ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทวีตผ่านแอปฯ X ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2567 ว่าไม่ลืมคำมั่นสัญญาจะยกระดับฐานเงินเดือน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้คนไทยดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความชุ่มฉ่ำหัวใจให้กับ “ผู้ขายแรงงาน” ถ้วนหน้า
“แรงงานไทยต้องมีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในการทำงาน เข้าถึงระบบสวัสดิการได้อย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ
“รัฐบาลพยายามที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะ ฝีมือ ของแรงงานไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วิสัยทัศน์รัฐบาลที่วางไว้ ต้องอาศัยพี่น้องแรงงานทุกท่านช่วยขับเคลื่อนครับ
“หยาดเหงื่อของพี่น้องแรงงาน เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ ผมไม่ลืมคำมั่นสัญญาที่จะยกระดับเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ ลดรายจ่าย เพิ่มเงินในกระเป๋า เพราะเข้าใจถึงความลำบากของทุกท่านที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตที่ดีขึ้นครับ”
ตามมาด้วยประกาศเจตนารมณ์ของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในปี 2567 อย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ดีเดย์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ
แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนรัฐบาล-นายจ้าง-ลูกจ้าง ดังนั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าอาชีพไหน จังหวัดใดจะปรับขึ้นบ้าง
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ไกด์ไลน์ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น ควรทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะการขึ้นราคาสินค้าก็ปรับขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นค่าแรงขั้นต่ำก็ควรปรับขึ้นในทุกจังหวัดเช่นเดียวกัน
“... เป็นการปรับภาพรวมทั้งระบบ ทุกสาขาอาชีพ ทั้ง 77 จังหวัด จะได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน ระหว่างนี้ยังเหลือเวลาอีก 5 เดือน กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะศึกษาดูว่ามีอาชีพไหน ภาคส่วนไหนที่ยังไม่พร้อม จะต้องช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทได้ ….” พิพัฒน์ กล่าวย้ำต่อผู้ใช้แรงงานในช่วงเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่ผ่านมา
ไม่เพียงแค่เป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทถ้วนหน้าทั่วไทยเท่านั้น แต่รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน จะเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี ให้ทะลุไปถึง 600 บาท ในปี 2570 ตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
เมื่อเป็นกระแสแน่นอนว่าจะอย่างไรเสียรัฐบาลก็มุ่งมั่นปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทถ้วนหน้าทั่วไทยในเดือนตุลาคม 2567 นี้ ทำให้ฝ่าย “นายจ้าง” ซึ่ง “ค้านทุกครั้ง” ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงด้วยเหตุผลต่าง ๆ นาๆ พร้อมกับสุ้มเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า “ฝ่ายการเมือง” แทรกแซงการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของกลไกคณะกรรมการไตรภาคี มาคราวนี้ก็เช่นกัน
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ให้ความเห็นผ่านสื่อว่า ความพยายามปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ แสดงให้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการเดินหน้าปรับค่าจ้าง จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าการปรับค่าจ้างปีหนึ่งอาจมีได้หลายรอบ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดต้นทุนราคาสินค้า โดยเฉพาะภาคส่งออกและนักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะลงทุนในไทย
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 400 บาท นำร่องใน 10 จังหวัด ภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นการปรับเฉพาะบางจังหวัดเท่านั้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวพื้นตัวได้เกือบ 80 % ทำรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28.042 ล้านคน คาดว่าปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 3.0 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน เกือบเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19
ทางด้าน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นดาบสองคม บางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงผลเสียมากกว่าผลดี สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ จะเกิดปัญหากับหลายจังหวัด เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม เช่น น่าน แพร่ ซึ่งแทบไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมโรงแรมที่พักมีน้อย หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่นอน
“คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ” รองประธานฯ สภาหอการค้าไทย กล่าวย้ำ และเห็นว่าควรขึ้นค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และมีแรงงานคนไทยในสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานต่างชาติ ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
จะมีก็แต่ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะวันนี้ค่าแรงของแรงงานไทยต่ำจริง ๆ แถมค่าครองชีพสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ทำให้คนเหลือเงินในกระเป๋าน้อยเพราะค่าใช้จ่ายสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นต้องดำเนินนโยบายหลายด้านไปพร้อมกันเพื่อให้คนเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น
อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ดังนั้นต้องทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงตามไปด้วย เช่น หาตลาดเพิ่ม เพิ่มวงเงินลงทุน แก้กฎหมายให้ทำมาหากินสะดวกขึ้น เข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ หากรัฐบาลแบ่งงบจากดิจิทัล วอลเล็ต หรือขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเอาเงินมาอัดฉีดให้กลุ่มเอสเอ็มอีให้กลับมาแข็งแกร่ง เติบโตแข็งแรง การจ้างงานก็จะโตขึ้น และเศรษฐกิจระดับฐานรากก็จะมั่นคง
“....การขึ้นเงินเดือนต้องทำไปพร้อมกับการเพิ่มทักษะของลูกจ้าง .... หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจไม่ดี แรงงานไม่มีฝีมือ สุดท้ายก็จะมีแต่ค่าจ้าง ไม่มีคนจ้างงาน แรงงานก็จะกลับตกงานมากขึ้น แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือแรงงานอย่างยั่งยืน” ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นผ่านสื่อ
ฟากฝั่งนักวิชาการมีความเห็นเป็นสองทาง ศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น ไม่สามารถทำได้ทุกธุรกิจและการขึ้นเพียงไม่กี่บาทไม่ได้สร้างผลดีต่อแรงงานโดยภาพรวม การปรับค่าแรงควรจะคิดสูตรคำนวณใหม่ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศ และให้เหมาะสมกับแรงงานตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ที่สำคัญควรมองสภาพคล่องของนายจ้างร่วมด้วย
ทางด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม รวมถึงไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจึงมีผลทำให้ค่าแรงปรับขึ้นช้า การที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น อยากให้มองถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนในประเทศ และการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน จะแก้ปัญหาแรงงานที่มีทักษะต่ำให้สามารถเพิ่มทักษะเพื่อให้มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้
ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท น่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว โดยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวผลักดันหลัก
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรง ควรพิจารณาความแตกต่างเรื่องพื้นที่และอุตสาหกรรม สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงให้มาก คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย เช่น ลูกจ้างรายวัน ควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการบังคับใช้เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำถือว่าเป็นสิทธิที่ลูกจ้างต้องได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทถ้วนหน้าทั่วไทย ต้องรอลุ้นกันอีกหลายยกกว่าจะถึงวันดีเดย์ 1 ตุลาคม 2567 แต่ที่ไม่ต้องลุ้นเพราะมาแน่ ๆ คือ การปรับขึ้นของราคาสินค้าที่แค่ได้กลิ่นปรับขึ้นค่าแรงก็วิ่งขึ้นไปรออยู่เบื้องหน้าแล้ว
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เผยว่า หลังจากกระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรมเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา และเตรียมขึ้นค่าแรงในทุกธุรกิจทั่วประเทศภายในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้ง จะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ
ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อ การผลิต และการลงทุนดีขึ้น เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น และเมื่อค่าแรงสูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน
ส่วนผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ค่าแรงขึ้นมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน หากผลิตภาพแรงงานไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP
ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากแบกต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เอกชน 64.7% จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป และ 17.2% คือ ลดปริมาณ และ 11.5% มีแนวโน้มที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน
ในมุมของผู้ประกอบการ กังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม นอกจากต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ภาระต้นทุนอื่น ๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ผู้ประกอบการ 72.6 % ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน
ส่วนมุมของแรงงานผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,259 ตัวอย่าง พบว่ากรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงอย่างที่คาดหวังไว้ สัดส่วน 65.3 % ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย
และหากขึ้นค่าแรงแล้วราคาสินค้าปรับขึ้น 60.8% ของแรงงานไม่สามารถรับได้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง หรือนายจ้างช่วยค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 81.3% สามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ และเป้าหมาย 600 บาท ในปี 2570 เป็นโจทย์ท้าทายทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เพราะการปรับขึ้นค่าแรงย่อมส่งผลทั้งบวกและลบ การขยับแต่ละครั้งทำอย่างไรถึงจะ WIN-WIN กันทุกฝ่าย.
____________________
หนี้อ่วม! รายได้ไม่พอจ่าย ชีวิตติดลบของแรงงานไทย
แรงงานไทยกำลังเผชิญวิกฤตการเงิน “รายได้ไม่พอรายจ่าย” ติดกับดัก “หนี้” ส่งผลให้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของแรงงาน ปี 2567 มีอัตราการขยายตัวถึง 26.4%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของแรงไทยงาน พบว่า ปี 2567 มีอัตราการขยายตัวถึง 26.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2566 ซึ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นแรงกดดันที่ทำให้แรงงานต้องการให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบรายได้ไม่พอรายจ่าย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ว่าจากผลสำรวจจากผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,259 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 25 เม.ย. 2567 แบ่งเป็นอยู่นอกระบบประกันสังคม 57.4% อยู่ในระบบประกันสังคม 42.6%
ปี 2567 แรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 344,522.22 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26.4% แยกเป็นหนี้สินในระบบ 64.8% และนอกระบบ 35.2% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต ใช้คืนเงินกู้ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ตามข้อมูลระบุว่า หนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต อันดับแรก นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงาใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ใช้หนี้เดิม ยานพาหนะโทรศัพท์ หรือแทปเล็ต ค่ารักษาพยาบาล โดยพบว่า ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และการหมุนเวียนธุรกิจ เป็นประเภทหนี้ส่วนบุคคล 3 อันดับแรก ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2566
“เป็นที่น่าสังเกตว่า หนี้นอกระบบของแรงงานมีการปรับตัวลง เนื่องจากรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่แรงงานก็ยังมีความกังวลต่อการเป็นหนี้ในระดับปานกลางถึงเล็กน้อย แม้ว่าแรงงานมีการปรับตัวระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ค่าครองชีพสูงจึงต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว
จากการสำรวจพบว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงาน 45.7% เคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ และไม่เคย 54.3% สาเหตุการผิดชำระหนี้เพราะรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 34.5% คนในครอบครัวตกงาน/เกษียณอายุ 10.5% มีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ 0.7% เมื่อเทียบระหว่างรายได้ต่อหัวกับการผ่อนชำระต่อเดือน จะพบกลุ่มที่น่าห่วง คือมีหนี้สินสูงกว่ารายได้
ทั้งนี้ ภาระหนี้ในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของแรงงงาน ทำให้มีการใช้จ่ายลดลงประมาณ 48% โดยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังมีผลอยู่ประมาณ 41.6% ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาสินค้าเพิ่ม ดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย แรงงานจะเลือกกู้ยืมเงินในระบบ 30.9% หาอาชีพเสริม 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 16.6% กู้ยืมเงินนอกระบบ 15.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 9.7%
ขณะที่ ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตในอัตราชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยอดคงค้างหนี้ยังคงสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ โดยสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุด เผยยอดคงค้างเงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนไทย ปี 2566 เติบโต 3.0% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่ต่ำที่สุดของข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ปรับปรุงนิยามใหม่ที่สามารถนับย้อนหลังได้ถึง ปี 2555 มาอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565
ทั้งนี้ ครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องประจำวัน โดยคาดว่าหนี้ครัวเรือนของไทย ปี 2567 จะยังคงเติบโตต่ำกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน
สอดคล้องกับ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ระบุว่าหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โตเร็วสุดในรอบทศวรรษ โดยประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท
สุดท้าย ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทุกอาชีพทั่วประเทศจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในทิศทางใด รวมทั้งรายได้ที่ขยับขึ้นของภาคแรงงานจะคลี่คลายสถานการณ์การเงินรายได้ไม่พอรายจ่ายสักกี่มากน้อย.