเลี้ยงเริ่มต้น 7,500 บาท)

2.ประสานทีมงาน ส.ส. องค์กรเครือข่ายท้องถิ่น NGO ในเครือข่ายประสานงานเพื่อส่ง Voter แบบเดียวกันทุกกลุ่มอาชีพ 900 กว่าอำเภอ ทั่วประเทศ(จ่ายเงิน ค่าสมัคร 2,500 บาท และมีเบี้ยเลี้ยงเริ่มต้น 7,500) คาดว่าจะได้คนเข้าร่วมมากกว่าหมื่นคน

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยโดยอ้างการคาดการณ์ว่า น่าจะมีคนมายื่นสมัคร ส.ว. ประมาณ 1 แสนคน


ส่วน ในเรื่องกระบวนการฮั้วผลการเลือก ส.ว. นั้นแม้ว่า นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในการสัมมนา“บทบาทหน้าที่ อำนาจ และการได้มาซึ่งวุฒิสภาชุดใหม่ 2567” ที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ตอนหนึ่งว่า สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้ง หรือจัดอบรมสัมมนา เรียกเก็บเงินเพื่อทำความรู้จักกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสมัคร ส.ว. เรื่องดังกล่าว กกต. มีการเก็บข้อมูล และมีเครือข่ายพื้นที่แล้ว ดังนั้น ใครจะไปดำเนินการที่อำเภอไหน ตำบลใด สำนักงาน กกต.ในจังหวัดมีข้อมูลทั้งหมด เพื่อเตรียมนำไปประกอบการพิจารณาหากมีเหตุร้องเรียน ซึ่ง กกต. ไม่ได้นิ่งเฉย หรือละเลย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเท่าเทียมแก่ผู้สมัครทุกคน

“ท่านผู้ชม ลองคิดง่ายๆ ว่า คนสมัคร 1 แสนคน แต่ถ้ามีการเกณฑ์คนมาลงจริงโดยใช้เงินลงรายละ 10,000 บาท x 100,000 คน ก็เท่ากับหนึ่งพันล้านบาท หลักพันล้านบาท ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นไปได้ เจ้าของเว็บพนันหลายๆ เว็บก็สามารถที่จะใช้เงิน 1,000 ล้านบาทได้ เพื่อดึงเอา ส.ว.เข้ามาอยู่ในกลุ่มของตัวเอง หรือข้าราชการ ไม่ว่าะจเป็นตำรวจหรือใครก็ตามที่คดโกง ทุจริต มีเงินส่วนตัวเก็บไว้หลายพันล้าน หมื่นล้าน ก็สามารถจะเอาเงินนั้นไปสักพันล้าน 2 พันล้าน ขี้หมามาก ถ้าลงไปแล้วได้ ส.ว.ซึ่งอยู่ข้างตัวเอง มีอำนาจแต่งตั้ง ปลด แก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.ทุกคนมา นายตำรวจที่เคยร่ำรวยผิดปกติแล้วเก็บเงินซ่อนไว้ ก็สามารถที่จะใช้เงินนั้น ซื้อ ส.ว.เพื่อเลือก ป.ป.ช.ที่เป็นคนของตัวเองเข้าไปได้เช่นกัน” นายสนธิ กล่าว


บทบาทของ ส.ว.นั้นชัดเจนว่ามีอำนาจหน้าที่มากมาย ไม่เพียงแต่พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ หรือ พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง ได้แก่
-ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐ
-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
-คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คน
-ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน
-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 9 คน
-คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน
-ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 7 คน

รวมไปถึงการ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส่งต่อปัญหาประชาชนให้ดำเนินการแก้ไข อีกด้วย

นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังระบุด้วยว่า ส.ว. ยังมีบทบาทเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาต่อกระบวนการเห็นชอบพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามการสืบราชสันตติวงศ์ด้วย ตามข้อความดังนี้ “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 20 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ”


“เพราะฉะนั้นรับรองได้ว่า“สงครามเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ แค่ประดาบ เลือดก็ปุด ๆ แล้วไม่จืดแน่นอน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือจะฉิบหายไปมากกว่าเดิม นักการเมืองบางคน ถ้าตอนนั้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลง นักการเมืองบางคนก็อยากจะได้กษัตริย์เป้นของตัวเอง ตำรวจบางคนก็อยากได้ ป.ป.ช.เป้นของตัวเอง ยกตัวอย่างให้ฟัง่ายๆ ท่านผู้ชมว่าน่ากลั้วมั้ย แค่เงิน พัน 2 พันล้านเอง” นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น